×

ระดมสมองกรองฝุ่น งานเสวนาสไตล์อยากคุยต้องรีบนัด เพราะปัญหา PM2.5 รอไม่ได้ ชัชชาติ-นักวิชาการร่วมถก

06.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ระดมสมองกรองฝุ่น งานเสวนาเล็กๆ ภายในแกลเลอรี The Jam Factory ดวงฤทธิ์ บุนนาค คือโต้โผหลัก เขาบอกว่าอยากคุยต้องรีบนัด เพราะปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องใหญ่
  • มาทำความเข้าใจปัญหานี้จากกูรูหลากหลายด้านว่า PM2.5 คืออะไร เริ่มตรงไหน เกิดจากอะไร จัดการอย่างไร รัฐต้องช่วยอะไร และเราลงมือทำอะไรกับเหตุการณ์นี้ได้ โดยเริ่มจากตัวเราเอง

ด้วยสภาพมลภาวะฝุ่นควันพิษในกรุงเทพฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นปี 2562 จนทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลประสบอาการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้จำนวนมาก

 

The Jam Factory จึงได้เรียนเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสภาพมลภาวะฝุ่นละอองเพื่อระดมสมอง กรองปัญหา และแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษเพื่อให้ชีวิตของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลดีขึ้นและอยู่รอดปลอดภัย

 

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้จัดงานและผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญวิทยากรแต่ละท่านเพื่อตอบปัญหาเรื่องฝุ่นละอองตามความเชี่ยวชาญภายใต้ชื่องาน ‘ระดมสมองกรองฝุ่น’ ดังต่อไปนี้

 

 

ผุดแอปฯ แจ้งเตือนจุดก่อเหตุฝุ่น กำหนดภาษีสิ่งแวดล้อม

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมว่ามลภาวะฝุ่นละอองเกิดจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลสูงและการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ทำให้แนวโน้มรถยนต์ขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมากขึ้น และการปล่อยราคาน้ำมัน NGV ให้ลอยตัวทำให้รถยนต์พลังงานสะอาดลดน้อยถอยลง

 

การเปลี่ยนรถเมล์สาธารณะที่เก่าและสร้างมลภาวะเป็นไปได้ยาก เพราะเกิดการร้องเรียนมาก การก่อสร้างที่รถบรรทุกวิ่งในเวลากลางคืนจนรุ่งเช้าโดยขาดการป้องกัน เมื่อฝุ่นฟุ้งกระจายก็ทำให้เวลาเช้ามืดมีปัญหาฝุ่นรุนแรง การแก้ไขคือต้องให้ผู้สร้างมลภาวะมารับผิดชอบต่อสังคม ใช้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์มาอุดหนุนเชื้อเพลิงสะอาด หรือกำหนดภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาความสะอาดของสภาพอากาศเมือง และรวมพลังของประชาชนแจ้งเตือนจุดก่อมลภาวะโดยใช้แอปพลิเคชันที่มีแพลตฟอร์มช่วยเหลือกัน โดยดร.ชัชชาติได้ทดลองเขียนแอปฯ ต้นแบบแจ้งเตือนเหตุของฝุ่นมานำเสนอ

 

 

รัฐไทยตั้งค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 สูงกว่าองค์การอนามัยโลก ประสานอาเซียนลดการเผา

รศ.ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าภาครัฐไทยตั้งค่าเกณฑ์มาตรฐานมลภาวะของฝุ่น PM2.5 ไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกคือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งแม้กระทั่งค่ามาตรฐานในบริบทสังคมไทย เราก็ยังประสบปัญหาฝุ่นอย่างต่อเนื่องมา 8 ปีแล้วโดยไม่รู้ตัว

 

ช่วงที่หยุดยาว รถยนต์หายไปจากกรุงเทพฯ ปริมาณฝุ่นจะลดลงอย่างชัดเจน และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากลมบนจากการเผาของประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียนมีสนธิสัญญาร่วมเพื่อป้องกันมลภาวะจากการเผา เราจึงต้องประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาและเกิดฝุ่น และในประเทศก็มีการเผาเช่นกัน จึงต้องมีโดรนหรือเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนและชี้เป้าเพื่อตรวจ

 

 

บังคับใช้กฎหมายจราจร-ก่อสร้าง ต้องนำปัจจัยสภาพอากาศมาคิดรวม

ดร.ภาณุ ตรัยเวช จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าฝุ่นที่ลดลงมากในฤดูฝนเกิดจากความชื้นในอากาศสูง แต่เมื่อเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่อากาศแห้งจะทำให้เกิดฝุ่นง่าย รวมถึงการเกิด Inversion เป็นฝาครอบฝุ่นเอาไว้ในเวลาเช้า เนื่องจากอากาศช่วงเช้าด้านบนเป็นอากาศเย็นที่กดไอฝุ่นไม่ให้ลอยขึ้นสู่ด้านบน เมื่อยามบ่ายจะดีขึ้น แต่เมื่อมีคลื่นอากาศร้อนมากดทับไว้อีกชั้น ทำให้ชั้น Inversion เกิดถาวรทั้งวัน โดยสามารถคาดการณ์ว่าอย่างน้อยเดือนมีนาคมจะดีขึ้น และเมื่อฤดูฝนเข้ามาในเดือนพฤษภาคมก็จะลดลง การบังคับใช้กฎหมายสามารถนำไปใช้ควบคุมทั้งการจราจรและการก่อสร้าง ควรนำปัจจัยทางสภาพอากาศเข้ามาคิดรวมกันด้วย

 

 

ต้องวางแผนรับมือปีหน้า พัฒนาแอปฯ ราชการให้ข้อมูลเรียลไทม์

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่า เราเพิ่งรับรู้ความสำคัญและความอันตรายของฝุ่น PM2.5 เมื่อปีที่แล้วที่กรมควบคุมมลพิษซื้อเครื่องตรวจวัดมาเพิ่ม และมีกระแสความตื่นตัวและแตกตื่นในปีนี้มากเป็นปีแรก

 

ผู้คนรู้สึกว่าถูกปกปิดข้อมูล มาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้นั้นขาดการตรวจสอบในทางวิทยาศาสตร์ และการเตือนทางโซเชียลนั้นมีความแม่นยำต่ำ หาความจริงได้ยาก แอปฯ ของกรมควบคุมมลพิษเองก็รายงานย้อนหลัง 24 ชั่วโมง ทำให้การรายงานไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้คนเชื่อข้อมูลจากโซเชียลมากกว่าภาครัฐ ประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ภาวะวิกฤตและสามารถซื้อเครื่องตรวจวัดมลภาวะมาวัดได้เอง เราควรวางแผนเตรียมรับมือในปีหน้าได้แล้ว

 

 

พบเด็กป่วยนอนโรงพยาบาลมากขึ้น โรงเรียนต้องตระหนักก่อนเป็นที่แรก

ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ ผู้สื่อสารด้านสาธารณสุขจากเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ให้ความเห็นว่าฝุ่นจิ๋ว 2.5 ไมครอนนั้นเล็ดลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าไปสู่ปอดชั้นล่างและเข้าไปยังเส้นเลือดได้ ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็ก และผู้สูงอายุ และทำให้เกิดภาวะโรคทางเดินหายใจและโรคหลอดเลือดได้มากขึ้น

 

หมอเด็กทั่วประเทศพบเด็กเข้านอนในโรงพยาบาลมากขึ้นและมีผลตั้งแต่ในท้องแม่ ทำให้เด็กทารกแรกคลอดตัวเล็กหรือคลอดก่อนกำหนดได้ วัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่เปิดโล่ง และความตระหนักรู้ที่ผ่านมายังน้อย วิกฤตในปีนี้ทำให้เกิดความตระหนักรู้มากขึ้น และควรให้โรงเรียนตระหนักก่อนเป็นอันดับแรกในเรื่องนี้

 

 

การได้รับอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นต่ำที่มนุษย์พึงได้รับ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอ

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเมือง คือการออกแบบเมืองผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมกับรัฐศาสตร์เพื่อให้เมืองนั้นมีชีวิตที่ดีขึ้น ปัญหาในปัจจุบันคือประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐ ไม่เชื่อถือ การได้รับอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นต่ำที่มนุษย์พึงได้รับ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอ ประชาชนควรมีสิทธิ์กำหนดเมืองให้ตัวเองมีสุขภาพดีได้

 

แต่เมื่ออยู่ในสภาพรัฐบาลที่ไม่ปกติ ทำให้นักวิชาการและข้าราชการไม่สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้ ต้องรับใช้ผู้บังคับบัญชาเป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (Climate Change) ทำให้เกิด Microclimate ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน การวางแผนเมืองต้องไปดูสภาพอากาศในพื้นที่ให้เหมาะสม และการปกครองของกรุงเทพฯ นั้นล้าหลัง ประชาชนไม่สามารถเลือก ผอ.เขต ส่วน ส.ก. และ ส.ข. ไม่มีหน้าที่ชัดเจน ไม่เหมือนต่างจังหวัดที่มีการกระจายอำนาจ ทำให้ขาดผู้รับผิดชอบในการทำงาน การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจึงต้องเริ่มจากอำนาจของประชาชนก่อน

 

การเสวนาครั้งนี้ยังมีช่วงตอบคำถามที่ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมงานอย่างมาก ซึ่งทางผู้จัดงานหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐ ภาคองค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจมาเข้าร่วมชมและฟังวิทยากรทุกท่านให้ความรู้ ส่วนเราในฐานะประชาชนที่ต้องอยู่กับสภาพนี้ก็ต้องพึ่งตนเองไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising