×

สว. 67 : ใหม่อยาก ‘รื้อ’ เก่าอยาก ‘ยื้อ’ เริ่มแล้ว เลือก สว. 67 เปลี่ยนระบบ จบที่ใคร

20.05.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘กฎ’ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และ ‘กติกา’ ที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ยิ่งตอกย้ำชัดขึ้นว่า การเลือก สว. ครั้งนี้สะท้อนความพยายามรักษาอำนาจของระบอบเก่า ขนานกับความพยายามเปลี่ยนแปลงของภาคประชาชน
  • Bug หรือ Software Bug ในทางศัพท์คอมพิวเตอร์ หมายถึงจุดบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากคำสั่งจนเป็นเหตุให้โปรแกรมทำงานสะดุดติดขัด แต่สำหรับการเลือก สว. ครั้งนี้ Bug หมายถึงประชาชนที่มีเจตจำนงเสรี มุ่งหมายเข้าไปสมัคร โดยไม่ได้จัดตั้งมา หรือเข้ามาเป็นตัวแทนของเครือข่ายไหน
  • ผู้เตรียมสมัคร สว. หลายคนมีจุดยืนที่หลากหลาย ทว่าเหตุผลหลักที่แต่ละคนน่าจะเห็นตรงกันคือ พวกเขาต้องการเข้าไป ‘รื้อ’ สิ่งเก่าๆ เปลี่ยนคำว่า สว. ที่คนเคยนึกถึงว่ายึดโยงกับประชาชนให้เป็น สว. ที่เป็นประชาชนจริงๆ
  • ด้วยระบบที่วางลงมาให้เหมือนกับประชาชนไม่ได้อยู่ร่วมในสมการนี้ แม้ กกต. จะยืนยันว่าเป็นการทำไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องที่อันตรายมากกว่ากติกาการแข่งขันที่ซับซ้อน กลับเป็นการที่ประชาชนไม่แม้จะรับรู้ด้วยซ้ำว่ามีการแข่งขันอยู่

หลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 และหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเปิดรับสมัคร พร้อมด้วยวันเลือก สว. ทั้ง 3 รอบ เท่ากับว่าขอบเขตการนำเสนอของสื่อมวลชนตกอยู่ใต้เพดานกฎหมายที่ กกต. กำหนดไว้

 

ทว่านั่นอาจไม่ได้หมายความว่า ความรับรู้และความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือก สว. ครั้งนี้จะหดแคบตามไปด้วย เพราะไม่แน่ว่า ยิ่งพยายามให้เงียบเท่าไร กลายเป็นเสียงที่ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

‘กฎ’ ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด และ ‘กติกา’ ที่ซับซ้อนที่สุดในโลก ยิ่งตอกย้ำชัดขึ้นว่า การเลือก สว. ครั้งนี้สะท้อนความพยายามรักษาอำนาจของระบอบเก่า ขนานกับความพยายามเปลี่ยนแปลงของภาคประชาชน

 

 

สิ้นสุด สว. ชุดเฉพาะกาล เปลี่ยนผ่านสู่จุดเดิม?

 

หากจะสรุปวีรกรรมและผลงานของ สว. ชุดที่ผ่านมา ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. หลังการยึดอำนาจรัฐประหาร โดยสาระสำคัญก็คือ การเป็นกลไกสืบทอดระบอบด้วยอำนาจพิเศษ 250 เสียงที่สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับ สส. ได้ 

 

อำนาจพิเศษดังกล่าวถ่ายทอดผ่านการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลนี้ ซึ่งลงมติออกเสียงแต่ละครั้งไปในทิศทางเดียวกัน ไม่เพียงการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่รวมถึงการปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับด้วย ทำให้บางภาคประชาชนเรียกขานวุฒิสภาชุดนี้ว่าไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้

 

หลัง สว. ชุดดังกล่าวหมดวาระลง ก็เปรียบเหมือนคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานมา 5 ปีได้ปลดระวาง แต่ก็เปิดช่องให้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่มาปฏิบัติตามโปรแกรมเดิมด้วยเช่นกัน

 

 

สว. ชุดใหม่นี้ แม้จะไม่มีอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป แต่ยังสามารถมีส่วนให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อยู่ กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ ต้องมี สว. อย่างน้อย 67 คน หรือจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมด 200 คน ยกมือเห็นชอบให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่จึงจะผ่านไปได้

 

ยังไม่นับรวมอำนาจในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ โดยตลอดวาระ 5 ปี สว. ชุดใหม่นี้จะมีอำนาจให้ความเห็นชอบ:

 

  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คน จาก 9 คน
  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5 คน จาก 9 คน
  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5 คน จาก 9 คน
  • และตำแหน่งสำคัญในองค์กรอื่นๆ เช่น กสทช. กสม. ฯลฯ

 

จะเห็นได้ว่า จากจำนวนบุคคลในองค์กรอิสระที่ สว. ชุดใหม่นี้สามารถให้ความเห็นชอบได้ ล้วนเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง หรือเป็นเสียงข้างมากที่สามารถชี้ขาดชะตากรรมของหลายๆ ฟากฝ่ายทางการเมืองได้

 

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าการเลือก สว. ครั้งนี้มีกลุ่มจัดตั้งพรรคพวกเครือข่ายของตนเองให้เข้ามาลงสมัคร สว. เพื่อเลือกกันเอง ตามที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ค่าสมัคร 2,500 บาทต่อคน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับ ‘เสียง’ ที่กลุ่มจัดตั้งเหล่านี้ยินดีจ่ายเพื่อธำรงระบอบเดิมเอาไว้

 

“นี่คือระบอบประยุทธ์ ที่แม้ไม่มีประยุทธ์ในสนามการเมืองแล้ว แต่ระบอบก็ยังอยู่กับเราในรูปแบบรัฐธรรมนูญ 2560” 

 

“ออกจากระบอบประยุทธ์ไม่ได้ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ 2560 แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ ถ้าไม่มี สว. ที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยมากกว่า 70 คน” ธนาธรกล่าว

 

จึงเป็นที่มาของความพยายามสร้าง ‘แมลง’ หรือ Bug เข้าไปป่วนในระบบนี้

 

พลังธรรมชาติ ‘แมลง’ แสดงตัว

 

พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เคยอธิบายเจตจำนงของการรณรงค์เชิญชวนคนมาสมัคร สว. ไว้ว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อพยายามสร้าง Bug ในระบบการเลือกอันซับซ้อน

 

Bug หรือ Software Bug ในทางศัพท์คอมพิวเตอร์ หมายถึงจุดบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากคำสั่งจนเป็นเหตุให้โปรแกรมทำงานสะดุดติดขัด แต่สำหรับการเลือก สว. ครั้งนี้ Bug หมายถึงประชาชนที่มีเจตจำนงเสรี มุ่งหมายเข้าไปสมัคร โดยไม่ได้จัดตั้งมา หรือเข้ามาเป็นตัวแทนของเครือข่ายไหน

 

กล่าวคือ เพราะประชาชนไม่ใช่คนออกแบบ ไม่ใช่คนคุมระบบ จึงเป็นได้เพียง ‘ผู้เล่น’ ที่ยอมเสียเงิน 2,500 บาท และเสียเวลาอีกมาก เพื่อฟันฝ่าเข้าไปในกติกาซับซ้อน อีกทั้งการเลือกทั้ง 3 ระดับ

 

กลุ่มคนที่เป็น Bug หรือ ‘แมลง’ เหล่านี้ ต่างทยอยแสดงตัวออกมาอย่างรวดเร็ว บางคนประกาศตัวตั้งแต่ต้นปีด้วยซ้ำ พร้อมยืนยันว่าตนเองมีเจตจำนงบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนของใคร นอกจากประชาชนในสายอาชีพของตนเอง

 

 

 

เวลาผ่านไป ‘แมลง’ เหล่านี้ก็ปรากฏตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมและการรับรู้ บางคนเป็นนักวิชาการชื่อดัง บางคนเป็นศิลปิน อินฟลูเอ็นเซอร์ บ้างเป็นภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนมายาวนาน บ้างเป็นผู้ประกาศข่าวที่ออกหน้าจอแทบทุกวัน

 

ผู้เตรียมสมัคร สว. หลายคนก็มีจุดยืนที่หลากหลาย และใช่ว่าจะสอดคล้องกันไปทั้งหมด ทว่าเหตุผลหลักที่แต่ละคนน่าจะเห็นตรงกันคือ พวกเขาต้องการเข้าไป ‘รื้อ’ สิ่งเก่าๆ เปลี่ยนคำว่า สว. ที่คนเคยนึกถึงว่ายึดโยงกับประชาชน ให้เป็น สว. ที่เป็นประชาชนจริงๆ 

 

ประกอบกับความทุ่มเทของ iLaw ที่พยายามสร้างความเข้าใจ สนใจ และรวบรวมข้อมูลของบรรดาผู้สมัคร สว. ภาคประชาชนไว้บนเว็บไซต์ เพื่อให้เหล่า ‘แมลง’ มองเห็นกันเอง และกระตุ้นให้ ‘แมลง’ ลงสมัคร เพื่อเข้าไปเลือก ‘แมลง’ ด้วยกันเอง

 

เพราะอย่าลืมว่า ในระบบนี้มีเพียง ‘แมลง’ ที่ลงสมัครเท่านั้นจึงจะเลือกกันเองได้ ต่างจากการเลือกตั้งที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม

 

เมื่อเหล่า Bug พากันรวมตัวมากขึ้น กลับกลายเป็นเห็นความพยายามของฝ่ายระบอบเก่าที่ทำกระบวนการ ‘Debug’ หรือ ‘ปราบแมลง’ ขึ้นมา

 

กระบวนการไล่แมลง: กลไกในระเบียบ

 

ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา นำมาซึ่งข้อกังวลและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 และการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถเผยแพร่ให้ผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น

 

ตลอดจนการห้ามไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อต่างๆ ร้อนจน กกต. ต้องนัดหมายสื่อมวลชนมาชี้แจงเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่ง แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ก็ได้ยืนยันว่า สื่อสามารถทำหน้าที่ได้ปกติตามหลักวิชาชีพ รายงานได้ทุกอย่างที่เป็นข้อเท็จจริง รวมถึงสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ แต่ติดอยู่ที่ผู้สมัครห้ามแนะนำตัวเอง

 

“เราออกกติกาสำหรับคนแข่งขันเพื่อความเป็นธรรม ไม่ได้ออกเพื่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ทุกคนก็ยังมีสิทธิเสรีภาพ แต่คนที่เป็นผู้สมัครต้องอยู่ในเกณฑ์นี้ เพื่อความยุติธรรมในการแข่งขัน” แสวงระบุ

 

 

ท้ายที่สุด แม้ กกต. จะพยายามสะท้อนให้เห็นว่ารับฟังประชาชนอยู่ ทั้งการให้ความมั่นใจกับสื่อ หรือการแก้ไขระเบียบให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวผ่านอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มเติมได้

 

ทว่าก็ไม่สามารถคลายความกังวลและความเคลือบแคลงใจของประชาชนที่มีต่อ กกต. ในฐานะผู้คุมกฎได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ กกต. มักถูกสังคมตั้งคำถามเสมอ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศูนย์ป้องกันข่าวเท็จ กกต. ที่โพสต์ข้อความว่า การจัดแคมเปญให้มีการจูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคล อาจมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งแม้ภายหลัง iLaw จะตอบโต้ว่า เป็นการกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อกฎหมายมารองรับ แต่ท้ายสุดก็ต้องนำข้อมูลผู้สมัครที่รวบรวมไว้ในเว็บไซต์ senate67.com ออกไปแทน

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ระบุว่า จุดประสงค์ของการทำเว็บไซต์คือ ต้องการช่วย กกต. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกติกาการเลือก สว. และข้อมูลผู้สมัคร สว. ว่ามีใครบ้าง เพื่อให้ผู้สมัครมีพื้นที่ในการออกสื่อสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัคร เพื่อจะได้ติดตามข่าว

 

“ส่วนตัวเชื่อว่าการทำเว็บไซต์ที่ทำมาก่อนหน้านี้สามารถทำได้ เพราะอะไรที่กฎหมายไม่ได้สั่งห้าม สามารถทำได้ แต่ผู้สมัครหลายคนที่ให้ข้อมูลกับเว็บไซต์ดังกล่าว กังวลว่าจะถูก กกต. ตีความกลายเป็นความผิด” ยิ่งชีพกล่าว

 

กลายเป็นว่า การเลือก สว. ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนบางฝ่ายมุ่งหมายว่า จะใช้ปากกาปลดเปลื้องระบบเก่าๆ ออกไป และเลือกคนใหม่ที่ตรงใจเข้ามา

 

ทว่าโจทย์คราวนี้แตกต่างออกไป เพราะด้วยระบบที่วางลงมาให้เหมือนกับประชาชนไม่ได้อยู่ร่วมในสมการนี้ แม้ กกต. จะยืนยันว่าเป็นการทำไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่เรื่องที่อันตรายมากกว่ากติกาการแข่งขันที่ซับซ้อน กลับเป็นการที่ประชาชนไม่แม้จะรับรู้ด้วยซ้ำว่ามีการแข่งขันอยู่!

 

ท้ายที่สุด การเลือก สว. ในครั้งนี้ที่ถูกกระทำให้ ‘เลือกกันเอง’ ในระบบปิด ก็ยังสะท้อนการต่อสู้กันของพลังธรรมชาติจากประชาชนที่ปรารถนาจะเข้าไปเป็น ‘แมลง’ เพื่อรื้อระบบเสียใหม่ ที่ยังต้องเผชิญความพยายามจาก ‘ระบอบเก่า’ ที่พยายามยื้อให้การเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปโดยง่ายดาย

 

 

อัปเดตข่าวล่าสุด เลือก สว. 2567 เกาะติดผลการเลือก สว. ได้ที่ https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/, Facebook : THE STANDARD และ YouTube : THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X