×

ก.ล.ต. จับตา ITD ระวังระดับสูงสุด หลังโดนหลายปัญหารุมเร้า ด้าน ‘ทริส’ จ่อหั่นเรตติ้งอีก

13.03.2024
  • LOADING...
ITD

สถานการณ์ปัญหาของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยที่มีมูลค่างานสูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งมี ‘เจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังนั่งเก้าอี้ประธานบริหาร ปัจจุบันกำลังถูกเฝ้าจับตามากขึ้นเรื่อยๆ อีกครั้งหลังจากมีหลายประเด็นปัญหาทยอยปะทุขึ้นตามมา ตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการขอเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 5 รุ่น วงเงินรวม 1.45 หมื่นล้านบาทไปอีก 2 ปี แลกกับการยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม 

 

รวมถึงกระแสข่าวการเจรจาขายหุ้นเหมืองแร่โพแทชออกมาเพื่อนำเงินมาใช้แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ตามมาด้วยการขอเลื่อนส่งงบการเงินปี 2566 ภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จนหุ้นโดน SP และยังมีกระแสข่าวการมีปัญหาจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ล่าช้า และการทวงค่าจ้างค้างจ่ายของแรงงานที่ล่าช้าด้วย

 

โดยพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยอมรับว่ามีความกังวลกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งกำลังติดตามปัญหาของ ITD อย่างใกล้ชิด 

 

ทั้งนี้ กรณีปัญหาของ ITD เป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งจะมีหลายประเด็นสำคัญเข้ามาพัวพัน และอาจมีผลกระทบตามมาได้ เช่น หุ้นกู้ที่ ITD ออกเป็นระดับ Investment Grade รวมถึงยังมีกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF) เข้าลงทุนอีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันหุ้น ITD เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ด้วย 

 

“สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็กังวล เพราะถ้าหุ้นกู้ตัวอื่นเกิด Credit Event อาจไม่ได้มีอิมแพ็กต์มากเท่าหุ้นกู้ตัวนี้ เพราะหุ้นกู้ของ ITD เป็น Investment Grade ตอนนี้ของ ก.ล.ต. ก็ Alert ในการติดตามขั้นสูงสุด หากมีระดับการติดตามระดับ 1-5 ตอนนี้ก็ติดตามในระดับ 5 ซึ่ง ก.ล.ต. สื่อสารกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพียงแต่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถพูดได้ตอนนี้เพราะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียน ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลออกมาต้องเท่าเทียมกัน”

 

ITD

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้น SP หุ้น ITD กรณีไม่ส่งงบการเงินปี 2566

 

ทริสเรทติ้งชี้ หาก ITD ส่งงบช้าอีกเสี่ยงถูกเร่งจ่ายหุ้นกู้

 

ทริสเรทติ้งระบุว่า คง ‘เครดิตพินิจ’ แนวโน้ม ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ ITD เนื่องจากบริษัทขอเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2566 ที่มีการตรวจสอบแล้วของบริษัท จากสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ไปเป็นภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567 โดยบริษัทชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อให้มั่นใจในความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินมูลค่าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

 

ทริสเรทติ้งมองว่าความล่าช้าดังกล่าวส่งผลให้มีความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพคล่องในปัจจุบันของบริษัทที่ตึงตัว นอกจากนี้ หากผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจพบว่าสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการตรวจสอบบัญชีอย่างครบถ้วนแล้ว อันดับเครดิตอาจปรับลดลงตามไปด้วย

 

อันดับเครดิตของบริษัทที่ระดับ ‘BB+’ นั้นถูกปรับให้เป็นเครดิตพินิจ แนวโน้ม ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 จากข้อเสนอของบริษัทในการขอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดทางการเงินและขอขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้ทั้งหมด แม้ว่าผู้ถือหุ้นกู้จะยินยอมสละสิทธิ์และขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 และวันที่ 30 มกราคม 2567 แต่เครดิตพินิจแนวโน้ม ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ ยังคงไม่ได้รับการปรับแก้ เนื่องจากสถานะทางการเงินและแผนการบริหารจัดการของบริษัทยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างครบถ้วน

 

ทริสเรทติ้งคาดว่าจะพิจารณาปรับเครดิตพินิจแนวโน้ม ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ ได้เมื่อบริษัทประกาศงบการเงินปี 2566 และทริสเรทติ้งสามารถประเมินสถานะทางธุรกิจและสถานะการเงินของบริษัทได้อย่างครบถ้วน 

 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดความล่าช้าในการประกาศงบการเงินต่อไปอีก อาจส่งผลให้ต้องมีการชำระคืนหุ้นกู้เร็วขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหลายขั้นเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

 

ITD

เปรมชัย กรรณสูต ผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานบริหาร ITD

 

ITD โดน SP หลังขอเลื่อนส่งงบปี 2566 

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 วรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล เลขานุการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ITD มีความจำเป็นต้องส่งงบการเงินสิ้นปี 2566 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ 

 

เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของบริษัท และผู้ตรวจสอบบัญชีต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งในการตรวจสอบ เพื่อให้งบการเงินมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ บริษัทจึงเลื่อนส่งงบการเงินประจำปีล่าช้า และคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวภายในวันที่ 29 มีนาคม 2567

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เช้าของวันที่ 1 มีนาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย SP กับหุ้น ITD ทันที และตามมาด้วยล่าสุดในวันที่ 5 มีนาคม 2567 ITD แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ‘ชาติชาย ชุติมา’ รองประธานบริหารอาวุโส บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้ลาออกจากตำแหน่ง CFO โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยแต่งตั้ง ‘วราพร ทิพทิพากร’ มาดำรงตำแหน่ง CFO แทน

 

ทั้งนี้ หากไล่ย้อนดูงบการเงินของ ITD ช่วง 5 ปีย้อนหลังก็ถือว่าย่ำแย่มาโดยตลอด เพราะขาดทุนต่อเนื่อง ก่อนจะเริ่มมามีกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 แต่ทั้งปี 2566 ยังคงต้องลุ้นตัวเลขที่จะออกมาตามที่บริษัทขอเลื่อนไปว่าจะทันกำหนดที่ขอไว้หรือไม่ หรือหากส่งทันกำหนดตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร

 

ITD

ย้อนดูงบการเงิน 5 ปี ITD 

หมายเหตุ: ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ขอเงินกู้เพิ่ม-ขายสินทรัพย์ต่อลมหายใจ 

 

ด้านแหล่งข่าวจากวาณิชธนกิจกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบัน ITD อยู่ระหว่างการดำเนินหาแนวทางในการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งมีการดำเนินการใน 2 แนวทางควบคู่กันไป แนวทางแรกคือการเจรจาขอวงเงินกู้เพิ่มเติมจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง 

 

แนวทางที่สองคือการขายหุ้นของบริษัทย่อยคือ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น ที่ได้รับสิทธิ์ทำเหมืองแร่โพแทชหลายแห่งในไทย วงเงินประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการหาผู้ซื้อ หากดำเนินการสำเร็จก็จะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องมาใช้ต่อลมหายใจในการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งยังต้องติดตามว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร ขณะที่หนี้รวมของ ITD ปัจจุบันถือว่าเป็นก้อนใหญ่กว่า 1 แสนล้านบาท หากบริษัทมีปัญหาก็จะมีผลกระทบตามมาค่อนข้างมาก

 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นของ ITD ไม่ได้มาจากการทุจริต แต่ปัญหาหลักคือการขาดสภาพคล่อง ส่วนหนึ่งเริ่มเกิดจากการใช้เงินลงทุนจำนวนมากก่อนหน้านี้ เช่น การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศหลายโครงการ เช่น ที่เมียนมาที่ ITD ลงทุนไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัมปทานในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ทำให้ปัจจุบันไม่ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา ตามมาด้วยปัญหางานก่อสร้างในไทยที่ลดลง”  

 

โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของ ITD 

 

กระทรวงแรงงานจับตาแรงงานทวงค่าจ้าง

 

ปัญหาของ ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยที่มีมูลค่างานสูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังโดนพิษซ้ำเติมจากผลกระทบจากช่วงปี 2566 ที่เกิดปัญหาราคาวัสดุและน้ำมันสูงขึ้น และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการทำงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งตามงบการเงินรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/66 ITD มีหนี้สินรวมราว 1.08 แสนล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio: D/E Ratio) พุ่งไปถึงระดับ 12 เท่า 

 

อีกทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศที่ตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบกับโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทที่พึ่งพางานภาครัฐเป็นจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลง และล่าสุดยังเกิดกรณีปัญหากลุ่มแรงงานของ ITD ในหลายจังหวัดได้เคลื่อนไหวทวงเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย โดยเรื่องนี้ร้อนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

 

โดย ITD ถือเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่มีมูลค่างานก่อสร้างสูงสุดของประเทศ จึงใช้แรงงานจำนวนมาก และยังรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นจำนวนมากด้วย ดังนั้นมีโอกาสที่รัฐบาลอาจต้องเข้ามาดูแลปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งกลุ่มแรงงานที่อาจโดนผลกระทบ และงานก่อสร้างภาครัฐที่อาจล่าช้าได้ด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising