×

ก.ล.ต. คุมเข้มผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ปิดประตูลงทุน Spot Bitcoin ETF

18.01.2024
  • LOADING...

ก.ล.ต. ไทยยืนยัน ไม่เห็นความจำเป็นให้รายย่อยลงทุนกองทุน Spot Bitcoin ETF เหตุเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมกับรายย่อย แต่มีช่องให้นักลงทุนลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีได้โดยตรง

 

เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมจากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ออกแถลงการณ์ว่า ยังไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตให้มีกองทุน Spot Bitcoin ETF ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาแล้วยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะนำ Spot Bitcoin ETF เข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ปัจจุบันทั้ง ก.ล.ต.สหรัฐฯ และ ก.ล.ต.ไทย ยังไม่รับรองคริปโตเคอร์เรนซีเป็นหลักทรัพย์ภายใต้การรับรอง

 

“ก.ล.ต.สหรัฐฯ อนุญาตให้มีกองทุน Spot Bitcoin ETF ถือเป็นหลักทรัพย์เพื่อเป็นกลไกเครื่องมือดูแลนักลงทุน เพราะ ก.ล.ต. สหรัฐฯ มีการกำกับดูแล แต่ไม่ได้กำกับดูแลการลงทุนใน Bitcoin แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ทุกสกุลคริปโตเคอร์เรนซีสามารถทำได้ เพราะต้องการกรองความเสี่ยง”

 

ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ของไทย ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ไม่สามารถให้บริการซื้อ-ขายกองทุน Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ ให้กับนักลงทุนรายย่อยในไทย อีกทั้งกองทุน Spot Bitcoin ETF ที่ลงทุนคริปโตถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหลักทรัพย์ทั่วไปที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ จึงไม่เหมาะสมกับนักลงทุนรายย่อยของไทย อีกทั้งต้องการติดตามศึกษาพัฒนาการหรือผลลัพธ์ที่จะตามมาของ Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ เพื่อนำมากำหนดทิศทางการกำกับดูแลในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยที่เป็นกลุ่มเฉพาะของไทยในปัจจุบันมีช่องทางการลงทุนในคริปโตได้​โดยตรง ผ่านศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) รวมถึงยังสามารถลงทุนผ่านผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager) ที่ได้ใบอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ของไทย

 

นอกจากนี้ ในปี 2567 มีแผนจะยกระดับการกำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับเกณฑ์เพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15 ล้านบาท

 

อีกทั้งจะออกผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) เพื่อมีผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือแสดงความสนใจมาขอใบอนุญาตจำนวน 2-3 ราย

 

เอนกกล่าวถึงแผนในอนาคตเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ก.ล.ต. จะผลักดันส่งเสริมการระดมทุนผ่านช่องทาง Investment Token โดยในปี 2567 คาดว่ามีโอกาสจะได้มี Investment Token ซึ่งเป็นของโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Project) รวมถึงโครงการที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ซึ่งเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. ให้การสนับสนุนและรัฐบาลสนับสนุน ซึ่งมีผู้แสดงความสนใจ เพื่อให้กลุ่มนี้ได้ระดมเงินทุนและนำไปพัฒนาโครงการให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ในปี 2567 มีแผนจะยกระดับการกำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับเกณฑ์เพิ่มการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15 ล้านบาท

 

อีกทั้งจะออกใบอนุญาตผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) เพื่อมีผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือแสดงความสนใจมาขอใบอนุญาตจำนวน 2-3 ราย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X