×

หนีไม่พ้น สมาคมธนาคารไฟเขียวส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากให้สรรพากร ใครไม่ยอมต้องแจ้งธนาคารตั้งแต่ 7 พฤษภาคมนี้

03.05.2019
  • LOADING...

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าวร่วมกับ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เรื่อง การอำนวยความสะดวกผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี จากกรณีที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากรโดยตรง หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับการยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตรา 15%

 

สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าวและไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคารตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งเพียงครั้งเดียวจะมีผลตลอดไปจนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น สำหรับลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นต้นไป



ถือเป็นการร่วมมือกันอย่างเป็นทางการระหว่างภาครัฐและสถาบันการเงินในการเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรรายงานว่ามีสถาบันการเงินบางรายช่วยลูกค้าหลบเลี่ยงภาษีด้วยการเสนอให้เปิดบัญชีออมทรัพย์หลายบัญชีเพื่อเฉลี่ยเงินให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมายากที่จะตรวจสอบ เนื่องจากกรมสรรพากรไม่มีข้อมูลบัญชีของลูกค้าธนาคาร นับจากนี้หากเจ้าของบัญชีเงินฝากไม่ได้แจ้งเรื่องต่อธนาคารก็ถือว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากต่อสรรพากร ซึ่งจะตรวจสอบข้อมูลรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกบัญชีต่อไป

 

สรุปโดยง่ายคือ หากยินยอม เมื่อกรมสรรพากรคำนวณรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับทุกบัญชี หากไม่เกิน 2 หมื่นบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าพบว่าเกิน 2 หมื่นบาท ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในวันที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนกรณีที่แจ้งเรื่องต่อธนาคารว่าไม่ยินยอม ธนาคารก็จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในวันที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่ว่ารายได้รวมของดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นเท่าไรก็ตาม แม้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทก็จะถูกหักภาษี หากประสงค์จะขอคืนภาษีก็สามารถทำได้ในช่วงยื่นแบบภาษีไตรมาสแรกของปีถัดไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

    • กรมสรรพากร

 

  • สมาคมธนาคารไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X