วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา นำโดย มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา, พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ประชุมหารือกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมรับคดีการฮั้วเลือกตั้ง สว. 2567 เป็นคดีพิเศษ โดยมีประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 21 คณะ ร่วมประชุมด้วย ซึ่งเป็นการหารือภายในแบบลับ และภายนอกห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ภายหลังการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีการแถลงข่าว เนื่องจากกรณีที่ DSI เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษในวันพรุ่งนี้ (25 กุมภาพันธ์) เพื่อมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 เป็นคดีพิเศษนั้น ได้มีการหารือกับรองประธานวุฒิสภา และ สว. จึงขอแถลงข่าวชี้แจงในประเด็นต่างๆ ต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
ประการที่ 1 แต่เดิม ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การจัดการเลือกตั้ง สส. เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารคือกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แต่มีการเอื้อกันและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม จึงแก้ไขให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายองค์กร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารรวมทั้ง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบัญญัติสืบต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติให้การจัดการเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายไม่ให้ถูกแทรกแซงโดยฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใด รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการคดีพิเศษ”
มงคลกล่าวต่อไปว่า ประการที่ 2 เมื่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต. แล้ว การที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงข่าวว่า DSI รับคำร้อง และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นคดีพิเศษ โดยที่ กกต. ยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวหรือมอบหมายให้ DSI ดำเนินการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจของ DSI
อีกทั้งการตั้งข้อหาอั้งยี่และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และ 116 กับสมาชิกวุฒิสภา ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อหาและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้ายหรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานต่างๆ ดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่ สว. ที่ถูกกล่าวหาได้สมัครเข้ารับการเลือกและผ่านกระบวนการเลือกมาอย่างถูกต้อง จนกระทั่งได้รับการรับรองจาก กกต. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
มงคลชี้ว่า การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เป็นไปตามข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นเครื่องมือ โดยส่อเจตนาที่จะทำลายองค์กรวุฒิสภาด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับต่างๆ อันทำให้วุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภาถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เพื่อล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ
“เราไม่กลัวการตรวจสอบ เราพร้อมและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่คือ กกต. มาโดยตลอด ขอเอกสารก็ส่งให้ เรียกบุคคลไปให้ถ้อยคำก็ไป ทุกคนพร้อมที่จะทำให้กับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่พยายามเข้ามาแทรกแซงหรือตรวจสอบเรา ดังนั้นที่ประชุมในวันนี้ได้มีมติร่วมกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” มงคลกล่าว
ส่วนการรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษจะมองว่าเป็นการล้ม สว. ชุดนี้หรือไม่นั้น มงคลตอบว่า เราไม่อาจทราบเจตนารมณ์ของใครได้ แต่พฤติการณ์ต่างๆ ที่ออกมา ทั้งการประโคมข่าว รวมถึงการเผยแพร่เอกสารลับ ก็ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ
อย่างไรก็ตาม มงคลยืนยันว่า ไม่มีความคิดจะนำข้อมูลไปให้ สส. ฝ่ายค้าน เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ
“เราทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราไม่มีสังกัด เราก็ทำของเรา เขาก็ทำของเขา เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องตั้งมั่นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความยุติธรรม เรื่องนี้เราตอบไม่ได้ และเราไม่ได้มีความคิดที่จะทำ” มงคลกล่าว
มงคลยังยืนยันด้วยว่า เราไม่ได้กลัวการตรวจสอบ แต่เราพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และปฏิเสธว่าไม่ทราบเกี่ยวกับกระแสข่าวว่ามีการโทรล็อบบี้บุคคลในคณะกรรมการคดีพิเศษ
ด้าน พล.อ. เกรียงไกร เปิดเผยความคืบหน้าการยื่นถอดถอน พ.ต.อ. ทวี ในฐานะกำกับดูแล DSI โดยระบุว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของ สว. ในการตรวจสอบองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก สว. ทุกคนของเรามาตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบ สว. ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน เราจึงเตรียมการในการอภิปรายทั่วไปในเรื่องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีโอกาสมาตอบคำถาม หรือการตั้งกระทู้ และคาดว่าน่าจะทันในสมัยประชุมนี้