ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อสร้างโอกาสและสนับสนุนการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SMEs และ Start-up เข้าถึงแหล่งทุนในตลาดทุน หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผ่านความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป เผยปัจจุบันมี SMEs และ Start-up อย่างน้อย 3 รายจ่อยื่นไฟลิ่งและเข้าซื้อขายในปีนี้
แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์มีกลยุทธ์สำคัญในการเชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนสำหรับ SMEs และ Start-up ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการ LiVE Platform เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ความรู้ เพิ่มศักยภาพและสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ผ่านบริการต่างๆ อาทิ ห้องเรียนผู้ประกอบการ โครงการ Incubation และ Acceleration Program และได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. พัฒนาหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับ SMEs / Start-up เพื่อให้สามารถระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ออกเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ซึ่งมีความแตกต่างจาก SET และ mai ทั้งในส่วนของคุณสมบัติของผู้ออกหลักทรัพย์ และหน้าที่ภายหลังการเข้าจดทะเบียน รูปแบบและวิธีการลงทุนสำหรับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์ และฐานะการเงินในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด รวมถึงบทบาทการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้แนวคิด Light-touch Supervision
ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มอบหมายให้ ประพันธ์ เจริญประวัติ เป็นผู้จัดการ LiVEx เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งประพันธ์มีส่วนขับเคลื่อนและพัฒนา LiVEx ตั้งแต่เริ่มแรก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป
ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ LiVEx กล่าวว่า LiVEx ออกแบบขึ้นเพื่อธุรกิจ SMEs และ Start-up ที่ต้องการเติบโต แต่ยังขาดโอกาสต่อยอดธุรกิจ ได้เข้ามาสร้างการเติบโตและก้าวไปสู่เส้นทางตลาดทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และเมื่อธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตยกระดับไปจนถึงการเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai ก็พร้อมที่จะสนับสนุนผลักดันไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ LiVEx เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มโอกาสลงทุนสำหรับผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยอีกด้วย
โดยสรุปสาระสำคัญของเกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx มีดังนี้
- คุณสมบัติผู้ที่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนฯ ใน LiVEx ได้แก่
- สถานะต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะคล้ายกันกับบริษัทจดทะเบียนในตลาด SET และ mai กรรมการและผู้บริหารต้องไม่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ และผู้บริหารผ่านหลักสูตรเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดทุน
- ไม่มีการกำหนดทุนชำระแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจาก SET ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 300 ล้านบาท และ mai ที่จะต้องมีทุนชำระแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท
- ต้องเป็น SMEs ขนาดกลางขึ้นไปตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ Start-up ต้องมี VC/PE ร่วมลงทุน
- การยื่นคำขอและเสนอขายหุ้น ไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) โดยเสนอขายกับผู้ลงทุนตามประเภทที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด
- มูลค่าการระดมทุน 10-500 ล้านบาท และต้องระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าระดมทุนที่ตั้งไว้
- กำหนดระยะเวลาห้ามขายหุ้น 3 ปี จำนวน 55% สำหรับ Strategic Shareholders และทยอยขายได้ 20% เมื่อครบ 1 ปี และหลังจากนั้นทุกๆ 6 เดือน
- ประเภทผู้ลงทุนใน LiVEx มีดังนี้
- ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน กิจการเงินร่วมลงทุน
- ผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน และ Angel Investor
- บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท เช่น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทย่อยและบริษัทร่วม
- ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความรู้หรือประสบการณ์และฐานะการเงิน
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้หรือประสบการณ์ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ
- ประสบการณ์การลงทุนย้อนหลังในสินทรัพย์เสี่ยง
- ประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารการเงินและการลงทุน
- ความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างเพียงพอ
- ผู้แนะนำการลงทุน หรือวางแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. หรือได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรที่ ก.ล.ต. ยอมรับ
และต้องมีคุณสมบัติด้านฐานะทางการเงิน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) คือ
- สินทรัพย์สุทธิ ไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
- รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
- เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทในกรณีที่นับรวมเงินฝาก
ในส่วนของการซื้อขายหลักทรัพย์ใน LiVEx นั้น จะดำเนินการผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เฉพาะประเภทผู้ลงทุนที่กำหนดโดย ก.ล.ต. (บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ KYC ผู้ลงทุน) แยกระบบซื้อขายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ใน SET และ mai โดยบัญชีซื้อขายแบบ Prepaid (มีหุ้นและเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย) ไม่อนุญาตให้ขายชอร์ต
ด้านวิธีการซื้อขายแบบ Auction ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติวันละ 1 รอบ และแบบ Trade Report ตั้งแต่เวลา 09.30-11.00 น. ไม่ให้มีการซื้อขายผ่านระบบ Direct Market Access หรือ Algorithmic Trading ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แบบ Gross Settlement ภายในวันที่มีการซื้อขาย
นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนด Ceiling & Floor และ Circuit Breaker โดย ตลท. อาจสั่งหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (ขึ้นเครื่องหมาย SP) กรณีมีเหตุทำให้การซื้อขายไม่อาจทำได้โดยปกติ หรือเมื่อบริษัทจดทะเบียนร้องขอกรณีการย้ายตลาดไป SET หรือ mai
ประพันธ์กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันมี SMEs และ Start-up อยู่ 3 ราย ที่มีความพร้อมที่จะเข้ามาระดมทุนและนำหุ้นเข้าซื้อขายใน LiVEx ในปีนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านเฮลท์แคร์เทคโนโลยี ธุรกิจอาหาร และไอทีเทคโนโลยี โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าแต่ละรายจะระดมทุนราว 100 ล้านบาท และน่าจะเริ่มทยอยยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงไตรมาส 2/65 และเข้ามาซื้อขายได้ในช่วงไตรมาส 3/65
ในส่วนของความพร้อมของตลาดหลักทรัพย์นั้น ยืนยันว่ามีความพร้อมในการรองรับการซื้อขายในกระดาน LiVEx โดยเบื้องต้นน่าจะมีนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ราว 10 รายที่จะพร้อมให้บริการแก่นักลงทุนที่มีคุณสมบัติครบ และต้องการเข้ามาลงทุน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนงาน เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนบุคคลทั่วไปเข้ามาลงทุนใน LiVEx ด้วย แต่เป็นแผนในระยะยะยาว รูปแบบที่น่าจะเป็นไปได้คือการให้ บลจ. จัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนใน LiVEx
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP