×

สว. 67 : ศาลชี้กฎหมายว่าด้วยการเลือก สว. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เสี่ยงเกิดความเสียหายร้ายแรง

โดย THE STANDARD TEAM
05.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (5 มิถุนายน) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดี (วิเตือน งามปลั่ง) ในคดีหมายเลขดำที่ 899/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 เรื่องการเลือก สว. หรือไม่ เนื่องจากไม่มีมาตรการป้องกันการฮั้วในการเลือก สว.

 

นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ประกอบด้วย ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากจังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดสระบุรี, จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดราชบุรี ในคดีหมายเลขดำที่ 912/2567 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 เกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 เรื่องการเลือก สว. หรือไม่

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองคดีโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีโดยมติเสียงข้างมาก (4 ต่อ 1) (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม) มีคำสั่งรับคำร้องทั้งสองไว้พิจารณาว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภามาตราดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่

 

โดยผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาตรการ หรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ายังไม่ปรากฏว่าจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง

 

อีกทั้งหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าจะเกิดความเสียหายดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่และอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย

 

ห้ามผู้บริหารท้องถิ่นลง สว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาวินิจฉัยคดีที่ศาลจังหวัดนครนายกส่งคำโต้แย้งของจำเลย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามว่าผู้ลงรับสมัคร สว. ต้องไม่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันรับสมัคร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือไม่

 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (24) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X