×

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นหนังสือถึง รบ. เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องเพิ่มวันลาคลอด-สวัสดิการแรงงานสตรี

โดย THE STANDARD TEAM
08.03.2024
  • LOADING...
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

วันนี้ (8 มีนาคม) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินขบวนเนื่องในวันสตรีสากล มายังถึงบริเวณหน้าสหประชาชาติ (UN) จากเดิมที่มีแผนจะไปยื่นข้อเรียกร้องบริเวณทำเนียบรัฐบาลประตู 5 เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปิดกั้นพื้นที่ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ปราศรัยมาเป็นบริเวณจุดนี้แทน 

 

โดยทางเครือข่ายได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมด 11 ข้อ ภายใต้คำขวัญ ต่อต้านทุนนิยมเสรี กดขี่แรงงานหญิง

แบ่งเป็นข้อเรียกร้องเดิม 8 ข้อ เช่น การขยายวันลาคลอด 180 วัน, การเพิ่มสิทธิสวัสดิการแรงงานสตรี, การขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่เกี่ยวกับแรงงานสตรี, กำหนดมาตรการละเมิดสิทธิแรงงาน, ให้เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าตั้งแต่ 0-6 ปี เดือนละ 3,000 บาท, การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม และการให้คนที่รับงานไปทำที่บ้านเข้าถึงสิทธิการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

 

ส่วนข้อเรียกร้องใหม่ 3 ข้อคือ ให้รัฐบาลรองรับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อสุขภาพแบบบูรณาการฉบับประชาชน, รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 115 เรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน พ.ศ. 2524 และอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำเอกสารขึ้นทะเบียนรอบใหม่ และให้มีการคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง พร้อมให้มีการทบทวนการเรียกเก็บภาษีกับแรงงานข้ามชาติ




ขณะที่กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง พร้อมเครือข่ายสตรี นัดรวมตัวยื่นหนังสือ เนื่องในวันสตรีสากล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องคุ้มครองไม่ให้ผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลหลากหลายทางเพศ ถูกกระทำรุนแรงหรือปฏิบัติไม่เป็นธรรม 6 ข้อ ประกอบด้วย

 

  1. ให้รัฐบาลต้องรับประกันสิทธิลาคลอด 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดการลา และจัดวันหยุดให้คู่ชีวิตทุกเพศลาเพื่อเลี้ยงลูกได้อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงจัดให้มีสวัสดิการแม่และเด็กอย่างเหมาะสมถ้วนหน้า

 

  1. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องทำหน้าที่เป็นหลักประกันสิทธิแรงงานของแรงงานหญิงและแรงงานทุกเพศ ด้วยการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

  1. ยกเลิกนโยบาย กฎหมาย ธรรมเนียม ที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การตรวจครรภ์ก่อนเข้าทำงาน, การตีตราผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์เป็นคนบาปหรืออาชญากร และการตีตราผู้ขายบริการทางเพศ 

 

  1. รัฐบาลต้องจัดความสำคัญให้ปัญหาการคุกคาม-ล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ความเกลียดชังต่อผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งอื่นๆ เป็นวาระการทำงานสำคัญที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนทันที

 

  1. รัฐบาลและนายจ้างต้องเพิ่มสิทธิลาเมื่อมีประจำเดือน อย่างน้อยเดือนละ 2 วัน และเพิ่มวันลารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ทุกประเภท เช่น การยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด การตรวจครรภ์ การฝากครรภ์ และการข้ามเพศ

 

  1. รัฐบาลและนายจ้างต้องอุดหนุนงบประมาณการแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและบริการอนามัยเจริญพันธุ์อื่นๆ และจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะสำหรับแรงงานสตรีและแรงงานทุกเพศที่ทำงานบนท้องถนน 

 

ทั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศให้การยุติความรุนแรงทางเพศ เพศสภาพ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายตามหลักสิทธิพื้นฐานมนุษยชน



วันลาคลอดไม่เพียงพอ-ผิดหวังถูกกันไม่ให้เข้าใกล้ทำเนียบ

 

ด้าน ติมาพร เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานสตรี ระบุว่าก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.เรื่องลาคลอดถูกบรรจุเข้าไปในสภาแล้ว ให้กลุ่มแรงงานมีความหวัง ไม่ได้คาดหวังที่จะได้วันหยุดถึง 180 วัน แต่ขอให้เป็นจุดเริ่มต้น ที่ไม่ใช่แค่ 98 วัน เพราะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูบุตร

 

ขณะที่ ชนฐิตา ไกรศรีกุล ตัวแทนกลุ่มฯ เราตระหนักในเรื่องของคำจำกัดความที่กว้างขึ้น ของคำว่า วันสตรี จึงรวมข้อเรียกร้องของทั้งกลุ่มสตรีและของผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ด้วยกัน ทั้งนี้ยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังที่ถูกกันไว้ไม่ให้เข้าใกล้ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีการประสานงานมาอย่างถูกต้อง ซึ่งที่จริงแล้วข้อเรียกร้องในวันนี้เป็นสิทธิที่กลุ่มแรงงานสตรีควรจะได้ แต่ท่าทีการรับมือของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

‘ยิ่งลักษณ์’ ปลุกสตรีเชื่อมั่นในคุณค่า-ศักยภาพตัวเอง อย่ายอมให้ใครมาลดทอนคุณค่า

 

ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กเนื่องในวันสตรีสากล ระบุว่า ข้อมูลตัวเลขของ UNODC และ สสส. ที่ระบุว่า จำนวนผู้หญิงไทยถูกคนในครอบครัวใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย จิตใจ และทางเพศ  87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือ 

 

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานจำนวนเคสผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงสูงถึง 30,000 เคสต่อปี นี่คือปัญหาที่ยังไม่หมด และต้องได้รับการแก้ไข เพราะสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ทุกคนคือคนเท่ากัน ดังนั้น ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ดิฉันรู้ถึงบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันของผู้หญิง บางคนเป็นแม่ บางคนเป็นลูกสาว เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว แต่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ‘สิทธิ’ ที่ควรได้รับต้องแตกต่างกัน

 

เนื่องในวันสตรีสากล ขอให้ผู้หญิงทุกคนเชื่อมั่นในคุณค่าและศักยภาพของตัวเราเอง และขอส่งกำลังใจให้ทุกคนกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้ตัวเองในทุกกรณี และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะช่วยเหลือให้ผู้หญิงที่กล้ายืนหยัดได้มีหนทางในการช่วยเหลือตัวเองต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X