×

นันทนาชี้ สว. ควรชะลอการลงมติเลือกตำแหน่งในองค์กรอิสระ เหตุกำลังถูก DSI และ กกต. ตรวจสอบ หวั่นผลลงมติเป็นโมฆะ กระทบระยะยาว

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2025
  • LOADING...
รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส สว. แถลงข่าวเรียกร้องให้ชะลอการลงมติเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างที่ DSI กำลังตรวจสอบที่มาของ สว.

วันนี้ (14 มีนาคม) ที่อาคารรัฐสภา รศ. ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) พร้อมด้วย ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือทนายอั๋น บุรีรัมย์ ในฐานะภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ของ สว. ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กำลังตรวจสอบ

 

นันทนากล่าวว่า ในวันอังคารที่ 18 มีนาคมนี้ ที่ประชุมวุฒิสภามีวาระที่จะเข้ามาคือการเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ซึ่งในกระบวนการที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้นยังเป็นที่กังขาของสาธารณชนโดยทั่วไป เพราะขณะนี้การตรวจสอบที่มาของ สว. ทั้งหมดอยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ DSI แล้ว ซึ่งประชาชนก็ยังสงสัยการได้มาซึ่ง สว. ทั้งหลาย 

 

ดังนั้นหากจะมีการลงมติในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากการดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระนั้นมีวาระ 7 ปี ถ้า สว. ที่ไปลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากบุคคลนั้นเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว เมื่อการตรวจสอบมีปัญหาว่าไม่สุจริต ก็จะทำให้ผู้ที่เป็น สส. นั้นขาดคุณสมบัติ และถ้าคนที่เป็น สว. ขาดคุณสมบัติแล้วไปลงมติเห็นชอบให้กับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จะส่งผลให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนั้นเป็นโมฆะ และจะเป็นผลกระทบระยะยาว 

 

นันทนาจึงขอเรียกร้องให้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดชะลอการลงมติเห็นชอบองค์กรอิสระในวันที่ 18 มีนาคมนี้ไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบจนสิ้นสงสัยว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว. นั้นสุจริตโปร่งใส แล้วค่อยมาทำหน้าที่ลงมติกันต่อ ซึ่งก็จะไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว 

 

ขณะที่ภัทรพงศ์ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงมติในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ด้วยข้อห่วงใย 3 ประการ คือ 

 

  1. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันพ้นจากวาระไปแล้ว 2 ท่าน ยังคงเหลืออยู่ 7 ท่าน ซึ่ง 7 ท่านนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

 

  1. แม้ สว. กลุ่มดังกล่าวจะอ้างว่าตนเองยังบริสุทธิ์อยู่ แต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ จะทำให้ไม่มีความสง่างาม

 

  1. กลุ่ม สว. ได้แถลงข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง และแสดงตนว่าอยู่ขั้วการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล แปลว่าองค์กรอิสระที่ สว. คัดเลือกมาก็อาจจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือไม่

 

ภัทรพงศ์เผยว่า ตนเองได้ไปยื่นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนกรณี สว. ใช้เวทีวุฒิสภาเอาผิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดี DSI ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ เนื่องจากทั้งสองท่านก็ปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่หลังจากที่ สว. กลุ่มดังกล่าวไปยื่นต่อ ป.ป.ช. ให้เอาผิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดี DSI ต่อมาเพียงวันเดียว ป.ป.ช. ก็รับคำร้องไว้แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันอังคารที่ 18 มีนาคมนี้ วุฒิสภาที่จะมีการประชุมและลงมติลับ เพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานได้ส่งชื่อมาให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติ ประกอบด้วย ศ. ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรับตำแหน่งแทน ศ. ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน

 

และ ชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรับตำแหน่งแทน ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising