×

เสรีพิศุทธ์กางที่มา ส.ว. ซัดเป็นระบบต่างตอบแทน แนะ 4 ขั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญ

23.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (23 กันยายน) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายโดยกล่าวว่าเบื้องต้นประเด็นของตนเองอาจแตกต่างกับญัตติที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลได้เสนอต่อสภา แต่ตนได้ร่วมลงชื่อในญัตติของฝ่ายค้านเพราะเป็นมารยาท

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่าก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ตั้งคำถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญดีอยู่แล้วจะฉีกอีกทำไม คำตอบก็คือต้องการสืบทอดอำนาจ ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะแรกในตอนนั้นมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จ ตนไม่ทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอย่างไร แต่ทราบว่า พล.อ. ประยุทธ์ ไม่พอใจ จึงมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 และในเวลาต่อมา ดร.บวรศักดิ์ ก็ออกมาบ่นว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

 

“อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่สังคมไทยรับรู้รับทราบ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ร่างใหม่นี้นะครับ คือต้องร่างเพื่อเอาใจคุณประยุทธ์ อยากอยู่ยาว ยาวแค่ไหนครับ จะลบสถิติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลยหรือเปล่า” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าว

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ อภิปรายต่อว่าเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 2 ก็แต่งตั้ง ‘เฒ่าสารพัดพิษ’ มาเป็นประธานคณะกรรมการ หลังกล่าวคำดังกล่าว ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จึงได้ตักเตือนว่าอาจเป็นการเสียดสี แต่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร ก็มีการโต้เถียงจน สิระ เจนจาคะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงว่า พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ พูดจาพร่ำเพรื่อ และมีการประท้วงกันไปมา จนสุดท้ายชวนตัดบทว่าตนไม่ขอให้ใครถอน แต่ขอให้พิจารณาว่าคำพูดใดเหมาะหรือไม่เหมาะ ไม่เช่นนั้นก็จะมีการโต้ตอบไม่จบสิ้น

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังได้อภิปรายต่อไปว่าขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญก็มีการโฆษณาว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ทว่าช่วงนั้นก็มีการทุจริตมากมาย ทั้งการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, GT200, นาฬิกาหรู, การขุดลอกคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ, การจัดตั้งบริษัทของหลานชาย พล.อ. ประยุทธ์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ หลังจากนั้น พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นประท้วงโดยกล่าวว่าผู้อภิปรายแอบอ้างและพาดพิงถึงหลานชาย พล.อ. ประยุทธ์ ในการจัดตั้งบริษัท พล.อ. ปรีชา กล่าวว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการประกอบอาชีพของตนเอง เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เอาเรื่องที่ไม่จริงมาพูดในที่ประชุมแห่งนี้ ขอให้ประธานในที่ประชุมตักเตือนผู้อภิปรายด้วย ซึ่งชวนได้กล่าวว่าตนได้เตือนผู้อภิปรายแล้ว

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ได้นำแผนผัง ‘ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ 60’ โดยกล่าวว่าก่อนการเลือกตั้ง 2562 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ซึ่งหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ส.ว. คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่าท่านน่าจะมีญาณวิเศษ รู้ว่าจะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภา ก็เลยมีการลาออกจากคณะกรรมการสรรหา นอกจากนี้แผนผังดังกล่าวยังชี้ว่า ส.ว. ได้เลือกสรรบุคคลเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

 

นอกจากนี้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังได้นำแผนผังสัดส่วนของ ส.ว. โดยสมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีตำรวจ 14 คน, ทหาร 91 คน นอกจากนี้ยังสแกนประวัติพบว่ามีอดีต คสช. 5 คน, อดีตรัฐมนตรี 15 คน, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 83 คน, อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 24 คน และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 17 คน

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ยังได้นำภาพจากเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ โดยมีพาดหัวว่า ‘ย้อนดูผลงาน พล.อ. ปรีชา ขาดประชุม 394 วัน จาก 400 วัน แต่ยังถูกเลือกเป็น ส.ว.’ โดย พล.อ. ปรีชา ลุกขึ้นประท้วงว่าการนำภาพตนเองขึ้นจอได้รับอนุญาตจากตนแล้วหรือยัง แล้วที่บอกว่าขาดการประชุม มันคือการประชุมอะไร ขอให้บอกให้ชัดเจนด้วย 

 

พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าการสรรหา ส.ว. ทั้งหมดนี้คือระบบ ‘ต่างตอบแทน’ โดยที่ พล.อ. ประยุทธ์ แต่งตั้ง พล.อ. ประวิตร เป็นประธานสรรหา ส.ว. พล.อ. ประวิตร ทำการสรรหา ส.ว. ต่อมา ส.ว. ก็เลือก พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแนะนำ 4 ขั้นตอนในการแก้รัฐธรรมนูญคือ

 

1. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

2. ให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ

3. แก้รัฐธรรมนูญโดยนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาพิจารณา

4. ยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่

 

หลังจากนั้น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ได้ฝากให้พรรคร่วมรัฐบาลลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ที่มีรายชื่อในบัญชีต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X