×

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลื้ม ‘บัญชีหุ้น’ พุ่งแตะ 4.2 ล้านบัญชี เฉพาะปีนี้เปิดใหม่ 5-6 แสนบัญชี ดันวอลุ่มเทรดรายย่อยเพิ่มเป็น 51%

06.05.2021
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์ บัญชีหุ้น

ตลาดหุ้นไทยช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซื้อขายคึกคักเพิ่มขึ้นจากในอดีตอย่างมาก สำหรับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อน โดยนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มหลักที่มีสัดส่วนซื้อขายมากสุด 51.59% ของตลาด ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเปิดบัญชีใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้มีนักลงทุนเปิดบัญชีใหม่แล้วอย่างน้อย 5-6 แสนบัญชี ทำให้จำนวนบัญชีหุ้นรวมอยู่ที่ 4.2 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วง 1-2 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 3 ล้านบัญชี

 

ส่วนแนวโน้มของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ช่วงนี้มีโอกาสผันผวนสูง ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและนโยบายของแต่ละประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการดึงสภาพคล่องกลับ 

 

อย่างไรก็ดีเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในไทยบ้าง และหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจน เชื่อว่าจะเห็น Fund Flow ไหลเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

 

ส่วนการขายหุ้นไทยของต่างชาติ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อวานนี้ (5 พฤษภาคม) ถือว่าไม่ปกติ เนื่องจากประเด็นข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจสำคัญจากต่างประเทศ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีการปรับพอร์ตครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการตอบสนองต่อข่าวที่มากเกินไป ทำให้เริ่มเห็นตลาดฟื้นตัวกลับมาได้เร็วในวันนี้ 

 

“ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คือการตอบสนองต่อข่าวที่มากเกินไป จะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ สำหรับบางคนที่ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้องและตัดสินใจเข้าซื้อเมื่อวานนี้ก็จะเป็นโอกาสด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความเสี่ยงเท่านั้น”

 

ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า แรงขายต่างชาติที่ออกมาในระดับหมื่นล้านบาท เป็นผลจากการที่สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังไม่ดีขึ้นในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา และอาจมีคำสั่งตกค้างอยู่บ้างส่วน แต่การขายออกไปในระดับหมื่นล้านบาทเพียงวันเดียว ทำให้แรงขายอาจจะหมดไปแล้วในช่วงนี้

 

ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจไม่ปรับเกณฑ์คำนวณดัชนีใหม่ ทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ซึ่งอาจจะถูกซื้อเพื่อเก็งกำไรบางส่วนถูกขายออกมาจนปรับตัวลงมากกว่าตลาด

 

“ดัชนีหุ้นที่ลดลงมาระดับ 1,550 จุด น่าจะเกิดเทคนิคคอลรีบาวด์ได้ แต่ส่วนตัวยังเชื่อว่าปีนี้จะเกิดปรากฏการณ์ Sell in May ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังมากขึ้นในช่วงนี้ และการรีบาวด์ของตลาดอาจเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นเท่านั้น” 

 

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า วานนี้ (5 พฤษภาคม) ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นเอเชีย 821 ล้านดอลลาร์ ทำให้ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ขายสุทธิทั้งหมด 1,730 ล้านดอลลาร์ โดยขายหุ้นไทยอย่างมีนัยยะที่ 336 ล้านเหรียญ หรือราว 1.05 หมื่นล้านบาท 

 

จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า หลังวันที่ต่างชาติขายสุทธิสูงสุด 10 อันดับแรก ภาวะตลาดหลักจากนั้นอีก 1 วัน 3 วัน และ 1 สัปดาห์ มักเป็นภาพ Sideway อย่างไรก็ดีปัจจัยพื้นฐานรอบนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากผลกระทบของการระบาดระลอก 3 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมจะปรับคาดการณ์ GDP ไทยปี 2564-2565 ลงในเดือนมิถุนายนนี้ เบื้องต้นจะแบ่งคาดการณ์ออกเป็น 3 ความเป็นไปได้ โดยอิงเศรษฐกิจกับการกระจายและเร่งฉีดวัคซีน ดังนี้

 

กรณีแรก หากจัดหาและฉีดวัคซีนได้เร็ว และสามารถฉีดวัคซีนได้ราว 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า คาดว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะกระทบเพียงไตรมาส 2 ปีนี้ และหลังจากนี้จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวที่ดีขึ้น กรณีนี้คาด GDP ปี 2564 และ 2565 จะโตที่ 2% และ 4.7% ตามลำดับ กรณีนี้มอง SET มีกรอบแนวรับที่ 1,480-1,520 จุด

 

กรณีที่สอง หากการจัดหาและกระจายวัคซีนได้เพียง 64.6 ล้านโดสภายในปีนี้ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 3 ปีหน้า กรณีนี้คาด GDP จะเติบโต 1.5% และ 2.8% ตามลำดับ กรณีนี้มอง SET มีกรอบแนวรับที่ 1,440-1,470 จุด 

 

กรณีที่สาม หากการจัดหาและกระจายวัคซีนได้ช้ากว่าแผนเดิม น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ ทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีหน้า จะทำให้ GDP ปีนี้โตเพียง 1% และปีหน้าโตเพียง 1.1% กรณีนี้มอง SET มีกรอบแนวรับที่ 1,380-1,420 จุด 

 

จะเห็นว่ากรอบล่างของคาดการณ์ตลาดปัจจุบันและการฟื้นตัวปีหน้าค่อนข้างต่ำ ดังนั้นคาดว่าจะเห็นตลาดเริ่มปรับประมาณการลงอีกในช่วงถัดไป โดยเฉพาะหุ้นอิงกับเศรษฐกิจในประเทศและกลุ่มท่องเที่ยว รวมถึงภาคบริการที่จะเป็นตัวถ่วงตลาด


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X