วันนี้ (26 มีนาคม) ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) จากกรณีในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่ เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา และ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ
ให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าวว่า ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามญัตติ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) ได้ส่งเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) จัดส่งสำเนารายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม 2568 (ฉบับชวเลข) ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยสั่งรับหรือไม่รับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
รับคำร้อง สว. ยื่นถอดภูมิธรรม-ทวี
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของประธานวุฒิสภา ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
เรื่องดังกล่าว พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา รวม 92 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) โดยกล่าวอ้างว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในฐานะประธานกรรมการคดีพิเศษ และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะรองประธานกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเสนอเรื่องขอให้ตรวจสอบกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ต่อคณะกรรมการคดีพิเศษ
ทั้งนี้ เพื่อมีมติให้การกระทำความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการแทรกแซงหรือครอบงำหน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการกลั่นแกล้ง กดดัน ข่มขู่ และครอบงำสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
พร้อมทั้งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสองไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (4)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีขอให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในชั้นนี้ยังไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่