หลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกและเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางแม่น้ำเท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ระดับน้ำที่ลดลงอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ยังทำให้ส่วนหนึ่งของบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ที่เกือบถูกลืมเลือนหวนกลับมาให้เห็นอีกครั้ง เมื่อซากเรือประจัญบานเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนหลายสิบลำโผล่ขึ้นกลางแม่น้ำดานูบ
กลางแม่น้ำอันกว้างใหญ่ที่ขวางกั้นระหว่างประเทศเซอร์เบียกับประเทศโรมาเนีย ใกล้กับท่าเรือปราโฮโวของเซอร์เบีย ปรากฏลำเรือและส่วนประกอบของเรือบางส่วนโผล่พ้นขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยเรือเหล่านี้เป็นของกองเรือทะเลดำของนาซีเยอรมนี ที่จงใจจมเรือระหว่างถอยทัพจากโรมาเนีย ท่ามกลางการรุกคืบของกองทัพโซเวียต
นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า เรือรบเยอรมัน 200 ลำจมลงโดยการเจาะรูใต้ท้องเรือเมื่อเดือนกันยายน 1944 ใกล้กับปราโฮโวในช่องเขาดานูบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Iron Gates ตามคำสั่งของผู้บัญชาการกองเรือ เนื่องจากเรือถูกยิงถล่มอย่างหนักจากทางฝ่ายโซเวียต โดยฝ่ายเยอรมันเจตนาจมเรือเพื่อชะลอการรุกของโซเวียตในคาบสมุทรบอลข่าน แม้ในที่สุดแล้วการกระทำดังกล่าวไม่มีความหมาย เมื่อนาซีเยอรมนียอมจำนนต่อกองทัพโซเวียตในเดือนพฤษภาคม 1945
นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติทั่วยุโรปในฤดูร้อนปีนี้ กับภาวะโลกร้อนและปัจจัยอื่นๆ ระดับน้ำที่ลดลงนับเป็นอันตรายต่อการขนส่งในแม่น้ำหลายสาย รวมถึงแม่น้ำดานูบ ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของยุโรป โดยไหลผ่านถึง 10 ประเทศ
ภาพซากเรืออับปางโผล่พ้นน้ำอาจสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับใครหลายคน แต่สำหรับผู้ที่ต้องใช้แม่น้ำในการคมนาคมกลับไม่คิดเช่นนั้น
ทั้งนี้ แม้ซากเรือบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายออกจากแม่น้ำโดยยูโกสลาเวียในช่วงหลังสงคราม แต่เรือส่วนใหญ่ยังคงอยู่ใต้น้ำ ส่งผลให้ขัดขวางการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนที่ระดับน้ำลดต่ำลง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเซอร์เบียมีแผนที่จะเคลื่อนย้ายซากเรือที่ยังคงหลงเหลืออยู่ออกจากแม่น้ำ แต่การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเสี่ยงเกินไป เนื่องจากเรือบางลำยังมีวัตถุระเบิดอยู่ภายในเรือ ประกอบกับไม่มีเงินทุนในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลเซอร์เบีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป กำลังวางแผนที่จะจัดการเรือเหล่านี้ โดยสหภาพยุโรปและธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป ตกลงที่จะให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือในการดำเนินการเคลื่อนย้ายเรือบางลำใกล้ท่าเรือปราโฮโว เพื่อเพิ่มความสามารถของแม่น้ำดานูบในการรองรับการจราจร
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปฏิบัติการกู้เรือจะเริ่มจากการนำวัตถุระเบิดออกจากเรือที่จม จากนั้นจึงทำลายซากเรือ แทนที่จะเป็นการลากเรือออกจากแม่น้ำ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านยูโร (30 ล้านดอลลาร์)
เอมานูเอเล โจเฟรต์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำเซอร์เบีย กล่าวระหว่างการเดินทางไปยังจุดที่พบซากเรือครั้งล่าสุดว่า เรือที่จมอยู่ก้นแม่น้ำ “เป็นปัญหาสำหรับการจราจรในแม่น้ำดานูบ จำกัดความสามารถในการเดินทาง ทั้งยังเป็นอันตราย เพราะเรือบางลำยังคงมีสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิด”
ขณะที่ อเลสซานโดร บรากอนซี จากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป ประจำคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน กล่าวว่า “ประมาณการกันว่ามีเรือจมอยู่ใต้น้ำมากกว่า 40 ลำ แต่เรือที่ขวางร่องเดินเรือของแม่น้ำดานูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ระดับน้ำต่ำนั้น มีอยู่ 21 ลำ”
ภาพ: Reuters
อ้างอิง: