ก.ล.ต. และ ตลท. เรียกความเชื่อมั่น ยืนยันตลาดหุ้นไทยไม่มี Naked Short Sell มีระบบตรวจสอบทุกธุรกรรม Short Sell หากพบผิดพร้อมฟัน พร้อมยกเพดานตรวจเข้มขึ้นกว่าเดิม
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากกรณีที่มีนักลงทุนบางกลุ่มตั้งข้อสงสัยมีนักลงทุนต่างชาติมีการทำธุรกรรม Short Sell ในตลาดหุ้นไทย โดยอ้างว่ามีฝากหุ้นไว้ในคัสโตเดียน (Custodian) ต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการถือหุ้นอยู่จริง ซึ่งจะเข้าข่ายการทำ Naked Short Sell ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย จึงมีความกังวลว่า ก.ล.ต. ไม่สามารถเอื้อมเข้าไปตรวจสอบความผิดดังกล่าวได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยืนยันและมีความมั่นใจว่ามีช่องทางสามารถดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้อย่างแน่นอน โดยการร่วมมือทำงานกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินงาน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
“การตรวจสอบธุรกรรม Naked Short Sell ทั้ง ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ด่านแรกหน้างานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคือ ตลท. หากพบการ Short Sell ต้องตรวจสอบว่ามีหุ้นจริงหรือไม่ หรือมีว่าความผิดปกติของการซื้อขายก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน หากพบความผิดจะส่งมาให้ ก.ล.ต. ตรวจสอบแบบเชิงลึกต่อไป ในฐานะหน่วยกำกับมองว่า Naked Short Sell มีโอกาสจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดต้องตรวจให้เจอและสามารถเอาผิดลงโทษได้ ซึ่งคงไม่ถึงต้องยกเลิก Short Sell เพราะเป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องศึกษา”
สำนักงาน ก.ล.ต. กับ ตลท. มีแผนงานที่จะทำร่วมกันในการยกระดับมาตรฐานการกำกับตรวจสอบให้รวดเร็วและมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น แม้จากเดิมที่มีระบบตรวจสอบเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมามีการตรวจสอบทุกธุรกรรมของการ Short Sell เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีการทำ Naked Short Sell ที่มีผลกระทบกดดันให้ตลาดหุ้นไทยเป็นขาลง
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นการ Empower ให้กับนักลงทุนตามเจตนารมณ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยปัจจุบันมีการเปิดข้อมูล Short Sell เป็นรายวันอยู่แล้ว อีกทั้ง ก.ล.ต. ได้ประสานกับ ตลท. เพื่อนำมาย่อยข้อมูลและเปิดเผยเพิ่มเติมเป็นสารสนเทศให้นักลงทุนได้รับทราบได้โดยง่าย
ส่วนข้อมูลการทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) มีข้อมูลกระจายอยู่หลายแหล่งจำนวนมากที่มีการนำมาเปิดอยู่ โดย ก.ล.ต. มีแนวคิดจะมีการหารือประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมและพิจารณาเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลรายสัปดาห์โดยส่วนนี้คาดว่าจะสามารถทำได้เร็ว
ตลท. ตรวจเข้ม Short Sell แบบเรียลไทม์
ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ระบบการทำงานของ ตลท. ในการตรวจสอบ Short Sell ที่ทำผ่านโปรแกรมเทรด High Frequency Trading (HFT) ปัจจุบันมีการทำงานตรวจสอบทุกธุรกรรมเป็นรายวันและเป็นแบบเรียลไทม์ โดยที่ผ่านมาในปีนี้ยังไม่พบว่ามีการกระทำความผิด
ดังนั้นขอให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า ตลท. มีระบบการตรวจสอบในเรื่อง Short Sell ที่ขั้นตอนการดำเนินการในการตรวจสอบเข้มงวด เช่น ธุรกรรม SBL ตลท. จะมีการสอบถามไปยังโบรกเกอร์ที่นักลงทุนยืมหุ้นเพื่อมาชอร์ตว่าได้ยืมถูกต้องหรือไม่ โดยให้ส่งเอกสารยืนยันมาก่อนที่จะมีการขายหุ้นออก เนื่องจากต้องการเห็นคำสั่งว่าเป็นการซื้อขายหุ้นปกติ หรือเป็นคำสั่งขายลักษณะการยืมหุ้นมาขายชอร์ต
ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบการกระทำผิดกรณี Naked Short Sell เกิดขึ้นก็จะสามารถตรวจจับความผิดที่เกิดขึ้นได้ทันที แต่จะมีกระบวนการดำเนินการตรวจสอบซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิด โดย ตลท. จะเร่งผลักดันให้กระบวนการทำงานตรวจสอบมีความรวดเร็วมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนพบข้อมูลของธุรกรรมผิดปกติ หรือต้องการสอบถามข้อมูล สามารถสอบถามได้ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของ ตลท. รวมถึงส่งข้อมูลผ่านสื่อมวลชนได้
อีกทั้ง ตลท. จะมีการพิจารณาเปิดข้อมูลการทำ Short Sell ของนักลงทุนเป็นรายกลุ่มเช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนรายกลุ่ม รวมถึงมีการรวมข้อมูลที่สำคัญไว้เป็นศูนย์ เช่น ข้อมูล SBL, Short Sell, NDVR เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปใช้ตรวจสอบข้อมูลได้สะดวกขึ้น
สำหรับกระแสข่าวที่มีนักลงทุนบางกลุ่มรวมตัวกันเพื่อหยุดเทรดในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ เพื่อประท้วงแสดงความไม่พอใจการทำงานของ ตลท. ทั้งนี้ ตลท. ยืนยันว่ามีความตระหนักในปัจจัยต่างๆ ที่นักลงทุนมีความกังวลเช่นกัน โดยขอให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการทำงานของ ตลท. และ ก.ล.ต. ว่ามีนโยบายการทำงานร่วมกันที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมเพื่อให้นักลงทุนไม่ถูกเอาเปรียบได้
แจงทำงานบนหลัก CG Policy
ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงสร้างของคณะกรรมการ (บอร์ด) ตลท. เกี่ยวกับ Governance Structure ปัจจุบันองค์ประกอบของบอร์ดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ให้มาจาก 2 กลุ่ม ดังนี้
- บุคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวน 6 คน
- บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกจำนวน 4 คน ซึ่งแก้ไขให้ลดจาก 5 คน ตามกฎหมายกำหนดในปี 2562
โดยการทำงานของ ตลท. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณ (CG Policy) โดยบอร์ดผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณา (Conflict of Interest) จะต้องแจ้งการมีส่วนได้เสีย และไม่เข้าร่วมการพิจารณาในเรื่องนั้นๆ
ด้านการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ ตลท. โดยการดำเนินงาน Day to Day ได้มีการวางแผน และเป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องดำเนินกิจกรรมต่อไป ไม่ได้มีการถูกให้นโยบายเพิ่มเติมจากคณะกรรมการใดๆ ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดโรดโชว์เพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในตลาดทุนไทย ปัจจุบันมีการทำโรดโชว์ใน 3 รูปแบบ ดังนี้
- Inbound Roadshow หรือ Thailand Focus ทุกเดือนสิงหาคม
- งาน Outbound ที่ไปออกร่วมกับโบรกเกอร์ เช่น ลอนดอน, นิวยอร์ก, สิงคโปร์ และฮ่องกง
- ปี 2567 มีแผนโรดโชว์ในตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลางและออสเตรเลีย
รองประธานชี้ โครงสร้างบอร์ด ตลท. เหมาะสมแล้ว
พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง และรองประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะมีการปรับโครงสร้างบอร์ด ตลท. ว่าข่าวที่เกิดจะเป็นจริงหรือเปล่าต้องถามรัฐบาลว่าจะรื้อโครงสร้างบอร์ดหรือไม่
สำหรับสัดส่วนโครงสร้างบอร์ด ตลท. ปัจจุบัน ส่วนตัวมีความเห็นว่ามีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้เคยมีสัดส่วนของโบรกเกอร์ในบอร์ดตลาด 5 คน ซึ่งคนที่ 5 เดิมจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก่อนลดมาเหลือ 4 คน เพราะมองว่าโบรกเกอร์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงของ ตลท. อีกทั้งเป็นผู้เชื่อมต่อโดยตรงกับตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นจึงสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนได้ดีที่สุด เพราะอยู่ใกล้กับนักลงทุนทุกวัน”
“จริงๆ ไม่ได้ Mind ถ้าจะมีคนอื่นเข้ามาร่วมบอร์ดด้วย เพราะโดยปกติแล้วสัดส่วนของ ก.ล.ต. อีก 6 คน จะมีการสรรหาคนที่มีความเหมาะสมจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น นักกฎหมาย นักบัญชี กองทุน ซึ่งความคิดที่อยากจะลดสัดส่วนตรงนี้เป็นเพราะอะไรยังไม่รู้”