×

กมธ. กิจการศาลฯ จัดถกเข้มแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ธีระ-ปิยบุตร-อนุสรณ์ ย้ำถึงเวลาแตะหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ชี้มีปัญหาเพียบ

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (13 กันยายน) ที่โรงแรมเอเชีย (ราชเทวี) คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จัดกิจกรรม ‘อนาคตประเทศไทยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ’ โดยเริ่มต้นด้วยการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ’ โดย กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการกฤษฎีกา ซึ่งระบุว่า ถ้าเราจะมีข้อสรุปที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สิ่งสำคัญคือ ต้องเขียนกฎหมายให้ง่าย ชัดเจน อย่าสลับซับซ้อน อย่าปล่อยให้เกิดศรีธนญชัยมาตีความจนกลายเป็นคนละเรื่องคนละราว ไม่ต้องเขียนว่าภายใต้บังคับมาตรานั้นมาตรานี้ จนต้องพลิกกลับไปกลับมาหลายตลบ หรือพลิกดูหลายเล่ม และเมื่อเขียนเสร็จแล้วต้องนำไปประเมินว่าสามารถปฏิบัติได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญของเราที่ผ่านมาเขียนเสร็จแล้วทิ้ง ไม่คิดว่าปฏิบัติได้หรือไม่ โดยตัวอย่างชัดเจนคือระบบเลือกตั้งที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนผิดด้วยซ้ำ ไม่ได้ไปทดสอบ คนเขียนหลบหายไป มีแต่พระอันดับมาตอบโดยที่ไม่รู้เรื่อง และโยนกันไปมาระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งกับศาลรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายก็ทำให้เราได้ ส.ส. บัตรเขย่ง ได้ ส.ส. คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ มาอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและสร้างปัญหาเรื่อยมา ซึ่งเรื่องนี้ถ้าอยู่ในสภาวะปกติถูกดำเนินคดีแน่นอน แต่นี่เราอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

 

“อีกเรื่องคือในส่วนของบทเฉพาะกาล การเขียนมี 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก ถ้าเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล บทเฉพาะกาลจะไม่ไปกระทบตามหลักสุจริต คนที่อยู่ในตำแหน่งจะอ้างได้ว่าต้องอยู่ให้ครบวาระ แต่อีกแนวทางคือ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องส่วนรวม ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้นเมื่อเห็นปัญหาจากตัวบุคคล การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ มีวิธีการสรรหาใหม่แล้ว ในส่วนของเดิมแม้เพิ่งดำรงตำแหน่งก็ต้องให้พ้นทันที ไม่ต้องรอให้ครบวาระ ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ รอให้ครบวาระรัฐธรรมนูญก็คงไม่ได้ใช้ เผลอๆ ครบวาระแล้วรัฐธรรมนูญอาจเปลี่ยนใหม่อีกแล้วก็ได้ นี่คือบทเฉพาะกาล ต้องระวัง เพราะการเขียนกฎหมายเขามักจะคิดสับสนจะไปรองรับสิทธิ ใช้หลักสุจริตกับเรื่องส่วนรวมแบบรัฐธรรมนูญไม่ได้” กมลชัยกล่าว

 

จากนั้นเข้าสู่การเสวนาในหัวข้อ ‘อนาคตประเทศไทยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ’ โดย ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญควรมีการแก้ไขและทบทวน 3 ส่วน คือ 1. องค์กร 2. การใช้อำนาจหน้าที่ และ 3. การมีระบบตรวจสอบ ทั้งนี้ องค์กรศาลรัฐธรรมนูญต้องปรับให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน ขณะที่อำนาจหน้าที่นั้นมองว่ามีมากไป เพราะส่วนหนึ่งนอกจากอำนาจดั้งเดิมแท้จริงแล้ว ยังมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เข้าไปตรวจสอบเรื่องการเมืองค่อนข้างมาก นั่นคือ ทำไมอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนี้ต้องไปแปลงปัญหาทางการเมืองเป็นปัญหาทางกฎหมาย และไปก้าวล่วงอำนาจอื่นๆ จนกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่กุมอำนาจองค์กรเหล่านี้ หรืออาจจะเรียกได้ว่ากุมทิศทางการปกครองของประเทศได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเรื่องดุลยพินิจที่เยอะมาก และบางอย่างเยอะโดยไม่จำเป็น และหลายต่อหลายเรื่อง ถ้าพูดในทางปกครองคือว่าใช้ดุลยพินิจไม่สมเหตุสมผล หรือแม้กระทั่งไม่สุจริตก็ได้

 

“อีกเรื่องคือการมีระบบตรวจสอบ ศาลรัฐธรรมนูญมีระบบตรวจสอบที่อ่อนที่สุดในบรรดาการตรวจสอบองค์กรของรัฐ และการที่เป็นการวินิจฉัยศาลเดียว แม้จะทำให้คำวินิจฉัยเป็นเอกภาพ แต่โทษก็คือไม่มีศาลอื่นตรวจสอบที่เป็นระบบตรวจสอบในทางดิ่ง และถ้าอย่างนั้นหากเป็นการตรวจตัวตุลาการ ผู้ออกคำนิจฉัย ว่าเป็นการจงใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือส่อขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่เดิมเคยกำหนดให้วุฒิสภาถอดถอนได้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว วันนี้การตรวจสอบมีเพียง 1. ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตัวเอง 2. การตรวจสอบโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะภาษาข่าวบอกว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน 3. โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูคุณลักษณะต้องห้าม 

 

“สรุปคือ ถ้าเราจะแก้ไข ต้องดูตัวสถาบัน ต้องปรับเรื่องที่มาหรือไม่ ต่อมาคืออำนาจหน้าที่และดุลยพินิจในการพิจารณาคดีควรลดลงหรือไม่ และสุดท้ายระบบการตรวจสอบ ควรรีเซตระบบใหม่ เพื่อทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่กลายไปเป็นองค์กรเหนือรัฐ หรือภาษาเด็กช่างกลเรียกว่าพ่อทุกสถาบัน” ธีระกล่าว

 

ด้านปิยบุตรกล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเกิดปี 2549 เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ เราจะเห็นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่องที่ข้องเกี่ยวแดนการเมือง เช่น การยุบพรรคการเมืองหลายพรรคมาก และยุบแต่ละครั้งก็สะท้อนนัยทางการเมือง ส่งผลทางการเมือง ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปลดนายกรัฐมนตรี 2 คน, ล้มการเลือกตั้ง 2 ครั้ง และขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง ซึ่งคำวินิจฉัยนี้เป็นปัญหาพัวพันวิกฤตการณ์การเมือง มีผลสืบเนื่องจนนำมาสู่การรัฐประหาร ซึ่งเป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะเมื่อไปดูต้นกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็เพื่อรักษาระบอบการปกครอง แต่พอมีรัฐประหาร คำถามคือศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ตรงไหน ทำไมไม่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และที่ย้อนแย้งยิ่งขึ้นอีกคือว่า ก่อนที่จะมีการรัฐประหารยึดอำนาจนั้น ถ้าจำได้รัฐสภาพยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญตามอำนาจที่ตนเองมี แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับบอกว่าไม่เป็นตามหลักประชาธิปไตย แต่ที่นี้พอทหารยึดอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญกลับเงียบ และได้อยู่ทำหน้าที่ต่อไป อย่างนี้ก็เลยทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐประหารกันแน่

 

“ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราจะเห็นว่าการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ถูกตั้งคำถาม และวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ และกองทัพมีส่วนก่อวิฤตการณ์นี้ด้วยทั้งสิ้น แต่ทว่าก็มีความพยายามผลักว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง เป็นเรื่องของผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจกัน ซึ่งไม่จริง องค์กรต่างๆ ที่พูดมามีส่วนด้วย ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนด้วย ดังนั้นถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจึงต้องพูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่ลอยตัวอยู่เหนือทุกองค์กรโดยไม่มีการไปแตะต้อง และสำหรับข้อเสนอของผม มี 2 ทางเลือก คือ 1. ฉีดยาแรง เสนอว่าต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตั้งต้นใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และ 2. ฉีดยาชา เป็นการแก้บางเรื่อง เช่น ที่มาให้เชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่เยอะเกินไป ควรกลับไปที่ตั้งต้นเหตุผลในการเกิดขึ้นของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่เรื่องยุบพรรคการเมืองต้องยุบพรรคที่จะล้มล้างการปกครองจริงๆ ไม่ใช่นำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปดำเนินคดี นอกจากนี้ต้องสร้างระบบตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลรัฐธรรมนูญต้องห้ามยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, เอาระบบถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภากลับมาใช้ใหม่ และยกเลิกกฎหมายละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” ปิยบุตรกล่าว

 

ขณะที่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวว่า สำหรับคำจำกัดความของศาลรัฐธรรมนูญที่อยากจะให้นั้นอาจกล่าวได้ว่า ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา ทั้งนี้ ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กิจกรรมภาคประชาชนจัดเวทีไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญได้ว่า ต้องไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ต้องมาจากการแต่งตั้งรัฐสภามาจากประชาชน เพื่อยึดโยงกับประชาชน โดยให้ ส.ส. เสนอชื่อออกเสียง ต้องมีการตรวสอบถ่วงดุล และประชาชนต้องมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ เราเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องพูดถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างจำเพาะเจาะจงมากขึ้น และอาจจะเป็นไปได้ให้ไกลกว่าศาลรัฐธรรมนูญ คือต้องคิดให้มากขึ้นเรื่องของอำนาจของฝ่ายตุลาการ เนื่องจากอำนาจนิติบัญญัติและบริหารชัดเจนว่าผูกกับประชาชน แต่อำนาจตุลาการนั้นไม่ยึดโยงกับประชาชนเลย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising