×

ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบข้อบังคับ ลดจำนวน กมธ. ให้เหลือ 21 คณะ และตีตกญัตติที่เหลือ

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2024
  • LOADING...
สมาชิกวุฒิสภา (สว.)

วันนี้ (5 สิงหาคม) ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มี มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เข้าสู่วาระพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุม ซึ่งมีผู้เสนอมาทั้งหมด 5 ญัตติ โดยเฉพาะในหมวดเกี่ยวกับกรรมาธิการสามัญที่มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้

 

เพิ่มจำนวน กมธ. เป็น 28 คณะ

 

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มการสาธารณสุข เสนอให้เพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาเป็น 28 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการไม่น้อยกว่า 9 ท่าน แต่ไม่เกิน 18 ท่าน

 

พร้อมเสนอให้เปลี่ยนแปลงบางคณะ เช่น แยกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ออกมาเป็นคณะกรรมาธิการตำรวจโดยเฉพาะอีก 1 คณะ และแยกคณะกรรมาธิการการกีฬา ออกมาจากคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาใหม่ เช่น คณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ, แยกคณะกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ ออกมาจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงแยกคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง ออกมาจากคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง

 

เพิ่มอำนาจเร่งรัดการบริหารราชการ

 

ขณะที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. กลุ่มประชาสังคม เสนอให้ปรับปรุงคณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับภารกิจของวุฒิสภาที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงความรู้ อาชีพ และประสบการณ์ของ สว.

 

ประภาสเน้นย้ำที่ประเด็นการยกเลิกความในข้อ 78 ของข้อบังคับการประชุมฯ แล้วเพิ่มข้อความว่า ‘เร่งรัดการบริหารราชการแผ่นดิน’ เพราะที่ผ่านมาวุฒิสภามีหน้าที่เพียงติดตามและเสนอแนะ หากเพิ่มข้อความดังกล่าวจะทำให้เกิดความชัดเจนในบทบาทของวุฒิสภา นอกจากนี้ยังเห็นควรว่าคณะกรรมาธิการแต่ละคณะมีความสอดคล้องกับกลุ่มอาชีพและที่มาของ สว. เป็นผู้มีประสบการณ์ เป็นที่ยอมรับของสังคม

 

ชงเปิดผลลงมติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

จากนั้น เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. กลุ่มสื่อสารมวลชน เสนอญัตติเพิ่มเติมข้อบังคับให้แตกต่างจากข้อบังคับของวุฒิสภาชุดที่แล้ว พร้อมเสนอให้ปรับเปลี่ยนข้อบังคับที่เกี่ยวกับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ สว. ต้องประชุมร่วมกับ สส.

 

ญัตติของเทวฤทธิ์เพิ่มเติมให้เปิดเผยการลงมติของสมาชิกให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป และเพิ่มการบันทึกลงในฐานข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ให้เหมือนข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เพียงนำไปแสดงบนกระดานในพื้นที่รัฐสภาเท่านั้น

 

เทวฤทธิ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า มรดกของวุฒิสภาชุดที่แล้วอีกประการคือการแสดงผลการลงมติในที่ประชุมวุฒิสภาจะแสดงเพียงผลการลงมติของ สว. ผู้เสนอญัตติเท่านั้น แต่ สว. คนอื่นแสดงผลเพียงจำนวนนับเท่านั้น เป็นการแอบซ่อนเจตนารมณ์ของตนเอง แต่หวังว่า สว. ชุดปัจจุบันจะไม่เป็นเช่นนั้น

 

ต่อมา เอกชัย เรืองรัตน์ สว. กลุ่มอื่นๆ มีประเด็นที่ขอปรับแก้คือ เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการเพิ่มศักยภาพและแต้มต่อให้คนไทย เพื่อมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้าขาย ให้คนไทย เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤต

 

เอกชัยยังเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การโทรคมนาคม และการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และควรเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเสนอให้เพิ่มคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกัน การบรรเทาภัยพิบัติและสาธารณภัย

 

แม้ลดกรรมาธิการ แต่งบประมาณเท่าเดิม

 

ท้ายสุด พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี สว. กลุ่มอื่นๆ ชี้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาชุดที่แล้วแตกต่างจากชุดปัจจุบัน เพราะชุดที่แล้วมีบทบัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ จึงควรแก้ข้อบังคับในครั้งนี้เพื่อให้ทำงานได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการที่มีภารกิจเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติแล้ว เพราะวุฒิสภาชุดเดิมรวมถึงหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว

 

พล.ต.ท. ยุทธนา ยังชี้ว่า การลดจำนวนคณะกรรมาธิการจะช่วยประหยัดงบประมาณของวุฒิสภาไปได้มาก เพราะไม่ว่าจะมีคณะกรรมาธิการมากหรือน้อย ภาระงานก็เท่าเดิม ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละคณะ จึงเห็นว่าควรปรับลดให้เหลือ 21 คณะกรรมาธิการ เพื่อลดความซ้ำซ้อน และเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ออกมาแทบจะไม่ต่างกัน

 

ภายหลังสมาชิกทั้ง 5 คน เสนอหลักการและเหตุผลของญัตติเสร็จสิ้น ประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบกับญัตติของ พล.ต.ท. ยุทธนา ที่ให้ลดจำนวนคณะกรรมาธิการเหลือ 21 คณะ ด้วยเสียงเห็นชอบ 148 เสียง ไม่เห็นชอบ 39 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง และมีมติเสียงข้างมากไม่รับร่างแก้ไขข้อบังคับของ 4 ญัตติก่อนหน้า

 

จากนั้นที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา จำนวน 21 คน เสนอระยะเวลาการพิจารณา 30 วัน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้เสนอชื่อบุคคลภายนอกที่น่าสนใจ เช่น สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550, วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising