×

SEE LV นิทรรศการที่ทำให้เห็นว่าทำไม Louis Vuitton ยังคงขับเคลื่อนสังคมและวงการแฟชั่น 168 ปีต่อมา

16.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นิทรรศการ SEE LV จัดอยู่ใจกลางซิดนีย์ ณ สวน First Fleet Park ในโครงสร้างกล่องสี่เหลี่ยมมุมฉากคล้ายทรงหีบ (Trunk) ซึ่งเป็นรูปทรงสินค้าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ทาง Louis Vuitton ได้จัดต่อจากเมืองอู่ฮั่น ดูไบ และโตเกียว
  • นิทรรศการ SEE LV แบ่งแยกออกเป็น 5 ห้องหลัก ‘Finding Louis’, ‘In Fashion’, ‘Bag Stories’, ‘Evolutionary Gallery’ และ ‘Around Monogram’ บวกกับได้เนรมิตห้องสมุดไซส์มินิชื่อ Édition Louis Vuitton ที่เต็มไปด้วยหนังสือมากมาย 
  • งานเปิดตัว SEE LV จบลงอย่างน่าประทับใจด้วยการแสดงโชว์โดรนสุดพิเศษกว่า 100 ตัวที่บินอยู่ฝั่งตรงข้าม First Fleet Park ติดกับ Sydney Opera House ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสด Live Stream ผ่าน Instagram Official Account: @louisvuitton ด้วย
  • SEE LV เป็นงาน Brand Activation ที่มีความ ‘Inclusive’ ที่คุณไม่ต้องซื้อ Louis Vuitton ก็ได้ แต่อย่างน้อยหากคุณเจียดเวลามาสัก 20 นาที คุณก็จะเห็นว่าที่จริงแล้วแบรนด์ Louis Vuitton ก็มีเรื่องราวที่สวยงามและสำคัญต่อวัฒนธรรมเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าแบรนด์ในธุรกิจหมวดอื่น

 

“ใครไม่รู้จัก Louis Vuitton บ้าง”

 

นี้คือหนึ่งในประโยคที่ จองโฮยอน เคยได้พูดเอาไว้ในวิดีโอยูทูบชื่อ ‘Intimate conversations with Squid Game Star Hoyeon’ ช่วงที่เธอได้เข้ามาเป็น Global Brand Ambassador ใหม่ๆ ของแบรนด์ลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก

 

ประโยคนี้มันวนเวียนอยู่ในหัวผมตลอดเวลาทุกครั้งที่เดินผ่านร้าน Louis Vuitton ที่สยามพารากอนและเห็นคิวยาวมาก หรือตอนดูแฟชั่นโชว์ Men’s Spin-Off Fall/Winter 2022 ที่มาจัดอย่างยิ่งใหญ่ในบ้านเราเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ผมกลับสงสัยคือคนรู้จักแบรนด์นี้จริงๆ มากน้อยขนาดไหน…รู้แค่ว่าเป็นแบรนด์ลักชัวรีอันดับต้นๆ ของโลกจากฝรั่งเศสที่ใส่เสื้อผ้าหรือถือกระเป๋าแล้วจะดูสวยปัง? หรือรู้แค่ว่าเป็นแบรนด์ที่ยูทูเบอร์หลายคนชอบมาทำคอนเทนต์แบบ Unbox เพื่ออวดทรัพย์สินในบัญชี? ซึ่งผมว่าไม่ผิดอะไรนะ เพราะเรื่องราวของแบรนด์มีหลากหลายมิติ และคนเราก็จะโฟกัสด้านไหนก็แล้วแต่เลย 

 

แต่ผมก็เชื่อว่ามันมีอะไรอีกมากมายที่น่าค้นหาและจะช่วยตอบว่าทำไม 168 ปีต่อมาตั้งแต่ Louis Vuitton ก่อตั้งเมื่อปี 1854 คนยังใฝ่ฝันและคลั่งไคล้แบรนด์นี้มากกว่าเดิมอีก ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปกับ Louis Vuitton ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พร้อมกับ พี่แอน ทองประสม, น้องนาย ณภัทร และสื่อนิตยสารแฟชั่นหัวหลักอีก 4 เล่ม คือ Vogue, Harper’s Bazaar, L’officiel และ Elle Thailand เพื่อไปชมนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่ SEE LV ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่ทาง Louis Vuitton ได้จัดต่อจากเมืองอู่ฮั่น ดูไบ และโตเกียว

 

ด้านนอกของ นิทรรศการ SEE LV ที่ First Fleet Park

 

โซน Reception ของ SEE LV

 

INTRODUCING SEE LV

นิทรรศการ SEE LV จัดอยู่ใจกลางซิดนีย์ตรงข้าม Sydney Opera House ณ สวน First Fleet Park ในโครงสร้างกล่องสี่เหลี่ยมมุมฉากคล้ายทรงหีบ (Trunk) ซึ่งเป็นรูปทรงสินค้าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ พร้อมตกแต่งด้วยลวดลาย Pixel สีฟ้าขาวและ QR Code ที่สามารถสแกนได้จริง แค่ผมเห็นตัวโครงสร้างจากภายนอกแล้วก็รู้เลยว่าจะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กชั่วคราวแบบสั้นๆ ที่คนต้องอยากไปเช็กอินถ่ายรูปเพื่อลงโซเชียลมีเดีย

 

ก้าวเข้าไปในตัวนิทรรศการที่โซน Reception สิ่งแรกที่จะพบเจอก็คือประติมากรรมจิงโจ้และโคอาลาที่ทำมาจากการนำกระเป๋าหนังลายโมโนแกรมหลายๆ ใบของ Louis Vuitton นำมาต่อกัน ซึ่งก็ถือว่าเป็น Local Touch ที่น่าสนใจ และผมก็แอบถามหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของแบรนด์ประจำประเทศไทยแบบเล่นๆ ว่า “ถ้า SEE LV มาจัดที่ไทยก็จะเป็นรูปช้างใช่ไหมครับ?”

 

ห้อง ‘Finding Louis’

 

LET’S START THE TOUR

ต่อมาคือโซนห้องที่ 1 ในช่ีอ ‘Finding Louis’ ก็เป็นภาพวาดพอร์เทรตของ เมอซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง ผู้ก่อตั้ง Louis Vuitton ในช่วงวัยหนุ่ม โดยได้ Refik Anadol ศิลปินแนวนิวมีเดียชาวตุรกี-อเมริกันมาตีความ โดยเขาได้ใช้เทคโนโลยี AI นำภาพเล็กๆ แบบไซส์พิกเซลกว่าล้านชิ้นมาประกอบกัน ซึ่งส่วนตัวผมชอบมากๆ เพราะรู้สึกว่า Louis Vuitton ไม่ได้พยายามทำให้นิทรรศการดูล้าสมัย แบบมาเปิดด้วยภาพหรือหีบวินเทจร้อยๆ ปีที่เดาได้ง่าย โดย Christine Vendredi ที่เป็นตำแหน่ง Director for Art, Culture and Heritage ของแบรนด์ ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการนี้ก็ทำให้เห็นว่าเธอพยายามสอดแทรกบริบทสังคมและเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อที่จะสร้างเอ็นเกจเมนต์กับคนรุ่นใหม่เพื่อให้รู้สึกว่าการมาชมนิทรรศการไม่ได้เป็นไลฟ์สไตล์แค่สำหรับคนมีอายุและทำให้เห็นว่า Louis Vuitton ก็ก้าวหน้าเช่นกัน

 

ห้อง ‘In Fashion’

 

JACOBS. JONES. ABLOH. GHESQUIÈRE.

ถัดมาที่ห้อง 2 ในชื่อ ‘In Fashion’ เราก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวของเสื้อผ้าแฟชั่นของ Louis Vuitton ทั้งจากคอลเล็กชันสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ผ่านผลงานของ 4 สุดยอดครีเอทีฟไดเรกเตอร์ระดับตำนาน Marc Jacobs, Kim Jones, Virgil Abloh และ Nicolas Ghesquière ซึ่งสำหรับแต่ละดีไซเนอร์ก็จะเลือกหนึ่งลุคจากคอลเล็กชันแรกของพวกเขา หนึ่งลุคจากคอลเล็กชันที่สร้างตำนานในประวัติศาสตร์แฟชั่น และอีกหนึ่งลุคจากคอลเล็กชันสุดท้าย (ยกเว้นแต่ของ Nicolas Ghesquière ที่ยังคงดำรงแต่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝั่งเสื้อผ้าผู้หญิง) ซึ่งสิ่งที่หลายคนอาจตกใจคือที่จริง Louis Vuitton เพิ่งเริ่มทำแฟชั่นโชว์เสื้อผ้ามาแค่ 24 ปี ตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง แต่มาแฟชั่นวีคทุกซีซันก็ถือว่าโชว์อันดับต้นๆ ที่ทุกคนเฝ้ารอชมและเป็นแบรนด์ที่กำหนดทิศทางเทรนด์อยู่ตลอดเวลา

 

ห้อง ‘Bag Stories’

 

HALL OF FAME

‘Bag Stories’ คือชื่อของห้องที่ 3 และตามชื่อ สาวกคนรักกระเป๋าต้องหลงใหลและสร้างเช็กลิสต์ว่ามีครบยัง เพราะมีการนำเหล่าบรรดากระเป๋ารุ่นไอคอนิกของ Louis Vuitton อย่าง Keepall, Speedy, Petite Malle และ Alma มาจัดแสดง พร้อมนำตัว Prototype จากอาร์ไคฟ์มาให้ดูและเทียบกัน ซึ่งย้อนกลับไปไกลถึงปี 1890 โดยโซนนี้ผมคิดว่าช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าสินค้า Louis Vuitton สามารถยืนหยัดได้นานขนาดไหน และการที่เราลงทุนซื้อถือกระเป๋าของแบรนด์ก็ไม่ใช่แค่เพราะความ ‘สวยหรู’ แต่ก็เหมือนเราถือสินค้าที่มีเรื่องราวมายาวนานที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์แฟชันและไลฟ์สไตล์ของคน ซึ่งคำถามที่ผมตั้งในใจและรอลุ้นดูในอนาคตก็คือ Nicolas Ghesquière ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ฝั่งผู้หญิง และครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ฝั่งผู้ชาย (ที่ยังไม่ได้ประกาศ) จะไปเลือกกระเป๋ารุ่นไหนอีกในอาร์ไคฟเพื่อมาปัดฝุ่นนำเสนอใหม่อีก

 

ห้อง ‘Evolutionary Gallery’

 

TRAVEL ESSENTIALS 

จะมานิทรรศการของ Louis Vuitton ทั้งทีแล้วจะไม่มีเรื่องราวรากฐานของแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางก็คงไม่ได้ ซึ่งห้องที่ 4 ใช้ชื่อว่า ‘Evolutionary Gallery’ ก็สะท้อนสิ่งนี้ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เรือจักรกล รถยนต์รุ่นวินเทจ ไปจนถึงหีบเก็บสเกตบอร์ด ซึ่งแต่ละรุ่นสมัยทาง Louis Vuitton ก็ได้สร้างสรรค์สินค้าเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความท้าทายของนักเดินทางที่สอดคล้องไปกับวิวัฒนาการของยานพาหนะรูปแบบต่างๆ โดยที่ SEE LV ก็ได้นำกระเป๋า Steamer Bag รุ่นแรกสุดที่ผลิตขึ้นมาเมื่อปี 1901 โดย Louis Vuitton มาให้ชมกัน ซึ่งแรกเริ่มกระเป๋ารุ่นนี้ทำมาเพื่อให้คนสามารถเอาเสื้อที่ใส่แล้ว (Dirty Laundry) ไปแยกใส่ พร้อมมีรูปทรงที่พับเก็บได้ในหีบอีกทีหนึ่ง โดยต่อมากระเป๋ารุ่น Steamer Bag ก็ถูกชุบชีวิตอีกครั้งในคอลเล็กชันแรกของ Virgil Abloh ซีซัน Spring/Summer 2019 จนกลายเป็นสินค้าไอคอนิกของยุคนี้ไปแล้ว

 

ห้อง ‘Around Monogram’

 

GET IMMERSIVE

ส่วนห้องสุดท้ายก็คือ ‘Around Monogram’ ที่มีการนำประสบการณ์แบบ Immersive Experience มาให้ผู้ร่วมชมนิทรรศการได้สนุกกัน พร้อมกับลวดลายโมโนแกรมระดับตำนานที่คิดค้นเป็นครั้งแรกในปี 1896 โดย George Vuitton ลูกชายของ Louis Vuitton ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งตลอดจอ LED ก็จะมีเซ็นเซอร์ที่หาใครเดินผ่านหรือทำท่าอะไร ซิลูเอตของคุณก็จะไปปรากฏบนจอ ซึ่งโซนนี้ก็ถือว่าเชื่อมโยงกับบริบทของห้องแรกที่ว่าอยากให้คนเห็นว่า Louis Vuitton ก็ยังคงมองไปข้างหน้าและอยากก้าวหน้าพร้อมกับเทคโนโลยี แม้ตัวนิทรรศการจะนำสินค้าสุดคลาสสิกในอดีตมาชูโรงในหลายห้อง

 

โซน Édition Louis Vuitton 

 

STYLISH READS

แต่ก่อนที่จะเดินออกจากนิทรรศการ SEE LV ทาง Louis Vuitton ก็ไม่พลาดที่จะเนรมิตห้องสมุดไซส์มินิชื่อ Édition Louis Vuitton ที่เต็มไปด้วยหนังสือมากมาย อาทิ บรรดาหนังสือ Louis Vuitton City Guides แบบไซส์กะทัดรัดของเมืองสำคัญทั่วโลกที่มีการอัปเดตอยู่เป็นประจำ และยังมีพวกหนังสือหมวด Coffee Table Book หลากหลายเล่มที่ทางแบรนด์ทำร่วมกับสำนักพิมพ์ Assouline อยู่เป็นประจำ อย่างเช่นล่าสุดกับเล่ม Louis Vuitton Virgil Abloh ที่ได้ Anders Christian Madsen นักวิจารณ์ของนิตยสาร British Vogue มาเขียนเรื่องราวช่วงเวลาที่ Virgil Abloh ได้ทำงานที่ Louis Vuitton ซึ่งแม้จะประมาณแค่ 3 ปี แต่ก็ถือว่าได้พลิกประวัติศาสตร์ก็ว่าได้

 

จากซ้าย: Aisha Dee, Troye Sivan และ Jessica Hart

 

การแสดงของวง Rüfüs Du Sol 

 

THE OPENING PARTY

หลังจากที่ชมนิทรรศการ SEE LV จบ ก็ถึงเวลาของปาร์ตี้ ซึ่งก็แน่นอนเต็มไปด้วยดาราคนดังชาวออสเตรเลียที่ส่วนตัวผมค่อนข้างคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็น Aisha Dee จากซีรีส์ The Bold Type, นางแบบ Jessica Hart ที่เคยเดินแบบให้ Louis Vuitton ด้วยในคอลเล็กชันสุดไอคอนิก Fall 2013 ดีไซน์โดย Marc Jacobs ที่เป็นรันเวย์ฉากฮอลเวย์โรงแรมและนางแบบเดินออกมาในเสื้อผ้ากลิ่นอายชุดนอน และก็ยังมีสุดยอดนักร้องแห่งยุคที่ผมชื่นชอบมากๆ อย่าง Troye Sivan ซึ่งตอนแรกก็มีข่าวลือว่าเขาจะขึ้นแสดง แต่ก็แอบเสียใจว่าไม่ใช่ แต่เป็นวงอิเล็กทรอนิกส์เจ้าถิ่นอย่าง Rüfüs Du Sol ที่ถึงแม้ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ก็ต้องบอกว่าซาวด์ดีมากๆ และควรไปลองฟังกัน

 

แต่ยังไม่จบเท่านั้น เพราะก่อนงานเปิดตัว SEE LV ก็จบลงอย่างน่าประทับใจด้วยการแสดงโชว์โดรนสุดพิเศษกว่า 100 ตัวที่บินอยู่ฝั่งตรงข้าม First Fleet Park ติดกับ Sydney Opera House ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสด Live Stream ผ่าน Instagram Official Account: @louisvuitton ด้วย โดยตัวโดรนก็ได้ร่วมกันครีเอตหลายภาพ ทั้ง ลายโมโนแกรม สะกดประโยคว่า SEE LV และที่พีคสุดก็คือมีภาพจิงโจ้กระโดดออกจากหีบ Trunk ซึ่งก็สร้างความว้าวแบบมหาศาลและตอกย้ำว่าก็มีไม่กี่ลักชัวรีแบรนด์ที่จะทุ่มทุนระดับนี้แค่สำหรับโมเมนต์ไม่ถึง 15 นาทีได้

 

การโปรโมต SEE LV ทั่วซิดนีย์

 

LASTING LEGACY

หลังกลับมากรุงเทพฯ ได้ 1 สัปดาห์จากซิดนีย์และเขียนบทความนี้ ผมก็ได้มาทบทวนว่างาน SEE LV มีสำคัญอย่างไรต่อจักรวาล Louis Vuitton ที่กว้างขวางและใหญ่โตแบบไม่มีวันหยุด ซึ่งผมก็คิดว่าในยุคสมัยนี้ หลายแบรนด์ก็ยังคงไปโฟกัสแต่ด้านความ ‘Exclusive’ แบบว่าเน้นจัดแฟชั่นโชว์หรืองานในร้านสำหรับลูกค้า VVIP เพื่อปั๊มยอดขาย ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ของเขา แต่มันก็เจาะกลุ่มคนที่น้อยมากและสร้างภาพที่ว่าหลายคนอาจรู้สึกว่าวงการแฟชั่นฟุ่มเฟือย เข้าไม่ถึง และมีแต่เปลือกนอก แต่กับ SEE LV มันก็เป็นงาน Brand Activation ที่มีความ ‘Inclusive’ ที่คุณไม่ต้องซื้อ Louis Vuitton ก็ได้ แต่อย่างน้อยหากคุณเจียดเวลามาสัก 20 นาที คุณก็จะเห็นว่าที่จริงแล้วแบรนด์ Louis Vuitton ก็มีเรื่องราวที่สวยงามและสำคัญต่อวัฒนธรรมเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าแบรนด์ในธุรกิจหมวดอื่น ซึ่งงานแบบนี้แหละที่เราต้องมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอกย้ำพลังของแฟชั่น และผมเชื่อเลยว่าแม้คนรุ่นใหม่ก็จะต้องชอบ เพราะในยุคสมัยนี้ กลุ่ม Gen Z ก็ซื้อสินค้าลักชัวรีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การที่เขาจะตัดสินใจซื้อและต่อมาสร้าง Brand Loyalty ก็มาจากการที่อยากรู้เรื่องประวัติ ความเป็นมา จุดยืน และความคิดของแบรนด์ ซึ่งหากแบรนด์ไม่มีพาร์ตนี้แบบงาน SEE LV ของ Louis Vuitton ก็ถือว่าจะเป็นโจทย์ที่ยากที่จะทำให้พวกเขาสนใจ

 

แต่เพราะ Louis Vuitton ไม่ชอบทำอะไรแบบซ้ำๆ และคิดไปล่วงหน้าไปไกล ก็ต้องดูว่างาน SEE LV จะมาจัดที่ไทยไหมในอนาคต หรือใครจะไปรู้อาจไม่ใช่งาน SEE LV แต่เป็นนิทรรศการใหม่เอี่ยมหรืออีเวนต์อื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็เป็นได้ แต่จะอะไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าประโยคเปิดบทความนี้ของจองโฮยอนก็จะไม่ได้ดูโอเวอร์อะไร

 

“ใครไม่รู้จัก Louis Vuitton บ้าง”

 

โชว์โดรนปิดงานเปิด SEE LV ที่ซิดนีย์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X