วานนี้ (11 พฤษภาคม) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนาวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2567 PRIDI Talks #25 เก่าไป ใหม่มา : สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย
เต็มสิบเรื่องสืบทอดอำนาจ เป็นศูนย์ด้านประชาธิปไตย
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า ใน 250 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จาก คสช. มี สว. ท่านหนึ่งบอกว่าเขาปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นการเข้าใจตัวเองผิดไปอย่างมหันต์
หากต้องให้คะแนน สว. ชุด 250 คนที่ผ่านมา จะให้คะแนนเต็มสิบในแง่การพิทักษ์รักษาระเบียบอำนาจเดิมของ คสช. เพราะทำหน้าที่ตอบสนองคนที่ตั้งตัวเองมา สว. เหมือนเป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้านายที่ตั้งตัวเองมา คะแนนเต็มสิบในแง่นี้
ถ้าพินัยกรรมของคณะรัฐประหาร หรือ คสช. คือรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อให้ คสช. ไม่อยู่แล้ว เขาก็วางพินัยกรรมนี้ไม่ให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากกว่ากรอบที่เขาต้องการ คือจำกัดเพดานและโอกาสของความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ สว. 250 คนคือผู้พิทักษ์รักษาพินัยกรรมนี้
แต่ถ้ามองในแง่การส่งเสริมประชาธิปไตยและการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ก็ต้องให้คะแนนเป็นศูนย์ในแง่การส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะ สว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็น สว. ที่มีบทบาทขัดขวางและกร่อนเซาะประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
ที่พูดแบบนี้เพราะ สว. แต่งตั้งในอดีตเป็นแค่อะไหล่เสริม ถึงไม่มี สว. คณะรัฐประหารก็สามารถอยู่ได้ โดย สว. ไม่มีบทบาทขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้ เพราะตอนนั้นพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนยังปิด ความตื่นตัวประชาชนยังไม่สูง เมื่อเปรียบเทียบ สว. จาก คสช. ดังนั้น สว. ชุดนี้จึงมีบทบาทสำคัญกว่า สว. ทุกชุดในอดีต เพราะมีอำนาจเลือกนายกฯ และรับรองคนที่จะมานั่งตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในขณะบ้านเมืองพัฒนาไปไกลมากแล้ว ประชาชนตื่นตัวมากแล้ว ส่วน สว. ยังมาทำหน้าที่สืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหาร
ถ้าไม่มี สว. ชุดปิดทองหลังพระตามที่ สว. บางท่านเรียกตัวเองแล้ว ใน 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ในด้านประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญอาจได้รับการแก้ไขไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ ตั้งแต่ครั้งนั้น หมายถึงการสืบทอดอำนาจจะไม่เกิดขึ้น จะถูกยุติวงจรตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว ฉะนั้น สว. จึงมีบทบาทสำคัญในการขัดขวางประชาธิปไตย
“สุดท้ายต้องขอบคุณคุณูปการสำคัญของ สว. 250 ท่านคือ ทำลายความเข้าใจที่คณะรัฐประหารมักอ้างว่าการมี สว. แต่งตั้งเป็นเรื่องดี มีคุณวุฒิสูง เพราะ สว. ชุดที่ผ่านมาทำลายมายาคติเหล่านั้นที่บอกว่า สว. คือสภาคนดี สภาพี่เลี้ยง เพราะ สว. ชุด 250 คนทำตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ดังนั้น 250 สว. จึงช่วยเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส ทำให้เกิดแนวคิดว่าทำไมเราต้องมี สว. อีก เราเปลี่ยนไปเป็นสภาเดี่ยวเลยดีไหม ยังจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมี สว. โดยเฉพาะ สว. จากการแต่งตั้ง”
เชื่อว่าหลังจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่มีใครกล้าเสนอโมเดลว่าจะให้มี สว. จากการแต่งตั้งอีกต่อไป คิดว่า สว. ชุดที่ผ่านมาจะเป็น สว. จากการแต่งตั้งชุดสุดท้ายในประวัติศาสตร์ไทย
ฝากคน 4 กลุ่ม ก่อนเลือก สว.
ประจักษ์กล่าวด้วยว่า อยากฝากถึงคน 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กกต. ซึ่งน่าสงสารเพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ ตรรกะเหตุผลคืออะไร แล้วถึงทุกวันนี้ยังคิดว่าเป็นการออกแบบที่ถูกต้องอยู่หรือไม่ อันนี้ฝากสื่อไปสัมภาษณ์ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มาออกแบบกติกาพิสดารที่สุดในโลก
ถ้า กกต. ทำหน้าที่อย่างที่มีการเสนอวันนี้จะเป็นการฟื้นฟูเครดิต กกต. อย่างสำคัญ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต. ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ ครั้งนี้ก็สามารถฟื้นฟูเครดิตตัวเองในการส่งเสริมประชาธิปไตยได้ ไม่ว่าที่มาเริ่มต้น กกต. จะเป็นอย่างไร กกต. ก็สามารถกลับลำเป็นองคุลิมาลในการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยได้
กลุ่มที่ 2 คือสื่อมวลชน อยากฝากสื่อมวลชนว่า จริงๆ สื่อมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศให้การเลือก สว. ครั้งนี้ไม่เงียบ ทำให้คึกคัก สื่อต้องไม่เกร็งกับระเบียบต่างๆ ของ กกต. สื่อต้องพยายามทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนซึ่งเขาถูกตัดสิทธิไปแล้ว สื่อช่วยในการรายงานข่าวเจาะลึก ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องได้
กลุ่มที่ 3 คือบรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ แต่ยังมีบทบาทอันหนึ่งที่ทำได้สำหรับคนที่อายุน้อยๆ คือ ไปยุยงพ่อแม่ หว่านล้อม ชักชวนพ่อแม่ คุณน้าคุณอา ญาติผู้ใหญ่ ช่วยทำให้ท่านเห็นความสำคัญว่าสำคัญอย่างไรในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการครั้งนี้ ยิ่งเกมกติกาเป็นแบบนี้ ยิ่งต้องไปลงสมัครกันเยอะๆ เป็นวิถีทางเดียว
สุดท้ายคือฝากถึงว่าที่ สว. ทั้งหลายว่า เดิมพันครั้งนี้สำคัญ เดิมพันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะได้เป็น สว. แต่เดิมพันอยู่ที่โอกาสที่เราจะเปิดหน้าต่างโอกาสให้ประชาธิปไตยของไทยเข้มแข็งอีกครั้ง จึงฝากให้ทำหน้าที่ ซึ่งจริงๆ แล้ว สว. ชุดใหม่ก็น่าสงสาร เพราะจะโดนจับจ้องตั้งแต่วันแรก
สว. ใหม่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้พิทักษ์อำนาจ คสช. ให้กลายเป็นผู้พิทักษ์ส่งเสริมประชาธิปไตย เปลี่ยนบทบาท สว. จากตัวแทนชนชั้นนำให้กลายเป็นตัวแทนประชาชน เปลี่ยนบทบาท สว. ในการแช่แข็งความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยให้กลายเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า
ท้ายที่สุดขอผู้สมัคร สว. ที่เสียสละ ถ้า กกต. ไม่ยอมเปลี่ยนกติกา อาจจะมีผู้สมัครบางคนยอมเสียสละ อารยะขัดขืนโดยการหาเสียง ทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยที่มีการแข่งขัน แม้โดนตัดสิทธิ แต่ไม่เป็นไร เพราะคือการทดสอบระบบ และสู้กับเกมที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ ต้องมีผู้สมัครบางคนบอกว่ามัดมือชกแบบนี้ ไม่ให้ทำอะไรเลย สุดท้ายจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เรากำลังเลือกผู้แทนปวงชน จะไปใช้ภาษีประชาชนแล้วอยู่ในอำนาจอีก 5 ปี เป็นเรื่องสำคัญมาก
ฉะนั้นก็อยากฝากเอาไว้ เพราะบ้านเมืองอยู่ในมือคนทุกคน ไม่ใช่แค่คนสูงวัยเท่านั้น
อารยะขัดขืนคือขัดขืนต่อระเบียบ กกต. ถ้าเราเห็นว่าระเบียบที่ออกมาจำกัดสิทธิมากเกินไป แล้วไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย อาจจะต้องมีคนยอมเสียสละ อารยะขัดขืน คือลองเสี่ยง ลองทดสอบระบบว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ทำแบบไหนผิด ทำแบบไหนไม่ผิด อารยะขัดขืนในความหมายนี้ ถ้าท้ายที่สุดทดสอบแล้ว กกต. บอกว่าผิด ท่านอาจจะต้องเป็นผู้เสียสละโดนตัดสิทธิไป แต่อย่างน้อยเราต้องขยับเส้นของประชาธิปไตยที่ตอนนี้โดนล้อมกรอบ เราต้องพยายามขยายกรอบการหาเสียง สร้างให้เกิดบรรยากาศการหาเสียงอย่างแท้จริงให้ได้
วิเคราะห์กติกาเลือก สว.
ประจักษ์กล่าวว่า การออกแบบกติกาการเลือก สว. แบบนี้ที่ไม่ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะหวาดกลัวว่าจะได้ สว. ที่เลือกมาโดยประชาชน แล้วชนชั้นนำจะคุมไม่ได้ เมื่อเทียบกับ สว. ชุด 250 คนที่มาจากการรัฐประหารปี 2557 ซึ่งมีหน้าที่มารักษาพินัยกรรม ฉะนั้นเขาไม่ต้องการ สว. ที่ยึดโยงกับประชาชนแล้วเขาคุมไม่ได้ จึงไม่ให้เลือกตั้ง
“ส่วนทำไมไม่แต่งตั้งทั้งหมด ผมวิเคราะห์แล้วมีความเสี่ยง ถ้าผู้นำคณะรัฐประหารไม่ได้เป็นรัฐบาลเอง ไม่ได้เป็นนายกฯ จะเท่ากับว่าอำนาจในการแต่งตั้ง สว. ทั้งหมดจะหลุดจากมือเขา แล้วจะไปตกอยู่ในมือของคนอื่น ถ้าเป็นพรรคอื่น หรือฝ่ายค้านขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน แล้วในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า สว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด อำนาจในการแต่งตั้ง สว. หลุดไปอยู่ในมือของคนที่อาจเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับคณะรัฐประหารด้วยซ้ำ คาดว่านี่เป็นที่มาของการออกแบบระบบที่ครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้
“ถ้าไม่มีการรณรงค์ของภาคประชาชน หรือสื่อไม่สนใจ ก็จะเป็นการเลือก สว. ที่เงียบมาก คนไปสมัครไม่กี่คน และออกแบบให้ซับซ้อน มีการเลือกไขว้ ทั้งที่ไม่สมเหตุผลตั้งแต่การกำหนดเลือกในกลุ่มอาชีพแล้ว กลับยิ่งมีการให้กลุ่มอาชีพอื่นมาเลือกไขว้เราด้วย ซึ่งกลุ่มอาชีพที่จะมาเลือกเราก็มาจากการจับสลากอีก เหมือนเป็นระบบกล่องสุ่ม ‘สว. กล่องสุ่ม’ เพราะไม่รู้ว่าจะถูกเลือกจากใครบ้าง อาชีพไหนบ้าง สุดท้าย สว. ที่ออกแบบไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ได้เป็นตัวแทนของใครเลย จะเป็นตัวแทน 200 คนที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้เลือก ไม่ได้เป็นตัวแทนแม้กระทั่งกลุ่มอาชีพไหน เพราะมาจากระบบที่ไม่ใช่กลุ่มอาชีพเดียวกันเลือกกันเองตลอดเส้นทาง เป็นระบบที่ทำให้สับสนไป”
ประจักษ์กล่าวด้วยว่า เหตุที่ต้องออกแบบเช่นนี้ สว. ใหม่ 200 คนที่มาจากการไม่ยึดโยงกับใครเลยนั้นง่ายกับการมาช้อนซื้อทีหลัง ควบคุมง่าย จะได้คน 200 คนซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของใครอย่างแท้จริง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร ในแง่นี้ก็ ‘แจกกล้วยง่าย’ เข้ามาล็อบบี้กดดันได้ง่าย จะมีผู้นำ ผู้มีอำนาจ มาล็อบบี้เป็นรายบุคคล เวลาจะผ่านกฎหมาย เวลาจะมีโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ค่อยมาล็อบบี้เป็นรายบุคคล ซึ่ง สว. ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของใครก็ถูกล็อบบี้ ถูกซื้อตัวง่ายอยู่แล้ว อันนี้คือความตั้งใจ เป็นเกมที่ชนชั้นนำออกแบบมา ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบมา ‘เพื่อเรา’ ซึ่งไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เราคือใครก็ไม่รู้ เกมนี้ถูกออกแบบมาอย่างนี้
“สิ่งที่ประชาชนจะทำได้ตอนนี้คือ ต้องไปสมัครให้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นวิธีเดียวที่จะแก้เกมนี้ ถ้าสมัครจำนวนน้อยจะเป็นการเลือกสรรกันเอง ที่จะได้ใครมาก็ไม่รู้ และการจัดตั้งก็จะง่าย แต่ถ้าประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ กระบวนการนี้อย่างน้อยการจัดตั้งเพื่อไปเลือกกันเองแบบเงียบๆ จะทำได้ยากขึ้น นี่เป็นสิ่งเดียวที่จะทำได้ คือเข้าไปมีส่วนร่วมในเกมที่ไม่แฟร์ เพื่อจะไปแก้เกมนี้ให้แฟร์มากขึ้น ฉะนั้น ภารกิจในการแก้เกมที่ถูกออกแบบมาอย่างไม่เป็นธรรมไม่ได้อยู่ที่คนหนุ่มสาวแล้ว เพราะเขาอายุไม่ถึง 40 ปี ไปเลือกไม่ได้ ตอนนี้บ้านเมืองจึงฝากไว้กับผู้สูงอายุ” ประจักษ์กล่าว
- อัปเดตข่าวล่าสุด เลือก สว. 2567 เกาะติดผลการเลือก สว. ได้ที่ https://thestandard.co/thai-senate-election-2024/, Facebook : THE STANDARD และ YouTube : THE STANDARD