ตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุนคลังแก้กฎหมาย เปิดทางนักลงทุนในตลาดหุ้นข้ามไปลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล-คริปโตได้ ลุ้นเห็นความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้
จากกรณีที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดในการแก้กฎหมายเชื่อมการซื้อขายระหว่างตลาดหุ้นกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ข้ามไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเชื่อมกันได้ (Cross) เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนหุ้น สามารถข้ามไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วยนั้น
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และประธานกรรมการ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าว แต่มีมุมมองว่าแนวคิดเชื่อมการซื้อขายระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้ด้วย นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหลักการควรสามารถทำการซื้อหลักทรัพย์ได้ครบทุกประเภท ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุน
โดยคาดว่าการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้มีโอกาสเห็นความชัดเจนได้ภายในสิ้นปีนี้
“คิดว่าอะไรที่เป็นหลักทรัพย์ที่นักลงทุนซื้อขายลงทุนได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ควรซื้อขายได้ทั้งหมดทั้งบิตคอยน์ หรือคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย รวมทั้งการเทรด G-Token ที่รัฐบาลกำลังจะออกด้วยซึ่งขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลด้วย เพราะตอนนี้มีระบบดิจิทัลที่พร้อมรองรับเอื้อให้ทำได้แล้ว“ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์กล่าว
ศึกษาตั้งกระดานเทรดใหม่คาดชัดเจนภายใน 3-4 เดือน
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวถึงความคืบหน้าแนวคิดที่รัฐบาลต้องการดึงกลุ่มนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นนั้น เบื้องต้นควรดำเนินการใน 2 แนวทาง
1. การเผยแพร่ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีทั้งขนาดเล็ก, กลาง และใหญ่ให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลซึ่งจะช่วยให้ภาพการลงทุนปรับดีขึ้น
2. การสร้าง New Engine หรือ การสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในกลุ่มเทคโนโลยี, เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech), เฮลท์แคร์ สนับสนุนสตาร์ทอัพอีกทั้งดึงดูดกลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจให้กลุ่มธุรกิจเป้าหมายดังกล่าวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มากขึ้น เพื่อความน่าสนใจและดึงดูดนักลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี อาจมีประเด็นในด้านกฎหมายที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจในการควบคุมจัดการ ซึ่งอาจต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในเรื่อง Dual Transactions ซึ่งต้องไปทำความเข้าใจกับรัฐบาลด้วย
อีกทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาแยกตั้งกระดานซื้อขายหุ้นใหม่ขึ้นมา คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยปัจจุบัน ตลท. อยู่ระหว่างการศึกษาตัวอย่างรูปแบบจากต่างประเทศ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ของจีน, มุมไบ, นิวยอร์ก และประเทศอื่นๆ
ซึ่งจะนำธุรกิจ New Economy สตาร์ทอัพมาสร้างเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ แห่งใหม่แยกออกมา โดยพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ เช่น ยกเกณฑ์ที่กำหนดให้ธุรกิจที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี, การนำเข้ามาจดทะเบียนใน LiVE PLATFORM หรือเปิดตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในหลายหมายมิติที่เกี่ยวข้องโดยมีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากได้ข้อสรุปว่าจะทำอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ในการดำเนินการ
เล็ง Matching Fund ลุยลงทุน ธุรกิจ New Economy
อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ให้เข้ามามีส่วนช่วยในด้านการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Matching Fund) เพื่อมาลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจ New Economy ดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนทั่วไปที่อาจไม่รู้จักธุรกิจประเภทใหม่หรือสตาร์ทอัพกลุ่มนี้
นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) เพื่อวางรากฐานเชิงโครงสร้างด้านการออมที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว สะท้อนความมุ่งมั่นของ CMDF ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยคณะกรรมการ CMDF เชื่อว่าการสนับสนุนทุนของ CMDF จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนไทยในหลากหลายมิติ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง
กองทุน CMDF ใส่เงินกว่า 2.9 พันล้านบาท พัฒนา 153 โครงการ
ด้าน จักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการ CMDF กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2563-2567 CMDF ได้อนุมัติโครงการรวม 153 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2,928 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ 83 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศของตลาดทุนในด้านต่างๆ และสอดคล้องกับพันธกิจของ CMDF นอกจากการศึกษาแนวทางการจัดทำนโยบายบัญชีการออมส่วนบุคคล (TISA) แล้ว ในปี 2567 สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน (CMRI) ภายใต้ CMDF ยังได้สนับสนุนงานวิจัยอื่นที่หลากหลาย อาทิ แนวทางการบริหารเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณอายุ การศึกษาเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกงในตลาดทุนและแนวทางการปกป้องนักลงทุน แนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย เป็นต้น
ในด้านการพัฒนานักวิจัย มีโครงการสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สนใจทำงานด้านตลาดทุนเพิ่มขึ้น (Researcher Pool) โดย CMDF ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบ Matching Fund ให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ด้านตลาดทุนที่เป็นบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัดของกระทรวง อว.
สำหรับผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา CMDF ได้ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรกว่า 3,500 องค์กร พัฒนาบุคลากรในตลาดทุนรวมกว่า 15,000 คน ส่งเสริมการศึกษาสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมทั้งที่เป็น Global และ Local Certificate รวมกว่า 940 ราย เผยแพร่และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ มียอดเข้าถึงกว่า 80 ล้านครั้ง รวมถึงการเผยแพร่งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ CMRI รวมกว่า 50 บทความ ยอดเข้าชมมากกว่า 17,300 ครั้ง เผยแพร่งานวิจัยผ่านหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 600 เล่ม ให้แก่ 30 หน่วยงาน