คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) แก้ไขการดำเนินงานพร้อมรายงานการแก้ไขต่อสำนักงานภายใน 15 วัน เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน กรณีไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โครงสร้างการบริหารจัดการและบุคลากรที่ไม่เหมาะสมและเพียงพอ และยังอาจมีประเด็นพิจารณาในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
ตามที่เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งการ Zipmex ให้แก้ไขฐานะการเงินเพื่อให้ดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สืบเนื่องมาจากไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้และต้องระงับการประกอบธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์กำหนด
อีกทั้งสำนักงานยังพบว่าบริษัทไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งสำนักงานได้มีหนังสือเพื่อให้บริษัทชี้แจงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยบริษัทมิได้มีหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ยังอาจมีประเด็นพิจารณาในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 วันที่ 11 มกราคม 2567 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนด จึงมีมติให้บริษัทแก้ไขการดำเนินงานกรณีไม่อาจบริหารจัดการธุรกิจและบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ดังนี้
- แก้ไขฐานะทางการเงินของบริษัท โดยต้องดำเนินการให้สามารถดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามข้อ 15 ของประกาศที่ กธ. 19/2561
- แก้ไขโครงสร้างการบริหารจัดการและบุคลากร โดยบริษัทต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการและบุคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างเหมาะสมให้เป็นไปตามข้อ 8 และข้อ 10 ของประกาศที่ กธ. 19/2561
- แก้ไขโดยจัดให้มีระบบงานในการป้องกันมิให้เกิดการนำทรัพย์สินของลูกค้าที่ฝากไว้ไปใช้หรือหาดอกผลไม่ว่าโดยวิธีใด รวมถึงมีการจัดทำบัญชีของลูกค้าแยกแต่ละราย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน หากต้องมีการดำเนินการเพื่อคืนทรัพย์สินแก่ลูกค้า
เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า “ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรา 35 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 อาจนำไปสู่กระบวนการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต”