×

ปัญหาขาดแคลนนาฬิกาหรูทำตลาดมือสองพุ่งจนมีมูลค่า 6.6 แสนล้าน กระตุ้นสตาร์ทอัพแข่งกันเป็น eBay สำหรับขายนาฬิกาหรูออนไลน์โดยเฉพาะ

15.10.2021
  • LOADING...
luxury watches

จากปัญหาขาดแคลนนาฬิกาหรูเนื่องจากวิกฤตโควิด ทำให้การผลิตของแบรนด์นาฬิกาหรูหลากหลายแบรนด์หยุดชะงักไป ส่งผลให้ตลาดขายนาฬิกาหรูมือสองเติบโตจนคิดเป็นมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 6.6 แสนล้านบาท กระตุ้นให้บริษัทและสตาร์ทอัพต่างๆ กำลังแข่งขันกันเพื่อที่จะกลายเป็นดั่ง eBay ด้านแพลตฟอร์มสำหรับขายนาฬิกาหรูออนไลน์โดยเฉพาะ 

 

ความต้องการนาฬิกาไฮเอนด์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด แต่แบรนด์นาฬิกา 4 เจ้าใหญ่อย่าง Rolex, Patek Philippe, Audemars Piguet และ Richard Mille ต่างก็ยืนหยัดในการผลิตอย่างจำกัด ซึ่งทำให้นาฬิกาของพวกเขาหายากมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนนาฬิกามือสองและนาฬิกาวินเทจออนไลน์เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ตลอดจนมีสตาร์ทอัพจำนวนมากขึ้นที่แข่งขันกันเพื่อครองตลาดซื้อขายนาฬิกามือสองออนไลน์ 

 

บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ McKinsey ประมาณการว่ายอดขายนาฬิกามือสองพุ่งแตะ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.9 แสนล้านบาท ในปี 2019 และอาจสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 9.9 แสนล้านบาท ในปี 2025 และคาดว่า ยอดขายนาฬิกามือสองจะมีขนาดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดนาฬิกามือหนึ่งภายในปี 2025 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณหนึ่งในสาม ณ ปัจจุบัน

 

นอกจากนั้น โทบี้ แบทแมน ซีอีโอของ Hodinkee เว็บไซต์นักสะสมนาฬิกายอดนิยมกล่าวว่า “ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มขายนาฬิกาอยู่มากมายที่ไม่ได้มีการยืนยันตัวตนของผู้ขาย ซึ่งจะไม่สามารถรับประกันได้ว่านาฬิกานั้นเป็นของแท้หรือไม่ รวมถึงไม่สามารถรับประกันได้ว่านาฬิกาที่ได้ เป็นนาฬิกาที่ยังไม่ถูกดัดแปลงหรือสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่”

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ตุลาคม) Hodinkee ได้เปิดตัวร้านนาฬิกามือสอง โดยจะมีการซื้อขายนาฬิกาที่ผลิตหลังปี 1990 เป็นต้นไป โดยบริษัทนี้ระดมทุนได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม จากผู้ที่มีชื่อเสียงหลากหลายคนอย่าง ทอม เบรดี ควอเตอร์แบ็กของ NFL, นักร้องชื่อดัง จอห์น เมเยอร์, โทนี่ ฟาเดลล์ จาก Apple และนักลงทุนอย่าง ปีเตอร์ เชอร์นิน โดยทางบริษัทตั้งเป้าที่จะเป็น ‘แบรนด์ชั้นนำระดับโลกสำหรับการซื้อขายนาฬิกา’

 

ร้านค้ามือสองของ Hodinkee จะเริ่มต้นด้วยนาฬิกามือสองจำนวน 250 เรือน พร้อมรับประกันของแท้หรือรับรองการแก้ไขจากโรงงานนาฬิกาที่ทันสมัยในแอตแลนตา นอกจากนั้น แบทแมนยังกล่าวว่า ข้อได้เปรียบของ Hodinkee เหนือคู่แข่งต่างๆ คือความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในฐานะที่เป็นแบรนด์นาฬิกาที่มีความน่าเชื่อถือมาอย่างยาวนาน

 

ถึงอย่างนั้นคู่แข่งอย่าง Chrono24 ในเยอรมนีก็ยังดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้เช่นเดียวกัน โดยพึ่งระดมทุนได้ถึง 100 ล้านยูโร หรือราว 3.8 พันล้านบาท จากนักลงทุนต่างๆ อย่างบริษัท General Atlantic และ Aglae Ventures ของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอของ LVMH ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.3 หมื่นล้านบาท ทำให้กลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ​​ตัวแรกในกลุ่มซื้อขายนาฬิกาออนไลน์ โดยบริษัทกล่าวว่ามีนาฬิกาทั้งหมดประมาณ 500,000 เรือน ซึ่งมาจากร้านค้าปลีกมากกว่า 3,000 แห่ง และจากผู้ขายทางบ้านกว่า 30,000 ราย

 

ในขณะเดียวกัน Chronext ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังวางแผนที่จะระดมทุนประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ ในการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งจะทำให้บริษัทมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ Chronext กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเลื่อนการเปิดขายหุ้นออกไป เนื่องจากสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของบริษัท

 

นอกจากนั้น Chronext ก็ได้รวบรวมคณะกรรมการที่มีชื่อเสียงต่างๆ อย่าง แกรี บริกส์ อดีตหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Facebook และ แดเนียลลา วิทาเล อดีตซีอีโอของ Barneys New York เพื่อตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย

 

บริษัทต่างๆ เช่น Watchfinder, WatchBox และ Watchmaster ก็กำลังขยายและผลักดันส่วนแบ่งการตลาดเช่นเดียวกัน แม้แต่ eBay เองก็มุ่งเป้าไปที่กลุ่ม Rolex โดยเปิดตัวบริการการรับประกันของแท้ โดยเล็งไปยังกลุ่มนักสะสมนาฬิกาไฮเอนด์

 

คำถามคือการเติบโตที่รวดเร็วของนาฬิกาในปัจจุบันจะดำเนินต่อไปได้นานแค่ไหน และจะสามารถทำยอดขายออนไลน์ได้เพียงพอในระยะยาวหรือไม่ เพราะแบรนด์นาฬิกา 4 เจ้าใหญ่ ยังคงรักษาจำนวนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาคุณภาพและความพิเศษเฉพาะตัว ตามรายงานของ Morgan Stanley รายงานว่า Rolex ขายนาฬิกาได้ 810,000 เรือนในปีที่แล้ว ในขณะที่ Patek Philippe ขายได้ 53,000 เรือน Audemars Piguet 40,000 เรือน และ Richard Mille 4,300 เรือน

 

มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าอุปสงค์จะยังคงแซงหน้าอุปทาน อย่างน้อยก็ยังแซงอยู่ในเวลานี้ไปสักพัก จากการที่นาฬิกาสปอร์ตสเตนเลสสตีล และนาฬิการุ่นยอดนิยมอื่นๆ ทั้งหมดแทบหาซื้อไม่ได้ในร้านค้าทั่วไป เนื่องจากกำลังการผลิตที่หยุดชะงักไป ทำให้ราคาในตลาดมือสองสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe Ref. 5711 Green Dial ซึ่งเปิดขายในราคา 35,000 ดอลลาร์ ต่อมาในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ถูกประมูลไปในราคาถึง 490,000 ดอลลาร์ 

 

และ Audemars Piguet Royal Oak 15500ST (หน้าปัดสีน้ำเงิน) มีราคาเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตั้งแต่ปี 2017 เป็นมากกว่า 55,000 ดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าของ Rolex Day-Date 40 เพิ่มขึ้น 76% ตั้งแต่ปี 2017 เป็นมากกว่า 50,000 ดอลลาร์ ตามข้อมูลของ Chronext

 

ผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่า ความมั่งคั่งทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นและคริปโตฯ ทำให้มีนักสะสมนาฬิกาออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้มีนักสะสมวัยรุ่นซื้อขายนาฬิกาออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นยอดขายได้ดีอีกด้วย เนื่องจากนักสะสมมักจะใส่สถานะสัญลักษณ์ธงสวิตเซอร์แลนด์บน Instagram และ TikTok ของตัวเอง เพื่อแสดงตัวว่าเป็นผู้ซื้อและผู้ขายนาฬิกา ในส่วนของสตาร์ทอัพและตลาดออนไลน์นั้นคงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีผู้ค้ารายใหม่กี่รายที่จะอยู่ต่อ หากว่าราคานาฬิกามือสองและความต้องการปรับตัวลดลง

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X