×

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งรวมธุรกิจธีม ‘New Economy’ ผูกเป็นกลุ่มดัชนี หวังเพิ่มความน่าสนใจให้หุ้นไทย

09.11.2020
  • LOADING...
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งรวมธุรกิจธีม ‘New Economy’ ผูกเป็นกลุ่มดัชนี หวังเพิ่มความน่าสนใจให้หุ้นไทย

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้และปีหน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีจุดขายโดดเด่น เพื่อสร้างจุดสนใจให้นักลงทุนได้เห็นความโดดเด่นของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เข้าธีม New Economy และธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีมากในยุค New Normal โดยอาจจะออกแบบมาเป็นกองทุนรวมดัชนี หรือ ETF กลุ่มธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการระดมความคิดและต้องเสนอต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในลำดับถัดไป

 

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจะเน้นการออกผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เช่น การออกตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt: DR)  

 

“ที่จะเสนอต่อ ก.ล.ต. ก็คือเรื่องเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมที่เราอยากผลักดันให้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเข้ามาจดทะเบียน และเมื่อเข้าจดทะเบียนแล้วเราก็กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถจัดกลุ่มตามความแตกต่างกันได้ เช่น การแบ่งเป็นกลุ่มดัชนีเพื่อสร้างจุดขายให้กับบริษัทจดทะเบียน และให้นักลงทุนได้เห็นความชัดเจนในหุ้นหรือ Index ที่สนใจเข้ามาลงทุนจริงๆ” 

 

ภากรกล่าวว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยหลายบริษัทก็เป็นธีม New Economy และหลายบริษัทที่เป็น Old Economy ก็มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ต่อยอดธุรกิจขึ้นมาสู่ New Economy ได้เช่นเดียวกัน ทั้งผ่านการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจต่อ หรือการควบรวมกิจการปรับองค์กร 

 

สำหรับภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนตุลาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ และเกรงจะเกิดการล็อกดาวน์รอบสองในสหภาพยุโรป แต่ SET Index ปรับตัวทิศทางตรงข้ามกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

 

ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,194.95 จุด ลดลง 3.4% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 24.4% จากสิ้นปีก่อน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ MSCI ASEAN 

 

อย่างไรก็ดี SET Index ที่ปรับลดลงทำให้อัตราส่วน P/E Ratio ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปีพบว่าหลายอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

 

ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 53,269 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 63,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ mai Index ทำสถิติสูงสุดในปี 2563 ที่ 327.12 จุด (7 ตุลาคม) ก่อนปิดที่ 309.56 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม

 

ในเดือนนี้ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยผู้ลงทุนต่างชาติยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.98 แสนล้านบาท ในขณะที่ผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ

 

“เรื่องเงินลงทุนต่างชาติ แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันจะมีการขายสุทธิราว 3 แสนล้านบาท แต่หากมองตัวเลขรายไตรมาสและรายวันจะพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิลดลงเรื่อยๆ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี” 

 

ศรพลกล่าวว่าตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงวันที่ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 5% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามต่อว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 จะสามารถผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเชิงบวก เช่น การสนับสนุนพลังงานสะอาด การฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าต่างๆ หรือนโนบายที่สร้างผลกระทบอย่างการปรับขึ้นภาษีธุรกิจ และภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งตามคาดการณ์ไบเดนน่าจะเริ่มผลักดันนโยบายในช่วงต้นปีหน้า หลังจากจบกระบวนการรับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย 

 

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ Globalization ที่จะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยมีรายได้หลักจากการส่งออกและการท่องเที่ยว หากการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าดีขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลบวกเช่นเดียวกัน ส่วนปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็น่าจะกดดันเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจด้านสุขภาพให้สามารถสร้างการเติบโตได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X