×

ก.ล.ต. ตั้งเป้า ปี 68 ลุยทำคดีได้เร็วขึ้น พร้อมศึกษาทบทวนยกเลิก Uptick Rule ใช้คุม Short Selling หากสถานการณ์ไม่เหมาะสม

15.01.2025
  • LOADING...
sec-uptick-rule-review

เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงาน Media Briefing ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนมกราคม 2568 ว่า แผนงานสำคัญส่วนหนึ่งของสำนักงาน ก.ล.ต. ในปี 2568 ยังคงเน้นการสร้างตลาดทุนให้มีความน่าเชื่อถือ (Trust and Confidence) สำหรับกระบวนการทำงานในส่วนการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายในปีนี้ ตามแผนงานต้องการให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีการทำงานที่รวดเร็วขึ้นจากปี 2567 โดยนำวิธีการทำงานหลายส่วนมาประกอบใช้ร่วมกัน เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ การทำงานที่ใกล้มากขึ้นกับตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับกระบวนการภายในให้เร็วขึ้นเพื่อเร่งรัดการทำงาน ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี กระบวนการทำงานบังคับใช้กฎหมายของสำนักงาน ก.ล.ต. ในปี 2567 ที่สามารถเร่งรัดทำงานได้รวดเร็วขึ้นอย่างน้อย 15% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานในอดีต เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนช่วยการทำงาน อีกทั้งมีการปรับกระบวนการทำงานภายในโครงสร้างการทำงานของ ก.ล.ต. ให้มีความกระชับมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนให้สายงานบังคับใช้กฎหมายกับฝ่ายบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นำมารวมอยู่ในสายงานเดียวกัน อีกทั้งมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้วย 

 

รวมถึงมีการทำงานร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย ส่งผลให้การดำเนินการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรายกรณี สามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้นจากในอดีตที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ในปี 2567 สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษคดีอาญาไปจำนวน 15 คดี เปรียบเทียบกับปี 2566 ที่กล่าวโทษจำนวน 8 คดี ขณะที่ดำเนินการมาตรการลงโทษทางแพ่งในปี 2567 มีจำนวน 10 คดี โดยค่าปรับทางแพ่งและชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ฯ ที่นำส่งกระทรวงการคลัง 696 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2566 ดำเนินการไป 7 คดี ค่าปรับทางแพ่งและชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ฯ ที่นำส่งกระทรวงการคลัง 103 ล้านบาท

 

สถิติข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ในปี 2567

สถิติข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายของ ก.ล.ต. ในปี 2567

 

“แผนการสร้าง Trust and Confidence ในปี 2567 อาจไม่ได้ผลทันที แต่การจะสร้าง Trust and Confidence ให้กลับมาได้ต้องมีการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ ก.ล.ต. ทำไปแล้ว ก็มีการวัดผลในสิ่งที่ทำไปด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนกับการมีส่วนได้เสีย โดยมีการทำ Survey กับกลุ่มผู้ระดมทุน ผู้ประกอบธุรกิจ และนักลงทุน ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผล Survey ที่ออกมาเรื่องความเชื่อมั่นต่อกระบวนการทำงานของ ก.ล.ต. มีคะแนนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ 3.6 คะแนน เป็น 3.84 คะแนน ดังนั้นเชื่อว่าสิ่งที่ ก.ล.ต. ทำมาในปี 2567 เริ่มมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว ส่วนแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ปีนี้ และอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคมนี้” เอนกกล่าว

 

ทั้งนี้ ในปี 2567 มีหนึ่งในมาตรการสำคัญที่นำมาใช้ในการสร้าง Trust and Confidence โดยมีมาตรการดูแล Short Selling (SS) และ Program Trading (PT) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการสร้างความเป็นธรรมในธุรกรรม SS/PT เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างตลาดทุนที่โปร่งใส 

 

โดยมาตรการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling เพิ่มคุณภาพหุ้น Non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ให้เป็นหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงขึ้น รวมทั้งปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ (Trading Rules) กรณี SS เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น 

 

อีกทั้งมีการออกมาตรการ Uptick Rule นำมาใช้กำกับดูแล Short Selling โดยเริ่มใช้ดูแลธุรกรรม Short Selling 

 

พร้อมทั้งมีมาตรการกำกับดูแล Program Trading การขึ้นทะเบียน เพื่อให้รู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ รวมถึงทบทวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมผ่านการเพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน โดยมาตรการทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นมีการเริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงราวกลางปี 2567 

 

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการใช้มาตรการดังกล่าวนี้มาแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก.ล.ต. จะมีการประเมินผลการศึกษาว่ามาตรการดังกล่าวที่ออกมานั้นสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ซึ่งจะทำโดยหน่วยงาน Third Party ซึ่งหากเห็นว่ามีช่องทางในการพัฒนาเพิ่ม ก็ดำเนินการออกมาตรการเพิ่มเติมต่อไป คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1/68 

 

เล็งทบทวนยกเลิก Uptick Rule หากศึกษาแล้วไม่เหมาะกับสถานการณ์

 

อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีแนวคิดในการยกเลิก Short Selling เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต. มองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งในการสร้างกลไกราคาของตลาดหุ้น 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของมาตรการ Uptick Rule นำมาใช้กำกับดูแล Short Selling มีโอกาสจะทบทวนยกเลิกการใช้หรือไม่ เพราะในอีกมุมหนึ่งก็มีผลกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขายในตลาดหุ้นโดยรวมให้ลดลง 

 

เอนกกล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้ในการพิจารณาทบทวน โดยยอมรับว่าเป็นมาตรการที่มีผลกระทบต่อวอลุ่มการซื้อขายในตลาดหุ้น เพราะจะมีผลกระทบให้นักลงทุนที่ต้องการทำ Short Selling ในราคาที่แพงขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ในการออกทุกๆ มาตรการของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่นำออกมาใช้หลังผ่านการใช้มาตรการมาสักระยะแล้ว จะต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการว่ายังคงมีความเหมาะสมที่จะใช้ต่อไปหรือไม่

“หากประเมินมาตรการแล้วสัมฤทธิ์ผลดีก็ใช้ต่อ แต่หากประเมินแล้วบนสถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งดูเรื่องของจังหวะเวลา อันนี้ก็สามารถยกเลิกกฎเกณฑ์ได้ ซึ่งใช้กับทุกๆ มาตรการไม่ใช่แค่ Uptick Rule สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่นำออกมาใช้แล้ว 6 เดือน เพื่อให้ทราบว่ามาตรการที่นำมาใช้มีความรุนแรง เหมาะสมกับสถานการณ์ ขาดหรือเกินไปหรือไม่” 

 

บรรยากาศงาน Media Briefing ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนมกราคม 2568

บรรยากาศงาน Media Briefing ก.ล.ต. พบสื่อมวลชน เดือนมกราคม 2568

 

คาดแนวทางสั่งเปิดเผยข้อมูลจำนำหุ้นชัดเจนภายใน 1Q68

 

เอนกกล่าวถึงกรณีปัญหาที่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีการทำธุรกรรมจำนำหุ้น ส่งผลให้มีการ Force Sell ซึ่งมีผลกระทบให้นักลงทุนเกิดความเสียหายว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับกรณีดังกล่าวเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำงาน เพื่อเร่งรัดดำเนินการออกเกณฑ์กำหนดให้ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องรายงานข้อมูลธุรกรรมจำนำหุ้น ซึ่งคาดว่าจะมีข้อสรุปความชัดเจนของแนวทางได้ภายในไตรมาส 1/68 แต่จะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ได้ทันที

 

สำหรับกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่า หากผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. มีการจำนำหุ้นแตะ Trigger Point ต้องมีการรายงาน 

 

เอนกระบุว่า ความยากคือการกำหนดเกณฑ์อย่างเหมาะสม ทั้งการกำหนดจำนวนของหุ้นที่จำนำ ซึ่งเข้าข่ายต้องรายงานข้อมูล รวมทั้งความถี่ในการรายงานข้อมูลที่ไม่ให้เป็นภาระมากจนเกินไป ทำให้ข้อสรุปในการกำหนดเกณฑ์ยังไม่มีความชัดเจน ในขณะนี้ ก.ล.ต. ยังต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนจะออกเกณฑ์ต่างๆ 

 

อีกทั้งปัจจุบันธุรกรรมการนำหุ้นไปจำนำยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีข้อมูลครบถ้วน ยกเว้นผู้ทำธุรกรรม ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้นที่มีการจดทะเบียนผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) ซึ่งในอนาคตหากมีการเปิดเผยจะช่วยแก้ปัญหาได้บางส่วน

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันการจำนำหุ้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 

 

  1. Margin Loan 
  2. จดทะเบียนจำนำผ่าน TSD
  3. นำหุ้นไปจำนำหรือเป็นหลักประกันโดยไม่ผ่าน TSD ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข

 

ส่วนกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. มีความล่าช้านั้น ในส่วนของ ก.ล.ต. ได้รับฟังถึงความไม่สบายใจในประเด็นดังกล่าวมาตลอด ซึ่งยอมรับว่าในการขับเคลื่อนบางประเด็นอาจล่าช้าไม่ทันใจบ้าง ต้องดูว่าความล่าช้าเกิดจากอะไร ถ้า ก.ล.ต. สามารถปรับปรุงกระบวนการและเร่งรัดให้รวดเร็วขึ้นได้ ก็จะมีการปรับปรุงต่อเนื่อง แต่บางกระบวนการ เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่ต้องขอข้อมูลจากต่างประเทศ ก.ล.ต. อาจไม่สามารถเร่งรัดได้

 

ส่วนกรณีของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT ประกาศการลงทุนของบริษัท ซึ่งมีมูลค่าลงทุน 7.97 พันล้านบาท เพื่อถือหุ้น 95% ร่วมกับบริษัท เอ็มคิวดีซี ทาวน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ถือหุ้นอีก 5% ร่วมลงทุนในบริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานภายใต้โครงการชื่อ Happitat นั้น

 

เอนกอธิบายว่า หลักการของกฎเกณฑ์รายการที่เกี่ยวโยงกัน (Related Party Transaction: RPT) คือการที่ บจ. ไปทำธุรกรรมบางอย่าง อาทิ การเข้าไปซื้อหุ้นหรือซื้อกิจการในบริษัทอื่นของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ที่เป็นเจ้าของ

 

แต่การที่ CPAXT ไปร่วมถือหุ้นหรือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บจ. มาร่วมถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว ถือว่าไม่เข้าข่าย RPT โดยตรง เพราะถือว่าเป็นการร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ แต่อาจมีรูปแบบที่ต่างจากดีลปกติทั่วไป เพราะ CPAXT นำเงินเข้ามาใส่ในบริษัทร่วมทุน ขณะที่อีกฝ่ายคือบริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด ชำระค่าหุ้นของบริษัทจัดตั้งใหม่ โดยใช้หุ้นของบริษัท แฮปปี้แทท แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์ จำกัด แทนเงิน

 

อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. จะมีการพิจารณาว่ามีการใช้ช่องว่างของเกณฑ์เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ โดยจะมีการพิจารณาต่อไปว่าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่

“สาระสำคัญของเกณฑ์ RPT สามารถทำธุรกรรมได้ แต่หากมีขนาดดีลที่ใหญ่มากต้องให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์ออกเสียงโหวต นี่คือหลักคิด ซึ่งกรรมการของ บจ. ก็มีหน้าที่พิจารณาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและดำเนินการด้วยความระมัดระวัง” เอนกกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising