×

ตลท. จ่อออกกองทุนพยุงหุ้น ชี้ราคาหุ้นไทย 231 ตัวต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

12.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (12 มีนาคม) ปิดตลาดหุ้นไทย (SET Index) ร่วง 134.98 จุดจากช่วงการเปิดตลาดเช้าวันนี้ (ลดลง 10.8%) สู่ระดับ 1,114.91 จุด โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใช้ Circuit Breaker หรือการหยุดทำการซื้อขายอัตโนมัติเป็นการชั่วคราวเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 11 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ มา 

 

SET เผย ราคาหุ้นไทย 231 ตัวต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าวันนี้ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดปรับตัวลดลงราว 10.8% โดยมีแรงขายจากนักลงทุนสถาบัน 4,600 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 4,000 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นแรงขายจากต่างประเทศราว 1,900 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนบุคคลซื้อ 10,640 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ราคาหุ้นที่ลดลงมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง อย่างไรก็ตามมองว่าในวิกฤตนี้มีราคาหุ้นใน SET และ mai ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีอยู่ 231 ตัว แบ่งเป็นแต่ละอุตสาหกรรม เช่น เกษตรและอาหาร 19 ตัว, สินค้าอุปโภคบริโภค 10 ตัว, การเงิน 28 ตัว ฯลฯ  

 

นอกจากนี้ราคาหุ้นที่ลดลงมายังมีหุ้น 448 ตัวที่มีราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ต่ำกว่า 1 เท่า คือมีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าราคาของหุ้นของบริษัท ขณะเดียวกันมีหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูงกว่า 5% มีอยู่ 66 บริษัท 

 

อย่างไรก็ตาม ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะมีการออกกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและขอบเขตในการตั้งกองทุนฯ

 

ASPS ชี้ หุ้นไทย Circuit Breaker 4 ครั้ง ฟื้นตัวไวทุกครั้ง  

ฝ่ายวิจัย ASPS (บล.เอเซีย พลัส) ระบุว่าตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรง 125.05 จุด หรือ 10% จนเกิด Circuit Breaker เป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อตั้งมา ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์สถิติในอดีตพบว่าหลังจากเกิด Circuit Breaker ทั้ง 3 ครั้ง (ธันวาคม 2549, ต้นตุลาคม 2551, ปลายตุลาคม 2551) SET Index ฟื้นขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 10.3% (1 สัปดาห์ให้หลัง ธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้น 10.7%, ต้นตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้น 4.3%, ปลายตุลาคม 2551 เพิ่มขึ้น 15.9%) 

 

ขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยปรับฐานลดลงกว่า 29% เทียบจากต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าลดลงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (ข้อมูลจาก Bloomberg เปรียบเทียบดัชนีทั้งหมด 94 ตลาด) ซึ่งลดลงมากกว่า EPS63F ที่ฝ่ายวิจัย ASPS ปรับประมาณการลดลง 14.6% มาอยู่ที่ 79.62 บาทต่อหุ้น เพื่อสะท้อนประเด็นโควิด-19 และการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC มาอยู่ที่ 8.54 แสนล้านบาท ลดลง 8.75% จากปีก่อนหน้า 

 

ดังนั้นการปรับฐานแรงของตลาด ณ ปัจจุบันแสดงให้เห็นว่ามีแรงขายจากความกังวลผสมเข้าไปพอสมควร ทำให้เชื่อว่าหากปัจจัยกดดันต่างๆ เริ่มคลี่คลาย รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา น่าจะช่วยให้ตลาดยังมีความหวังฟื้นตัวดังสถิติในอดีตตามสมควร

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X