×

สว. 67 : ‘ซับซ้อนที่สุดในโลก’ เจาะที่มา สว. ชุดใหม่ ผ่านระบบเลือกกันเองในสายอาชีพ

05.03.2024
  • LOADING...

10 พฤษภาคม 2567 คือวันหมดวาระของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ซึ่งนับเป็น สว. ชุดที่ 12 ของประเทศไทยนับแต่การเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำลังเดินหน้าสู่การได้มาซึ่ง สว. ชุดที่ 13 ด้วยระบบการ ‘เลือกกันเอง’ ซึ่งเป็นการใช้ระบบนี้เป็นครั้งแรกของไทย หลังชุดก่อนหน้าเป็นการสรรหาและจบที่การเคาะโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

 

THE STANDARD ชวนเจาะที่มา สว. ชุดใหม่ ผ่านระบบเลือกกันเองในสายอาชีพ ที่ผู้จัดการเลือกอย่าง แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยังออกปากให้สัมภาษณ์สื่อว่า ‘ซับซ้อนที่สุดในโลก’

 

สว. คือใคร

 

สว. หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือชื่อเดิม พฤฒสภา เป็นสภาสูงในระบบนิติบัญญัติคู่กับสภาล่าง หรือ สส. โดยปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 และเรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 โดยในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีที่มาของ สว. แตกต่างกันไป

 

อำนาจหน้าที่หลักของ สว.​ คือการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร, ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ, พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังกำหนดในบทเฉพาะกาลให้ สว. มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แต่กำลังจะหมดไปพร้อม สว. ชุดเฉพาะกาล 250 คนในเดือนพฤษภาคมนี้

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ สว. มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง โดยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น

 

ใครเป็น สว. ชุดใหม่ได้บ้าง

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น สว. ดังนี้

 

  • มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  • อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  • มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้น กลุ่มสตรี, ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  • ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
    • เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
    • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร
    • เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร
    • เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
    • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา
  • ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เป็นสมาชิกพรรคการเมือง, ข้าราชการ, สว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560, พ้นจาก สส. หรือรัฐมนตรี​ไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม กกต. ระบุว่าการเป็นพนักงานบริษัทเอกชนไม่ได้เป็นข้อห้ามในการสมัครหรือเป็น สว.

 

สมัคร สว. อย่างไร

 

ผู้สมัครที่ประสงค์จะสมัคร สว. เลือกได้ว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้ากับกลุ่มไหนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษา
  4. กลุ่มสาธารณสุข
  5. กลุ่มทำนา ทำไร่
  6. กลุ่มทำสวน ประมง เลี้ยงสัตว์
  7. กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน
  8. กลุ่มผู้ประกอบกิจการ SMEs
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น
  10. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  11. กลุ่มสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน
  12. กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม
  13. กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
  14. กลุ่มศิลปะ ดนตรี บันเทิง กีฬา
  15. กลุ่มประชาสังคม
  16. กลุ่มสื่อสารมวลชน นักเขียน
  17. กลุ่มอาชีพอิสระ
  18. กลุ่มสตรี
  19. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ ชาติพันธุ์
  20. กลุ่มอื่นๆ

 

โดยการสมัคร ผู้สนใจสมัครเป็น สว.​ สามารถสมัครได้ที่อำเภอที่ตัวเองมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด หากมีคุณสมบัติในหลายอำเภอ สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครที่อำเภอใดเพียงที่เดียวเท่านั้น ซึ่งมีค่าสมัครและค่าธรรมเนียมอยู่ที่คนละ 2,500 บาท

 

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่รับสมัครจะไม่มีการเปิดเผยชื่อจนกว่าการรับสมัครเสร็จสิ้น

 

ขั้นตอนการเลือก สว.

 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ สว. มาจากการเลือกกันเอง โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ได้กำหนดวิธีการเลือกกันเองดังนี้

 

ระดับอำเภอ

 

  1. ผู้สมัครจะเข้า ‘กลุ่มอาชีพ’ ตามที่สมัคร เลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไป
  2. จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
  3. ผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต
  4. ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับจังหวัด

 

ระดับจังหวัด

 

  1. ผู้ชนะจากระดับอำเภอจะมาอยู่ใน ‘กลุ่มอาชีพ’ ระดับจังหวัด เลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 2 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวสองคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไป
  2. จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
  3. ผู้ที่ได้คะแนน 5 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 โหวต
  4. ผู้ที่ได้คะแนน 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ผ่านเข้าสู่สนามระดับประเทศ

 

ระดับประเทศ

 

  1. ผู้ชนะจากระดับจังหวัดจะมาอยู่ใน ‘กลุ่มอาชีพ’ ระดับประเทศ แล้วเลือกกันเองในกลุ่มไม่เกิน 10 โหวต โหวตตัวเองได้ แต่โหวตคนเดียวหลายคะแนนไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับในแต่ละกลุ่มอาชีพจะได้เข้าสู่การเลือกในขั้นตอนถัดไป
  2. จับสลากแบ่งสาย แต่ละสายมี 3-5 กลุ่ม
  3. ผู้ที่ได้ 40 อันดับแรก โหวตผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันกลุ่มละ 5 โหวต
  4. ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว.​ คือผู้ที่ได้คะแนน 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม อันดับที่ 11-15 ของแต่ละกลุ่ม เป็นรายชื่อสำรอง

 

โดยหากมีผู้สมัครในกลุ่มนั้นๆ ไม่ครบ ใครมาก็เข้ารอบเลย แต่ถ้าโหวตแล้วได้คะแนนเท่ากันให้จับสลาก

 

โดยตลอดระยะเวลาการเลือก สว. จะไม่สามารถหาเสียงได้ ยกเว้นการแนะนำตัว ซึ่งขณะนี้ กกต. ​กำลังร่างระเบียบลักษณะการแนะนำตัวของผู้สมัครว่าจะทำแบบใดได้บ้าง

 

ค่าตอบแทน สว.

  • เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท
  • เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท

 

รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประชุมคณะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการในแต่ละครั้งที่ได้เข้าร่วมประชุม รวมถึงสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ด้านการรักษาพยาบาล

 

อีกทั้งยังสามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น 

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน เดือนละ 24,000 บาท
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท
  • ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน เงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท

 

ย้อนที่มา สว.

 

นับแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศไทยมี สว. มาแล้ว 12 ชุด โดยมีที่มาแตกต่างกันตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แบ่งได้ดังนี้

 

  • เลือกตั้งทางอ้อม 1 ชุด
  • เลือกตั้งผสมสรรหา 2 ชุด
  • เลือกตั้งทั้งหมด 2 ชุด
  • แต่งตั้งทั้งหมด 7 ชุด

 

สำหรับ สว. ทั้ง 12 ชุดมีดังนี้

 

  • ชุดที่ 1: เลือกตั้งทางอ้อม (ปี 2489-2490)
  • ชุดที่ 2: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2490-2494)
  • ชุดที่ 3: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2511-2514)
  • ชุดที่ 4: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2518-2519)
  • ชุดที่ 5: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2522-2534)
  • ชุดที่ 6: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2535-2539)
  • ชุดที่ 7: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2539-2543)
  • ชุดที่ 8: เลือกตั้งทั้งหมด (ปี 2543-2549)
  • ชุดที่ 9: เลือกตั้งทั้งหมด (ปี 2549)
  • ชุดที่ 10: เลือกตั้งผสมสรรหา (ปี 2551-2557)
  • ชุดที่ 11: เลือกตั้งผสมสรรหา (ปี 2557)
  • ชุดที่ 12: แต่งตั้งทั้งหมด (ปี 2562-2567)

 

อ้างอิง: iLaw และเว็บไซต์วุฒิสภา

 

ไทม์ไลน์การเลือก สว. (เบื้องต้น)

 

  • 10 พฤษภาคม: สว. ชุดปัจจุบันหมดวาระ
  • 11 พฤษภาคม: (กรณีเร็วสุด) ตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)​ ให้มีการเลือก สว. ชุดใหม่
  • 16 พฤษภาคม: กกต. ออกประกาศกำหนดวันเลือก สว. ในทุกระดับ (ต้องกำหนดภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง สว. ใช้บังคับ)
  • ปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน: รับสมัคร สว. (เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วัน นับจากวันที่ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือก สว. ใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน)
  • ต้นเดือนมิถุนายน: ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. (ภายใน 5 วันหลังปิดรับสมัคร)
  • กลางเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนกรกฎาคม: ผู้สมัคร สว. เลือกกันเองในแต่ละระดับ
  • กลางเดือนกรกฎาคม: กกต. ประกาศผลการเลือก สว. 200 คน ในราชกิจจานุเบกษา

 

เกร็ดน่ารู้ของการเลือก สว.

 

  • แจ้งเบาะแสการทุจริตการเลือก สว. กกต. จะมีรางวัลนำจับให้สูงสุด 1 ล้านบาท
  • ประธาน กกต. คาดมีผู้สมัคร สว.​ เกิน 1 แสนคน
  • เลขาธิการ กกต. ระบุว่าระบบการเลือกกันเองของ สว. น่าจะเป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดในโลก
  • เลขาธิการ กกต. ระบุว่า สว. เป็นการเลือกกันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ แนะนำตัวกันได้ แต่ห้ามหาเสียง
  • การเลือก สว. เมื่อปี 2561 ตั้งงบประมาณราว 1,300 ล้านบาท ประธาน กกต. คาดการณ์ว่าการเลือก สว. ครั้งนี้จะมีการตั้งงบประมาณสูงกว่าเดิมเล็กน้อย

 

อัปเดตข่าวล่าสุด เลือก สว. 2567 เกาะติดผลการเลือก สว. ได้ที่ https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/, Facebook : THE STANDARD และ YouTube : THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising