วันนี้ (5 สิงหาคม) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ที่มี บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม เข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องด่วน ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
เมื่อเข้าสู่วาระ อลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ลุกขึ้นเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ 15 คน ทันที โดยระบุว่าจะไม่ขอพูดเยิ่นเย้อ ทำให้มีสมาชิกสอบถามว่าได้ตั้งคณะกรรมาธิการไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งบุญส่งอธิบายว่า เรื่องนี้ สว. ชุดก่อนได้พิจารณาไว้เกือบเสร็จแล้ว แต่เราก็ต้องทำหน้าที่ต่อให้ครบถ้วน เพราะตำแหน่งองค์กรอิสระรวมถึงอัยการสูงสุด เป็นหน้าที่ของ สว. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ
สมาชิกแย้ง การเลือกองค์กรอิสระควรนับหนึ่งใหม่
จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. หารือว่า เนื่องจาก สว. ชุดเดิม หมดหน้าที่แล้ว สว. ชุดใหม่ มีโอกาสได้ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบอัยการสูงสุด ถือเป็นโอกาสที่ดี ดังนั้น กระบวนการต้องเริ่มขึ้นใหม่ โดยการตั้งคณะกรรมาธิการใหม่ไม่เกิน 15 คน และต้องเป็นผู้รอบรู้ เข้าใจในกระบวนการ ไม่อยากให้สังคมมองว่าเรามีกลุ่มก้อน จึงควรต้องเฉลี่ยสัดส่วนให้ทุกกลุ่มได้เข้าร่วมพิจารณาในคณะกรรมาธิการอย่างเป็นกลาง
เช่นเดียวกับ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว. ที่อภิปรายว่า ตนเองต้องการเห็นกระบวนการที่เริ่มนับหนึ่งใหม่ เพื่อยืนยันในเอกสิทธิ์ของสภาแห่งนี้ ไม่ต้องการให้การเลือกองค์กรอิสระถูกแทรกแซง ขณะที่ นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายว่า การเลือกองค์กรอิสระมีความสำคัญ แทบจะเป็นหัวใจของการเมือง กรรมาธิการชุดนี้จึงควรเป็นอิสระ ไม่ต้องรับข้อมูลใดๆ จากคณะกรรมาธิการของ สว. ชุดที่แล้ว
“หากเราเลือกบุคลากรที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย หรือยึดโยงกับกลุ่มอำนาจใดๆ ก็จะส่งผลสู่ความบิดเบี้ยวต่อทิศทาง สู่เป้าหมายขององค์กร ดังที่เราเห็นอยู่ เราควรมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ลืมของเดิมไป เริ่มใหม่ให้เป็นความหวังของประชาชน” นันทนากล่าว
ต่อมา อังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายในฐานะของอดีตสมาชิกในองค์กรอิสระ ว่าการเลือกองค์กรอิสระควรดำเนินการอย่างระมัดระวัง แต่มติการประชุมของวุฒิสภาชุดที่แล้วก็ไม่มีความโปร่งใส จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเริ่มกระบวนการใหม่ ไม่ต้องกลัวว่าจะสายเกินไป เพราะมีผู้รักษาการอยู่แล้ว
สรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว. กล่าวว่า ไม่ว่าสมาชิกชุดเก่าหรือชุดใหม่ล้วนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย วุฒิสภาควรทำงานอย่างต่อเนื่องกันตามรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนให้ประธานดำเนินการประชุมต่อไปตามระเบียบวาระ แต่นันทนาได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ 20 คน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ
เปรมศักดิ์โวย เสนอชื่อ กมธ. เป็นชุด สะท้อนภาพสภารีโมต
อย่างไรก็ตาม นิรัตน์ อยู่ภักดี สว. ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อกรรมาธิการ 15 คนอีกครั้ง ทำให้ นพ.เปรมศักดิ์ ประท้วงว่า กระบวนการเสนอชื่อพร้อมกันเป็นชุด 15 คนดูพิกลไปหน่อย และไม่มีเหตุผลเพียงพอ เห็นว่าควรนำสมาชิกที่ความสนใจจริงๆ มาเป็นกรรมาธิการ และควรถามในที่ประชุมก่อน
“ถ้าเอาจากท่านใดท่านหนึ่งที่อาจคุยกันมาแล้ว แน่ใจอย่างไรว่าจะเป็น Dream Team ครับ อาจจะเป็น Bad Dream ก็ได้” นพ.เปรมศักดิ์ แย้ง
จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ ได้เสนอชื่อตัวเองเป็นกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม บุญส่งยืนยันให้พิจารณาต่อ ที่ประชุมจึงเข้าสู่การลงมติผ่านบัตรลงคะแนนเพื่อหาข้อสรุป
แต่ วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. ตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอชื่อเรียงกัน 15 คน จะทำให้ประชาชนที่ติดตามดูในขณะนี้เกิดข้อสงสัยและไม่มั่นใจได้ ขอหารือให้สมาชิกเสนอตนเอง ก่อนที่จะเสนอเป็นชุด เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ไม่เป็นกลุ่มเดียวเกินไป
แล้ว นพ.เปรมศักดิ์ ได้ท้วงติงประธานว่า ตนเองได้เสนอชื่อตนเองก่อนหน้านี้ จำได้หรือไม่ ส่วนการเสนอเป็นชุดใหญ่นั้นมาทีหลัง หากเป็นแบบนี้ภาพที่ออกไปคือ สภารีโมต สภาใบสั่ง ซึ่งตนเองรู้สึกอายและไม่ยอม และจะสู้ให้ถึงสว่าง
บุญส่งชี้แจงว่า ไม่ห้ามเสนอตนเอง เป็นสิทธิของ สว. ใครจะได้เป็น ทำให้ นรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. เสนอรายชื่อ สว. ในกลุ่มพันธุ์ใหม่ 10 คน เช่น ประภาส ปิ่นตบแต่ง, เทวฤทธิ์ มณีฉาย, อังคณา นีละไพจิตร, นันทนา นันทวโรภาส, วีรยุทธ สร้อยทอง, ประทุม วงศ์สวัสดิ์ ให้เป็นกรรมาธิการด้วย
ท้ายที่สุด มีสมาชิกเสนอชื่อรวมกัน 34 คน ทำให้ต้องตัดสินด้วยการออกบัตรลงคะแนน บุญส่งจึงสั่งให้พักการประชุม 1 ชั่วโมง ในเวลา 16.06 น. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทำบัตร ก่อนจะกลับมาออกเสียงลงคะแนนเพื่อตัดสิน