สำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมเดินหน้าออกมาตรการใหม่ในเดือนมีนาคมนี้ ใช้คุมเข้ม Program Trading ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พร้อมปรับเกณฑ์เข้มคุณภาพ IPO – บจ. เดิม
พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนจะยกระดับมาตรการในการกำกับดูแลควบคุม Program Trading: PT ที่มีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม โดยจะมีการยกระดับมาตรการเดิม รวมถึงมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาใช้เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เกิดความเอาเปรียบในการลงทุน รวมถึงยกระดับคุณภาพตลาดทุนให้ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะใช้เวลาเพื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวทั้งหมด ซึ่งจะนำไปปฏิบัติว่าสามารถใช้วิธีการใดได้บ้างในทางปฏิบัติ
“ที่เราไม่พูดเป็นส่วนๆ ก็เพราะเชื่อว่ายาขนานเดียวจัดการไม่ได้ คงต้องใช้ยาหลายขนาน ซึ่งก็ต้องเป็นยาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมจะกินยาเหล่านั้นด้วย เชื่อว่ามาตรการเกี่ยวกับ PT (Program Trading) น่าจะออกมาได้เป็นรูปธรรมในช่วงเดือนมีนาคมนี้”
สำหรับสำนักงาน ก.ล.ต. มีผลการศึกษาภายในเกี่ยวข้องกับ Program Trading แล้ว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน จากนั้นจะนำส่งข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าวกลับมาเพื่อหารือกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสัดส่วนการใช้ Program Trading ในตลาดหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเทรนด์ตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้ Program Trading อยู่ที่ระดับ 30-40% ของวอลุ่มซื้อขายเฉลี่ยรวมต่อวัน แต่ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยหากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศบางแห่งที่มีสัดส่วน Program Trading ที่สูงระดับ 70-80% ของวอลุ่มซื้อขายเฉลี่ย
ปรับเกณฑ์ใหม่คุมเข้มคุณภาพ บจ.
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดทำโครงการบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เข้มแข็ง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ (Trust & Confidence) ในตลาดทุน เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนทั้งองคาพยพ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมต่างๆ ตาม 3 มาตรการหลัก ได้แก่ ป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในหลายเรื่องมีความคืบหน้าไปมาก
โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอ และเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันของ ก.ล.ต. ดังนี้
- ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน โดยจะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่างๆ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
ปรับเกณฑ์คุณสมบัติ บจ. ขาย IPO
- ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) คาดมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567
- ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คาดมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ และกองทุนต่างๆ โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567
ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญ (MT) และการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน (RPT) เพื่อกำหนดหน้าที่ให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เพื่อกำหนดให้ต้องยื่นงบการเงินย้อนหลัง 3 ปีล่าสุดที่ผ่านการตรวจสอบและเป็นไปตามมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงิน Publicly Accountable Entities (PAE) เริ่มบังคับใช้แล้ว สำหรับบริษัทที่จะขอยื่นเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2567
รวมทั้งการยกระดับการทำหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมบุคลากรซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทจดทะเบียน (Line of Defense) เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ผู้บริหาร และเลขานุการ รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ (Gatekeeper) เช่น ผู้สอบบัญชีและที่ปรึกษาทางการเงิน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งเดินหน้าส่งเสริมความรู้และความคุ้มครองให้ผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการป้องปราม ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาระบบเพื่อแจ้งเตือนความผิดปกติหรือความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำกับดูแลให้มีความรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ มีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบได้
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เช่น ทบทวนเกณฑ์การกำหนดวงเงินลูกค้า การพิจารณาคุณภาพหลักประกัน และการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อไม่ให้คนไทยซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือ Non-Voting Depositary Receipt (NVDR) รวมทั้งร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ศึกษาแนวทางการออกเกณฑ์ Auto Halt หรือหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว สำหรับหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยคาดว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์และนำมาปฏิบัติได้ภายในปี 2567
เล็งขยายผลฐานความผิดคดี STARK
สำหรับเคสที่อยู่ในความสนใจของประชาชนกรณีคดีทุจริตของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ซึ่ง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหารของ STARK รวม 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไปแล้ว เมื่อปรากฏข่าวหลักฐานในส่วนที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด
โดย ก.ล.ต. ได้ประสานความร่วมมือและติดตามกับ DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อชี้ให้เห็นข้อมูลที่ ก.ล.ต. ใช้ในการพิจารณากล่าวโทษ ซึ่งมีการดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการกล่าวโทษขยายฐานความผิดอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าใกล้จะได้ข้อยุติแล้ว
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. ยังได้ปรับโครงสร้างองค์กรโดยเพิ่มผู้ช่วยเลขาธิการ สายงานบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มเติมอีกหนึ่งตำแหน่ง และปัจจุบันได้แต่งตั้ง พ.ต.ท. สุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการสอบสวนคดีพิเศษ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา