×

ตลท. ผนึก 3 องค์กรใหญ่ สานต่อโครงการ ‘Happy Money สุขเงิน สร้างได้’ หวังขับเคลื่อนสังคมไทยพ้นวิกฤตหนี้ครัวเรือน-สังคมสูงวัย

22.04.2021
  • LOADING...
ตลท. ผนึก 3 องค์กรใหญ่ สานต่อโครงการ ‘Happy Money สุขเงิน สร้างได้’ หวังขับเคลื่อนสังคมไทยพ้นวิกฤตหนี้ครัวเรือน-สังคมสูงวัย

จากสถานการณ์การเงินภาคประชาชนปัจจุบันที่มีหนี้ครัวเรือนระดับสูงมาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว และยิ่งสูงมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด อีกทั้งโครงสร้างประชากรของประเทศก็กำลังมุ่งเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัยในระยะเวลา 2 ปี จึงสรุปได้ว่า สถานะทางการเงินของคนไทยเปราะบาง และจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน 

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘ฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมใจสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน (Financial Literacy)’ ว่า สถานะทางการเงินของคนไทยมีความเปราะบาง และต้องติดตามอย่างต่อเนื่องใน 4 เรื่องหลัก คือ 

 

1. หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว หลังประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.6% ต่อ GDP จาก 78.9% ในปี 2562

 

2. ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 โดยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัย 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ข้อมูลทางสถิติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่า มีจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.6 ล้านคน คิดเป็น 17.6% 

 

และจากการสำรวจประชากรสูงอายุของประเทศไทยพบว่า ในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน ขณะที่ 31% ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และมีเพียง 2.3% ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยรายได้จากเงินออม ข้อมูลนี้สะท้อนว่า ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินตั้งแต่วันทำงาน เพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ   

 

3. ผลสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทยในไตรมาส 3 ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม และครัวเรือนที่มีการออมเงินมี 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% เท่านั้น ขณะที่วิธีการออมของคนไทยนั้นพบว่า 38.9% ใช้ก่อนออม 38.5% ออมไม่แน่นอน มีเพียง 22.6% เท่านั้นที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้

 

4. จากการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจใน 3 องค์ประกอบ คือ ด้านการเงิน พฤติกรรมการเงิน และทัศนคติทางการเงิน พบว่า คะแนนด้านความรู้ทางด้านการเงินของคนไทยต่ำมากกว่าด้านอื่น และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่สำรวจ

 

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลสะท้อนของปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน ที่เน้นให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ 

 

1. การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

 

2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะจำเป็นที่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ และหนึ่งในทักษะดังกล่าวคือการเพิ่มพูนความรู้การเงินและการออม

 

3. การสร้างการตระหนักรู้ของประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของจัดการความเสี่ยงในชีวิต จากการวางแผนที่ดีและมีข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ 

 

4. การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออม 

 

5. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ทางการเงิน 

 

ดังนั้นโครงการ ‘Happy Money สุขเงิน สร้างได้’ จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสม เพราะการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้คนไทยสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนได้ต่อไป

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลท. ได้ดำเนินโครงการ ‘Happy Money สุขเงิน สร้างได้’ ตั้งแต่ปี 2552 โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 523 แห่ง สร้างพี่เลี้ยงการเงิน 6,003 คน สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านการออม การวางแผนการเงิน ให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง ครอบคลุมพนักงานในองค์กรต่างๆ แล้ว 2.4 ล้านคน และคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะส่งเสริมความรู้ประชาชนรวมกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ 

 

ล่าสุด ตลท. ได้ลงนามต่ออายุ MOU ส่งเสริมความรู้ทางการเงินร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ต่อเนื่อง เพื่อผนึกกำลังขยายการทำงานให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

 

“โครงการ Happy Money สุขเงิน สร้างได้ ที่ดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้ จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ สนับสนุนองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ให้ส่งต่อความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ตลท. ได้พัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการให้ความรู้ผ่านโมเดลพี่เลี้ยงการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้สามารถบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม โดย ตลท. จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตร เพื่อนำความรู้ไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และประชาชนทั่วไป” ภากรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising