×

ส.ว. ผ่านกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ เพื่อป้องกันกระทำผิดซ้ำทางเพศ ส่ง ครม. พิจารณาดำเนินการต่อ

โดย THE STANDARD TEAM
12.07.2022
  • LOADING...
ฉีดไข่ให้ฝ่อ

วานนี้ (11 กรกฎาคม) ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … โดยเนื้อหาร่างกฎหมายมีจำนวน 43 มาตรา มีกรรมาธิการแก้ไข 12 มาตรา สงวนความเห็น 5 มาตรา โดยไม่มี ส.ว. เสนอแปรญัตติ 

 

สมาชิกได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมาตรา 21 เรื่อง มาตรการทางการแพทย์ที่เปิดช่องให้มีการฉีดยาลดฮอร์โมนเพศแก่ผู้กระทำผิด มี ส.ว. ให้ความสนใจอภิปรายหลายคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ อาทิ 

 

พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม อภิปรายว่า การฉีดยาให้ฝ่อถือเป็นความลำบากของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการฉีดให้ฝ่อไว้ คงไม่มีแพทย์คนใดทำให้แน่ หากจะทำได้แพทยสภาต้องไปออกหลักการในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้รองรับไว้ก่อน รวมถึงมาตรา 21 ระบุอีกว่า การฉีดให้ฝ่อจะกระทำได้หากผู้กระทำผิดหรือเว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น อยากทราบคำว่า ‘กฎหมายระบุไว้เป็นอย่างอื่น’ คืออะไร เพราะเหมือนเขียนแบบตีเช็คเปล่า เปิดช่องให้ผู้กระทำผิดถูกฉีดยา แม้ไม่ยินยอมก็ตาม 

 

ส่วน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว. อภิปรายว่า การฉีดยาดังกล่าวไม่ได้หมายถึงทำให้ไข่ฝ่อ แต่เป็นยาลดฮอร์โมนทางเพศ หลายคนบอกว่าไม่ได้อยากทำผิด แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เวลาเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จึงอยากให้ช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ 

 

ส่วนข้อสงสัยว่าผู้กระทำความผิดต้องยินยอมให้ฉีดจึงจะกระทำได้ แล้วจะมีคนยินยอมให้ฉีดหรือไม่นั้น เชื่อว่ามีคนยินยอม โดยคนที่ยินยอมให้ฉีดคือคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมถึงถ้ายินยอมให้ฉีดจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษให้เบาลง ทำให้มีโอกาสได้รับความยินยอม  

 

ขณะที่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณามาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง วุฒิสภา ชี้แจงว่า ข้อกังวลถึงวิธีการรักษาด้วยรูปแบบอื่นนั้นไม่ใช่การใช้วิธีการรุนแรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ป่วยอย่างที่อภิปรายกัน แต่ต้องเป็นวิธีการที่ผ่านความเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดไว้ว่า ต้องมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 คนต้องเห็นพ้องต้องกัน และต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คน จึงไม่ต้องกังวล และการจะดำเนินการทั้งหมดต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย 

 

ด้าน พล.อ.นพ.ไตรโรจน์ ครุธเวโช ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาคือยาลดฮอร์โมนเพศชาย เพื่อกดการสร้างฮอร์โมน์ที่ต้องฉีดทุก 3 เดือน แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าทำให้ไข่ฝ่อจริงหรือไม่ แต่ต่อไปจะมียากินที่ขณะนี้พบว่าช่วยลดพฤติกรรมผิดปกติได้ 

 

ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับให้แพทย์ฉีดยาให้ฝ่อนั้น เชื่อว่าหลังกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ทางแพทยสภาจะไปออกกฎหมายเพื่อรองรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป 

 

ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยคะแนน 145 ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X