×

สนช. นัดเคาะ ‘ร่าง พ.ร.บ. ข้าว’ 20 กุมภาพันธ์นี้ กมธ. แจงยิบ ไม่มีโทษจำคุกชาวนาที่เพาะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เอง

18.02.2019
  • LOADING...
ร่างพระราชบัญญัติข้าว

วันนี้ (18 ก.พ.) พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว ชี้แจงกระแสข่าวการกำหนดให้ชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หากเพาะเก็บเมล็ดพันธุ์เองจะต้องโทษจำคุกและปรับ 100,000 บาทว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากตามเนื้อหาในร่างกฎหมายที่สมาชิก สนช. เสนอต่อที่ประชุมตั้งแต่ในวาระแรกนั้นมีการระบุยกเว้น ไม่ได้บังคับใช้ต่อชาวนาในการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อท้วงติงเรื่องบทกำหนดโทษ กรรมาธิการฯ จึงตัดบทกำหนดโทษทิ้งทั้งหมด โดยชาวนาที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรที่จะต้องขอรับรองพันธุ์ข้าวก่อนเท่านั้น

 

พลเอก มารุต ยังยืนยันด้วยว่าที่ประชุม สนช. จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระที่ 2-3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน

 

ขณะเดียวกันในวันนี้ (18 ก.พ.) กรรมาธิการฯ ยังได้เชิญผู้แทนชาวนามารับฟังความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทั้งเห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างฉบับนี้ที่มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ และสนับสนุนให้ สนช. พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อเนื่องทันทีโดยไม่ต้องรอรัฐบาลหน้า

 

นอกจากนั้นกรรมาธิการฯ ยังได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงข้อบิดเบือนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ อาทิ

 

ประเด็นข่าวพาดหัวว่าชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หากเพาะเก็บเมล็ดพันธุ์เองจะต้องโทษจำคุกและปรับ 100,000 บาท

 

โดยกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าได้พิจารณาอย่างรอบคอบกว่า 2 ปี และได้ปรับรูปแบบการเขียนกฎหมายจากมาตรา 26 เป็นมาตรา 27/1 ที่นอกจากจะยกเว้น ไม่บังคับแก่ชาวนาแล้ว ยังเสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาลที่จะให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับรองพันธุ์ได้ปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบภายในเวลา 3 ปีอีกด้วย ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์และยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ก็ยังสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ตามปกติ แต่เมื่อครบ 3 ปีแล้วก็ยังเปิดโอกาสให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาว่าจะขยายเวลาออกไปหรือไม่

 

ส่วนประเด็นการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนชาวนาทุกคนและให้โรงสีออกใบรับรองข้าวเปลือกนั้น หากพบว่าออกใบรับรองเป็นเท็จจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

 

กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าไม่มีการระบุให้ขึ้นทะเบียนชาวนาทั้งหมด หรือระบุให้โรงสีต้องออกใบรับรองในกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

 

มีเพียงมาตรา 20 ที่ให้ผู้ซื้อข้าวเปลือกออกใบรับซื้อข้าวเปลือกซึ่งเป็นหลักฐานการรับซื้อที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยให้ส่งสำเนาแก่กรมการข้าวเพื่อประกอบการจัดทำฐานข้อมูลเท่านั้น

 

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติข้าวที่เสนอโดย สนช. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ต้องพิจารณาล่าช้า เนื่องจากเข้าข่ายเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำเสนอต่อ สนช. เพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่งยืนยันว่าเป็นการพิจารณาตามขั้นตอนตามปกติ ไม่มีการเร่งรัดแต่อย่างใด

 

อ่านร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. …. ที่กรรมาธิการฯ แก้ไขแล้วได้ที่นี่

web.senate.go.th/bill/bk_data/455-2.pdf?fbclid=IwAR23niMee4Hsc2RY1UtJMy4-uGo5Y-aB68UKGbA4JSa2xRwQdF–Eo4r8kE

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X