นายเห้อเจี้ยนกุย (贺建奎) นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ที่ออกมาอวดอ้างความสำเร็จในการสร้างทารกตัดแต่งพันธุกรรมเป็นรายแรกของโลกเมื่อปีที่แล้ว จะถูกทางการจีนสอบสวน เนื่องจากการทดลองในลักษณะดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างชัดเจนในประเทศจีน ขณะเดียวกัน ทางการจีนยังยืนยันด้วยว่า มีหญิงรายที่ 2 กำลังตั้งครรภ์ทารกตัดแต่งพันธุกรรม
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นายเห้อได้สร้างความตกตะลึงให้กับวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ด้วยการออกมาประกาศว่า เขาประสบความสำเร็จในการดัดแปลงพันธุกรรมทารกฝาแฝดเพศหญิงที่ถือกำเนิดขึ้นในเดือนเดียวกัน เพื่อทำให้เด็กมีภูมิต้านทานการติดเชื้อเอชไอวี ก่อนเผยในเวลาต่อมาว่า อาจมีหญิงคนที่ 2 ตั้งครรภ์จากการวิจัยดังกล่าวของเขา ซึ่งทันทีที่ทราบเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนได้ขอให้คณะกรรมการสุขภาพประจำมณฑลกวางตุ้ง ดำเนินการตรวจสอบคำกล่าวอ้างของนักวิทยาศาสตร์รายนี้อย่างเร่งด่วน
โดยล่าสุด ทางการจีนได้ยืนยันแล้วว่า มีหญิงคนที่ 2 ตั้งครรภ์ในระหว่างการทดลองดังกล่าวจริง พร้อมระบุว่า นายเห้อรวมถึงบุคคลอื่นๆ และสถาบันที่อยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดลองนี้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานในวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากคณะกรรมการสุขภาพประจำมณฑลกวางตุ้งในคดีทารกตัดแต่งพันธุกรรม แสดงให้เห็นว่า นายเห้อเจี้ยนกุย นักวิจัยชาวจีน ได้ฝ่าฝืนกฎหมายข้อห้ามของรัฐบาล และดำเนินการวิจัย เพื่อชื่อเสียงและผลประโยชน์ส่วนตน
โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเปิดเผยกับซินหัวว่า มารดาที่กำลังตั้งครรภ์ ทารกที่อยู่ในครรภ์ ตลอดจนทารกตัดแต่งพันธุกรรมที่ลืมตาดูโลกแล้ว และอาสาสมัครตั้งครรภ์ทั้งหลาย จะอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ทางการแพทย์ โดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับเอกสารรับรองโครงการวิจัยของนายเห้อ ในขณะที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในหลายแห่งที่ถูกระบุชื่อในงานวิจัย ได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ ในโครงการนี้
“เราสามารถรับรองได้ว่า การวิจัยดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการในโรงพยาบาลของเรา และทารกไม่ได้เกิดที่นี่” ตัวแทนรายหนึ่งของโรงพยาบาล Shenzhen Harmonicare Women’s and Children’s Hospital กล่าวกับซีเอ็นเอ็นในเดือนพฤษจิกายนที่ผ่านมา โดยทางโรงพยาบาลยืนยันว่า แพทย์ 2 คนที่มีชื่ออยู่ในเอกสารการวิจัยของนายเห้อทำงานที่โรงพยาบาลจริง และขณะนี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนภายใน
ทั้งนี้ การตัดต่อยีนของตัวอ่อนมนุษย์เพื่อการตั้งครรภ์เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ รวมถึงจีน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ สำหรับในสหราชอาณาจักร การดัดแปลงตัวอ่อนอาจถูกห้ามสำหรับวัตถุประสงค์ทางการวิจัยด้วย โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเข้มงวด
สำหรับประวัติของนายเห้อ เขาได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อนที่จะกลับไปทำงานในประเทศจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ‘Thousand Talents Plan’ ของรัฐบาลปักกิ่ง ที่มีเป้าหมายดึงดูดบุคลากรคนเก่งให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ จากการเปิดเผยบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย Southern University of Science and Technology (SUSTech) ในเมืองเซินเจิ้น
อย่างไรก็ดี SUSTech ได้ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า ทางสถาบันได้เลิกจ้างนักวิทยาศาสตร์รายนี้แล้ว หลังจากที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่า งานวิจัยของนายเห้อได้ละเมิดจริยธรรมทางการวิจัยอย่างร้ายแรง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: