บทจะดีก็ดีจนงง สำหรับ SET Index ซึ่งปัจจุบันปรับตัวขึ้นแล้วเกือบร้อยจุด
แม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น การเมืองร้อนแรงไม่มีพัก ภาษีทรัมป์ยังชุลมุน ณ ระดับ 36% ซึ่งเริ่มเห็นพัฒนาการเชิงบวกบ้างแล้ว
แต่สิ่งหนึ่งที่มีพัฒนาการชัดเจนกว่าใครเพื่อน คือ การเข้ามารับตำแหน่งของ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านใหม่ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้
พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ออกมายืนยันว่าได้มีการเสนอชื่อ คุณ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มายังที่ประชุมครม. แล้ว แต่ท้ายที่สุดกลับบรรจุเข้าวาระไม่ทัน เนื่องจาก ข้อมูลที่ส่งมานั้น… เอกสารไม่ครบถ้วน ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจคุณสมบัติให้ครบถ้วน ก่อนเสนอ ครม. อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ตลาดทุน เป็น ตลาดของ’คนโลภ’ และ’ใจร้อน’ และ ได้เทใจไปที่ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว
ผมจึงอยากชวนคุยและมาหาคำตอบกันว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำไมหุ้นขึ้นได้ขนาดนี้
ประการแรก ตลาด (รวมถึงผม) อยากเห็น ‘Jumbo Cut’ จากคุณวิทัย รัตนากร เพราะเศรษฐกิจไทย พูดตรงๆ ไม่ไหวแล้ว และต้องการการกระตุ้นทางเศรษฐกิจมากไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ท่ามกลางคำครหาว่า แม้ลดดอกเบี้ยไปแต่ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ยอมปล่อยเงินกู้อยู่ดี
ความเห็นของผมต่อประเด็นนี้ เรียบง่าย ถ้าแบงก์ไม่ปล่อย…ก็จัดไปเลย ‘Jumbo Cut’ … ให้รู้ดำ…เห็นแดง เพราะแม้ธนาคารจะยังปล่อยกู้ยากอยู่ แต่ ถ้าปล่อยออกมาจะเห็นผลแน่นอน…หากว่า ‘Jumbo Cut’ เกิดขึ้น
ปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปี ของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สะท้อนอัตราดอกเบี้ยของธปท. ได้ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 1.40% เรียบร้อยแล้ว
กล่าวคือ ณ ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ปัจจุบันตลาดทุน หรือตลาดพันธบัตรมองว่าน่าจะต้องมีการลดอีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งแล้ว
ผมซึ่งก็สวมหมวกนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ CGS International มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มจะลดลงไปอยู่ที่ 1.00% ภายในปี 2026 สอดคล้องตามๆกัน
ประการที่สอง ตลาดต้องการ ‘ข้อมูลใหม่’ นอกเหนือไปจากข้อมูล ภาษีทรัมป์ที่ไปๆมาๆ แต่ เริ่มเห็นท่าทีที่เร่งรีบมากขึ้นของไทยหลังประเทศอื่นๆได้ดีลการค้า (ตลาดเองก็ชอบข้อมูลใหม่นี้) การเมืองในประเทศ ประเด็นชายแดนไทย-กัมพูชา
ตลาดต้องการข่าวดีใหม่ๆ และ การเข้ามาของคุณวิทัย คือ ข้อมูลที่ตลาดตามหา เหมือนหนัง Superman ที่กำลังเข้าโรงภาพยนตร์ ณ ปัจจุบัน
และ ประการสุดท้าย ตลาดเข้าโหมด ‘ซื้อก่อน ถามทีหลัง’ เนื่องจากหากพิจารณาจากเหตุผลในข้อที่สอง ต้องบอกว่า ข้อมูลช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา มีแต่ข่าวทางด้าน ‘ลบ’ หาด้าน ‘บวก’ ได้น้อยมาก
กอปรกับ SET Index ที่ซื้อขายอยู่ ณ Valuation ที่ต่ำ และ อยู่ในโซนปลอดภัย หรือ ระดับ P/E (x) ที่ 12-13x (แตกต่างจาก S&P500 ที่ซื้อขายกันที่ Valuation สูง หรือ Price for Perfection หรือ เทรดกัน ณ ระดับ P/E (x) ที่ 20x กว่าๆ)
การ ‘ซื้อก่อน ถามทีหลัง’ ณ ดัชนี 1,000 ปลายๆ ถึง 1,100 ต้นๆ จากทั้งนักลงทุนรายเล็กและรายใหญ่จึงเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ก็ได้แต่รอลุ้นกันครับว่า สุดท้ายแล้ว ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท่านใหม่จะเป็นท่านใด… ‘เงินคู่คลัง’ จะเกิดขึ้นหรือไม่ เราคงได้เห็นกัน
เพราะถ้าจะให้ฝรั่งหรือนักลงทุนต่างชาติ รวมไปถึง นักลงทุนสถาบันในประเทศ ลงทุนซื้อหุ้นไทย และ ซื้ออย่างมีนัยสำคัญ มันต้องเกิดจาก เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ก็ การเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
แบบที่เรากำลังเห็นการเปลี่ยนผ่านยุคของผู้ว่าธปท. อยู่นี่ยังไงล่ะครับ
รูป: การเคลื่อนไหวของ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ของไทย และ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย มีแนวโน้มที่สอดคล้องกัน
* การแสดงความเห็นให้คำแนะนำดังกล่าว ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เป็นการกระทำในนามส่วนตัวของข้าพเจ้า เท่านั้น บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น