×

SET ดิ่งแรง 18 จุด หลังตั้งรัฐบาล ‘เพื่อไทย’ ไม่แน่นอน สว. ขู่ไม่โหวตให้ ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ ฟากหุ้นยุโรปร่วงเกือบ 1%

15.08.2023
  • LOADING...
set ดิ่ง ตั้งรัฐบาล

SET Index ในช่วงของการซื้อ-ขาย ภาคบ่ายวันนี้ (15 สิงหาคม) ร่วงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,517.42 จุด ลดลงราว 18 จุด ติดลบไป 1.16% จากวันทำการก่อนหน้า (11 สิงหาคม) โดยภาพรวมการซื้อ-ขายวันนี้ SET Index เคลื่อนอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีปัจจัยกดดันทั้งปัจจัยในประเทศคือการเมืองที่ไม่แน่นอน และข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่รายงานออกมาต่ำกว่าที่คาด

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า รัฐบาลเพื่อไทยยังอยู่ในความไม่แน่นอน หลังจากพรรค 2 ลุงคือ พรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐ ประกาศที่จะโหวตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยโดยไม่จำเป็นต้องร่วมรัฐบาล แต่มีความเชื่อว่าจะมาร่วมภายหลัง กลายเป็นรัฐบาล 315 เสียง 

 

อย่างไรก็ตาม มีเสียง สว.บางคนเริ่มส่งสัญญาณไม่โหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน จากคุณสมบัติกรณีข่าวเรื่องเลี่ยงภาษีของเศรษฐา ยังคงต้องจับตาต่อไป

 

ขณะที่ข้อมูลตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ เร่งตัวมากกว่าตลาดคาด โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.2% สูงกว่าตลาดคาดที่ 3% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 4.7% ดีกว่าตลาดที่คาดไว้ 4.8% แต่โดยรวมยังสูงกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 2% ทำให้เชื่อว่าจะยังคงมาตรการดอกเบี้ยสูงไปจนอย่างน้อยสิ้นปีนี้

 

ขณะที่ บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นยุโรปวันนี้ปรับตัวลงเฉลี่ยประมาณ 0.6% จากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่ตลาดหุ้นอังกฤษปรับตัวลง 1% แย่กว่าภูมิภาค จากความกังวลด้านเงินเฟ้อ หลังจากรายงานยอดค่าจ้างเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งไม่รวมโบนัส เพิ่มขึ้นถึง 7.8% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เก็บข้อมูลมา 

 

ส่วน กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจัยในประเทศยังติดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านการเมือง และความคาดหวังต่อการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงปลายปี 2566 หากคำวินิจฉัยเปิดทางให้การรับรองนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นได้เร็วจะเป็นปัจจัยบวกกับตลาด 

 

อย่างไรก็ตามหากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณานาน ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลจะทำให้งบประมาณมีความล่าช้า เป็นปัจจัยลบกับหุ้นที่พึ่งพิงการใช้งบประมาณภาครัฐ และการบริโภคในประเทศ

 

ขณะที่นักลงทุนยังติดตามปัจจัยภายนอกในประเด็นการรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบการประชุมเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะออกรายงานในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ โดยคาดว่าจะเห็นการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อทิศทางเงินทุนระยะสั้นได้ 

 

อีกทั้งยังจับตามุมมองตลาดต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) หลังญี่ปุ่นรายงาน GDP ไตรมาส 2/66 ออกมาดีกว่าตลาดคาดมาก โดยเติบโต 1.5% จากไตรมาสก่อน และเติบโต 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคาดการณ์จะเติบโต 1.5% จากไตรมาสก่อน และจากคาดการณ์จะเติบโต 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้องระวังการปรับนโยบายการเงินที่อาจกระทบต่อธุรกรรม Yen Carry Trade หรือการกู้ยืมเงินเยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้มีการเทขายสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อไปคืนเงินกู้สกุลเยนได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X