วันนี้ (10 กันยายน) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 11 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ ซึ่งเสนอโดย เศรณี อนิลบล สว. และ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.
นพ.เปรมศักดิ์ นำเสนอญัตติตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อวานนี้มีชาย 3 คนถามตนว่าทำไมไม่แก้ไข ทำไมต้องศึกษา หากศึกษาไม่ต้องตั้ง กมธ. ซึ่งไม่ขอบอกว่าเป็นใคร แต่มีส่วนสูงกว่าตน และตนไม่ได้กลัว แต่อย่ามารุม ขอให้มาทีละคน
“วันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนมีการประชุม มี พล.อ. คนหนึ่งโทรศัพท์หาผม ไม่ใช่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 บอกให้ผมล้มเลิก ผมบอกล้มเลิกอย่างไร เพราะวันพุธที่แล้วคุยกันแล้วบอกว่ามีการขอ กมธ. 30 คน ขอ สว. 20 คน เป็นคนนอก 10 คน โดยในส่วนของ สว. ขอเป็นกลุ่มใหญ่ 15 คน และกลุ่มเล็ก 5 คน แบบนี้ต้องมาขอเหมือนเป็นขอทาน แต่สุดท้ายก็บรรลุข้อตกลงว่า สว. มาจากบ้านใหญ่ 15 คน และ สว. เสียงส่วนน้อย 5 คน หากผมพูดความเท็จให้ฟ้าผ่าร่างเป็น 2 ซีก ผมยินดีตายกลางสภา ผมขอให้พิสูจน์กันหน่อยว่าทำไมกลับไปกลับมา แม้ผมไม่ใช่นายพล แต่รักษาสัจจะ และ พล.อ. คนนี้ยังบอกว่าหากอภิปราย ขอให้จบ ไม่ต้องตั้ง กมธ. ผมงง” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
ต่อมา พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา สว. ลุกขึ้นยอมรับว่าเป็นคนโทรหา นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อไม่ให้เคลือบแคลงสงสัย พล.อ. ที่กล่าวถึง คือตนเองที่โทรหา นพ.เปรมศักดิ์ เป็นการปรึกษาว่ามีหลายคนและควรฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ขอให้ นพ.เปรมศักดิ์ ถอยได้หรือไม่ ผิดถูกหรือไม่ แต่เป็นความจริง
ขณะที่เศรณีกล่าวอภิปรายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือร้องไห้ว่า ในฐานะ สว. ที่เป็นตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เข้าใจดีถึงความเดือดร้อนยากลำบากของเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ญัตตินี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรตั้ง กมธ. ขึ้นมาศึกษาเร่งด่วน ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้แต่เยียวยา จ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม แต่เกษตรกรไม่ต้องการ อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนเป็นระบบ แต่ทำไม่ได้ แม้จะศึกษาแนวทางแก้ปัญหามาหลายครั้ง
“เก่งกันนักเรื่องศึกษา แต่ไม่เคยทำ ไม่เคยเห็นรัฐบาลใดจริงใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง การแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ทำแบบเกาไม่ถูกที่คัน ผมพูดจากความรู้สึกอัดอั้นตันใจ ทำไมสภาไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่คิดช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน แก้ปัญหาเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังครูใหญ่ทุกอย่าง” เศรณีกล่าว
หลังสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะตั้ง กมธ. โดย อลงกต วรกี สว. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. เพราะกว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องใช้เวลานาน ไม่รู้จะถึง 25 ปี หรือไม่ ก่อนที่อลงกตจะทำท่าแกล้งร้องไห้
“ฟังแล้วก็อยากจะร้องไห้เหมือนกันครับ แก้กันมานานยังแก้ไม่ได้สักที มีกระดาษทิชชูไหมครับ อึดอัดใจเหลือเกิน อยากให้มีการแก้เร็วๆ และแก้ปัญหาชาวบ้านเร็วๆ นะครับ” อลงกตกล่าว
สุดท้ายที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย 127 เสียง เห็นด้วย 48 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ถือว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.