×

Hospital Playlist 2 EP.8 ซีรีส์ที่ทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น และเป็นหมอที่ดีขึ้นด้วย

16.08.2021
  • LOADING...
ซีรีส์

HIGHLIGHTS

  • สำหรับผู้สูงวัยที่แต่ละวันที่ได้ตื่นขึ้นมาคือของขวัญ ภายหลังรักษาจนอาการดีขึ้น คุณแม่โรซ่าก็ตัดสินใจกลับไปเริ่มทำสิ่งที่รักอีกครั้ง 
  • “ชีวิตมันช่างว่างเปล่าจริงๆ เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ผมไม่เคยรู้เลยครับ” คือประโยคที่ลูกชายคนไข้พูดเอาไว้ พร้อมร้องไห้โฮออกมา
  • Hospital Playlist2 EP.8 รวมหลายเรื่องราวของคนไข้ในโรงพยาบาลยุลเจ ที่ทำให้เห็นว่าเราเป็นหมอที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เราเป็นคนไข้ที่เข้มแข็ง และเป็นลูกหลานคนไข้ที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร

“อย่าพ่ายแพ้ให้กับโรคภัยและเอาชีวิตรอดให้ได้ถึงที่สุดนะครับ” 

 

คือคำพูดในซีรีส์ Hospital Playlist 2 ที่ออกอากาศในระหว่างสถานการณ์โควิดยังคงวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ และในห้วงเวลาที่ยากลำบาก นอกจากตัวซีรีส์จะช่วยเยียวยาจิตใจ และสร้างความหวังขึ้นแล้ว ยังเป็นซีรีส์ที่ทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น เป็นคนไข้ที่ดีขึ้น และเป็นคุณหมอที่ดีขึ้นด้วย

 

โดยเฉพาะใน Hospital Playlist 2 EP.8 ที่รวมหลายเรื่องราวของคนไข้ในโรงพยาบาลยุลเจ ที่นอกจากได้ดูซีรีส์น้ำดีแล้ว คนดูยังรับรู้ได้ถึงเมสเสจที่ผู้สร้างต้องการถ่ายทอด คือการทำให้เห็นว่าเราจะเป็นหมอที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เราจะเป็นคนไข้ที่เข้มแข็ง และเป็นลูกหลานคนไข้ที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เช่นในหลายฉากที่เหล่าคุณหมอ The 99ers คอยอธิบายโรคที่คนไข้กำลังเจอด้วยความใส่ใจ ทำให้เข้าใจง่าย และเห็นภาพว่าการรักษาอย่างละเอียดจะเป็นอย่างไร รวมถึงบอกข้อดีข้อเสียเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ ในกรณีที่คนไข้ผู้สูงวัยจะต้องเข้ารับการผ่าตัด

 

 

คุณหมอจองวอน ที่ให้คำแนะนำคุณแม่ที่ลูกจะต้องเข้าผ่าตัด เธอลิสต์คำถามมาหลายข้อ เพราะไม่มีความรู้ทางด้านนี้ ซึ่งหมอจองวอนขอกระดาษคำถามนั้นไป แล้วค่อยๆ ตอบทีละข้ออย่างใจเย็น เป็นการทำให้คุณแม่ที่ลูกจะต้องเข้าผ่าตัดตั้งแต่เด็กคลายความกังวลลงได้ และมันจะดีแค่ไหนถ้าในชีวิตจริง เราจะได้เจอคุณหมอที่ค่อยๆ อธิบายจนกระทั่งเราเข้าใจ และหมดซึ่งคำถามที่สงสัย

 

หมอซงฮวา ที่มีคนไข้วัย 78 ปี มีแนวโน้มจะเป็นเนื้องอกในสมองระยะแพร่กระจาย ซึ่งหมอซงฮวาก็ช่วยอธิบายอย่างละเอียดจนคนไข้และญาติมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจว่าจะผ่าตัดหรือไม่ เพราะในวัย 78 ปี และโรคภัยที่กำลังเผชิญหน้าก็เป็นสิ่งที่ตัวคนไข้เองต้องตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง

 

และต่อไปนี้คือเคสการรักษาที่เกิดขึ้นใน Hospital Playlist 2 EP.8 ที่ทำให้เราเสียน้ำตา และได้เรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นคนที่ดีขึ้นในรูปแบบของตัวเอง

 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ Hospital Playlist 2 EP.8

 

 

คุณแม่โรซ่า กับความทรงจำที่เลือนหาย 

เราอยากเป็นลูกที่ดีขึ้น เมื่อได้ดูเรื่องราวของคุณแม่โรซ่าที่มีอาการเจ็บป่วย ในแบบที่แม้ลูกชายแท้ๆ จะเป็นหมอ แต่ก็ยังไม่ทันสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่ ทั้งการเดินที่ผิดปกติ และอาการหลงๆ ลืมๆ กระทั่งวันแต่งงานของหลานสาวที่รักที่สุด

 

จนเช้าวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ คุณแม่โรซ่าล้มหัวกระแทกที่บ้าน คุณลุงจงซูเลยพาไปตรวจเช็กอาการที่โรงพยาบาล คุณหมอซงฮวาเข้ามาตรวจและสงสัยว่าเป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ ต้องรักษาด้วยการระบายน้ำไขสันหลังออก ถ้าหลังจากนั้นเดินดีขึ้น สมองปลอดโปร่งกว่าเดิม ก็จะยืนยันได้ว่าเป็นเพราะโพรงสมองคั่งน้ำจริงๆ จากนั้นจะทำการผ่าตัดรักษาตามขั้นตอนต่อไป

 

โรซ่า: ไม่ใช่โรคสมองเสื่อมหรอกเหรอ

ซงฮวา: โชคดีที่ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสมองคั่งน้ำ สามารถรักษาได้ แน่นอนค่ะว่าต้องผ่าตัดถึงจะรู้ และผู้ป่วยแต่ละรายก็จะต่างกันออกไป แต่ว่าตอนนี้เพิ่งจะเริ่มมีอาการได้ไม่นาน อายุของคุณแม่ค่อนข้างน้อยด้วย แค่รับการรักษาอย่างดีก็จะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิมได้ค่ะ

โรซ่า: ซงฮวา ฉันรับได้หมดเลย จัดมาให้หมดนะ ไม่ว่าจะผ่าตัดหรือรักษา ฉันก็ทนได้ทุกอย่าง 

 

ซึ่งแม้ว่าจะได้รับวินิจฉัยว่าเป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ แต่คุณแม่โรซ่ากลับดีใจจนเก็บอาการเอาไว้ไม่อยู่ เพราะเธอเข้าใจว่าตัวเองเป็นโรคสมองเสื่อม และต้องบอกลาความทรงจำทั้งหมดทั้งมวลของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งของล้ำค่าที่สุดในชีวิตของเธอ

 

สำหรับผู้สูงวัยที่แต่ละวันที่ได้ตื่นขึ้นมาคือของขวัญ ภายหลังรักษาจนอาการดีขึ้น คุณแม่โรซ่าก็ตัดสินใจกลับไปเริ่มทำสิ่งที่รักอีกครั้ง โดยไม่สนใจแล้วว่าใครจะมองอย่างไร เราจึงได้เห็นคุณแม่โรซ่าเล่นคีย์บอร์ดเป็นนักดนตรีรับเชิญให้กับวง Mido and Falasol ในตอนท้ายของอีพี เธอทำตามสิ่งที่หัวใจต้องการอย่างที่จองวอนบอกเอาไว้ว่า “แม่ครับ ใช้ชีวิตในแต่ละวันให้เต็มที่นะ ผมอยากให้แม่ใช้ชีวิตแบบนั้น”

 

สำหรับลูกๆ แล้วความสุขของพ่อแม่ คือสิ่งที่เรามุ่งหวังจะทำให้เกิด และเช่นเดียวกันสำหรับพ่อแม่ การได้เห็นลูกๆ เติบโตอย่างดี ก็นับเป็นหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา จนบางทีก็ลืมไปว่าควรให้ความสำคัญกับชีวิตตัวเองด้วยเช่นกัน

 

 

ในสถานการณ์คับขัน เพียงชีวิตรอดก็พอแล้ว

ในห้องตรวจคนไข้นอก หมอซอกฮยองรับโทรศัพท์จากหมอมินฮา เกี่ยวกับเคสเร่งด่วนที่จำเป็นต้องผ่าตัด คนไข้ครรภ์แรก อายุ 28 ปี คลอดกะทันหันที่คลินิกเอกชน เธอมีแผลฉีกขาดที่มดลูกส่วนล่าง และมีเส้นเลือดแตก เพราะเด็กตัวใหญ่ทำให้เลือดออกเยอะมาก แต่โชคดีที่คลินิกรับมือได้ดีและส่งตัวมาโรงพยาบาลยุลเจทันเวลา

 

ระหว่างผ่าตัดคนไข้มีการเสียเลือด จึงทำให้หมอซอกฮยองตัดสินใจลองเย็บมดลูกอีกครั้ง ถ้าหากไม่สำเร็จก็จำเป็นที่ต้องพิจารณาตัดมดลูกทิ้ง และคำว่าคนไข้ครรภ์แรกก็ทำให้ทีมแพทย์พยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาอวัยวะของคนไข้เอาไว้ ซึ่งโชคดีที่การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี และไม่จำเป็นต้องตัดเอามดลูกออกอย่างที่กังวล

 

ออกจากห้องผ่าตัด หมอมินฮาคุยกับหมอซอกฮยองระหว่างทางที่จะเดินไปแจ้งผลการผ่าตัดกับสามีคนไข้ 

 

มินฮา: โล่งอกไปทีนะคะ ถ้าเกิดเราผ่ามดลูกออกไป จะสู้หน้าสามีคนไข้ได้อย่างไรคะ ต่อให้อธิบายว่าเป็นสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ เขาก็คงไม่เข้าใจและโวยวายอยู่ดี โล่งอกมากจริงๆ ค่ะ

 

ซอกฮยอง: คงไม่หรอกมั้ง สามีจะต้องเข้าใจและบอกว่าไม่เป็นไรแน่นอน คนไข้คือภรรยาและครอบครัวของเขานะ คนเป็นสามีจะต้องนึกถึงสถานการณ์นี้มากกว่าเราแน่ คุณสามีก็น่าจะรู้อยู่แล้วไหมว่าการรักษามดลูกไว้ได้หรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญก็คือ รักษาชีวิตของคุณแม่ไว้ได้หรือเปล่า

 

หน้าห้องผ่าตัด สามีและแม่ของคนไข้ยืนรออยู่ เมื่อได้ฟังผลก็ถึงกับโฮออกมาด้วยความดีใจ และแม้หมอซอกฮยองอธิบายถึงการผ่าตัดที่มีอุปสรรคจนเกือบจะต้องตัดมดลูก สามีคนไข้ก็บอกว่า “คนที่คาบเกี่ยวความเป็นความตาย ชีวิตต่างหากที่สำคัญ ผมไม่ได้นึกถึงมดลูกเลยครับ ขอแค่ภรรยามีร่างกายแข็งแรง แค่นั้นผมก็พอใจและขอบคุณสวรรค์แล้วครับ”

 

เคสการผ่าตัดครั้งนี้เป็นบทเรียนให้กับหมอมินฮาในการเข้าใจผู้อื่น เพราะตัวเธอยังเป็นแพทย์หน้าใหม่ที่ต้องเรียนรู้ และผ่านประสบการณ์อีกมากมาย อย่างที่หมอซอกฮยองบอกเอาไว้ ทุกความผิดพลาดเป็นบทเรียนให้ได้รู้

 

“อายุปูนนี้แล้วจะผ่าตัดอะไรกัน” คุณแม่อายุ 78 ปีกับการตัดสินใจผ่าตัดเนื้องอกในสมอง

เคยมีไหม วันที่เราต้องเลือกตัดสินใจอะไรที่สำคัญมากๆ ที่เราไม่รู้ว่าจะเลือกทำหรือไม่ทำดี ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราควรจะเลือกการตัดสินใจที่จะไม่มีวันกลับมาเสียใจทีหลัง

 

คุณแม่ของลูกชายลูกสาวคู่หนึ่งมาหาคุณหมอซงฮวา หลังจากที่เคยรักษามะเร็งเต้านมเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งให้คีโมและฉายแสง ซึ่งในตอนนี้เธอมีเนื้องอกในสมองระยะแพร่กระจาย ทั้งยังอยู่ในตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยง ถ้าตัดสินใจผ่าตัดก็ไม่ใช่การผ่าตัดที่ง่ายๆ แต่กระนั้นหมอซงฮวายังคงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดและฉายแสง

 

“อายุปูนนี้แล้วจะผ่าตัดอะไรกัน คุณหมอคะ ฉันไม่อยากผ่าตัดค่ะ จะผ่าตัดไปเพื่ออะไรกัน ฉันจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกสักเท่าไรเชียว แม่เป็นแบบนี้ก็ไม่เป็นไรหรอก เราไปกันเถอะ”

 

ในตอนแรกคุณแม่ยืนกรานจะไม่ผ่าตัด ลูกสาวก็อยากให้ผ่าตัด แต่ลูกชายลังเลอย่างเห็นได้ชัด คงจะด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง ทั้งอายุที่เยอะแล้วของแม่ อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด และเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ 

 

จนผ่านไปไม่กี่วัน คุณหมอซงฮวาบังเอิญเจอลูกชายที่โถงจัดพิธีศพในโรงพยาบาล เขามาร่วมงานศพเพื่อนรักอายุแค่ 50 ปีที่หัวใจวายกะทันหัน เรื่องนี้กลายเป็นจุดพลิกที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจขอให้แม่ได้ผ่าตัด เพื่อที่ว่าวันต่อไปข้างหน้าจะไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง

 

“ชีวิตมันช่างว่างเปล่าจริงๆ เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ผมไม่เคยรู้เลยครับ” คือประโยคที่ลูกชายคนไข้พูดกับหมอซงฮวา พร้อมร้องไห้โฮออกมา และในท้ายที่สุด เมื่อเขาได้รู้แล้วว่าเวลาที่ได้อยู่กับคนที่รักในช่วงบั้นปลายของชีวิตคือสิ่งล้ำค่าที่สุด เขาและครอบครัวจึงให้คุณแม่วัย 78 ปีเข้าผ่าตัดสมอง เพราะเวลาที่เหลือในชีวิตทุกคนมีค่า ถ้าเป็นไปได้เขาควรทำทุกวิถีทางเพื่อยืดระยะนั้นไว้ให้ยาวที่สุด

 

 

“ผมขอมีชีวิตแบบคนปกติสักวันเดียวก็ยังดี” คนไข้สูงวัยที่ไม่เคยรู้ตัวว่ามีอาการหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

อย่าเอาตัวเองไปคิดแทนใคร คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเคสคนไข้คนนี้ คุณพ่อวัย 77 ปีมาโรงพยาบาลพร้อมกับครอบครัว พบคุณหมอจุนวาน เพื่อรักษาอาการลิ้นหัวใจรั่ว ที่ผ่านเขามามีอาการพูดเหมือนหายใจไม่ทันมาตลอด ซึ่งคนใกล้ชิดคิดว่าเป็นแค่ลักษณะการพูด ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเพราะคนไข้มีรูอยู่ที่หัวใจ

 

“ผมก็คิดอยู่ว่าเวลาพูดจะเหนื่อยนิดหน่อยตลอด แต่ผมก็อยู่แบบนี้มาตั้งแต่ยังหนุ่มแล้ว ก็เลยไม่คิดว่ามันลำบากอะไรมากนัก แต่ว่าพักนี้จู่ๆ อาการก็แย่ลง”

 

คุณพ่อคนนี้ป่วยเป็นโรค ASD (Atrial Septal Defect) โรคผนังกั้นหัวใจห้องบนรั่วแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังพบว่าลิ้นหัวใจไตรคัสปิดไม่สมบูรณ์ และการทำงานของปอดบกพร่องระดับกลางอีกด้วย ซึ่ง ASD เป็นโรคที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อไม่เคยรู้ตัวมาก่อน จนกระทั่งลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว อาการจึงเริ่มแย่ลงไปพร้อมๆ กัน

 

คุณหมอจุนวานบอกว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยที่อายุมาก แม้จะรับการผ่าตัด แต่อาการก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในบางรายก็อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ซึ่งการตัดสินใจผ่าตัดหรือไม่ขึ้นอยู่กับทางคนไข้ เพราะไม่สามารถรับรองผลได้

 

ลูกสาว: สรุปคือจะตัดสินใจสุ่มสี่สุ่มห้าให้ท่านรับการผ่าตัดตอนอายุปาเข้าไป 77 ปี ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าจะดีขึ้นไหม หรือเลือกให้ท่านใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป แม้จะลำบากนิดหน่อยแต่ปลอดภัยกว่า แบบนั้นสินะคะ คุณหมอคะ 

 

พ่อ: แต่ผมอยากผ่าตัดครับ ผ่าตัดให้ผมเถอะนะครับ ต่อให้ตายวันพรุ่งนี้ ผมก็อยากผ่าตัดก่อนตายครับ ต่อให้อยู่ได้อีกวันเดียว ผมก็อยากใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปก่อนตาย

 

ความปรารถนาของคนคนหนึ่งที่หายใจอย่างเหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิต เมื่อพบว่าเป็นเพราะโรคติดตัวมาแต่เด็กของตัวเอง การได้สัมผัสความปกติของชีวิตสักครั้งในชีวิตจึงเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เพราะในช่วงเวลา 77 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อไม่มีอะไรที่จะต้องวิ่งตาม จะต้องพิสูจน์อีกแล้ว

 

การตัดสินใจผ่าตัดของคุณพ่อ ยังคงช่วยสร้างกำลังใจให้คนไข้ที่พักคอยอยู่ในห้องเดียวกัน เพราะวันที่คนไข้คนหนึ่งเตรียมตัวกลับบ้าน ก็ได้เดินเข้าไปหาคุณพ่อที่เตียงคนไข้ พร้อมให้กำลังใจที่ท่านผ่านการผ่าตัดมาได้อย่างเข้มแข็ง 

 

อ่านต่อ:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising