×

ก.ล.ต. เปิดแผนเฟส 2 สอบทุจริตคดี STARK ขยายผลหาคนทำผิดเพิ่ม ด้าน DSI ประสานอินเตอร์โพลออกหมายจับ ‘ชนินทร์’ หลังบินหนีไปสิงคโปร์

07.07.2023
  • LOADING...
ก.ล.ต.

ก.ล.ต. เร่งเดินหน้าตรวจหาพยานหลักฐานคดีทุจริต STARK เพิ่ม เล็งขยายผลเฟส 2 หาคนผิดเพิ่ม พร้อมจับมือตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบการซื้อ-ขายหุ้น ขณะที่ DSI ประสานอินเตอร์โพลขอออกหมายจับ ‘ชนินทร์’ หลังบินหนีไปสิงคโปร์

 

ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบคดีทุจริต บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ STARK หลังจากล่าสุดวานนี้ (6 กรกฎาคม) สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษบุคคลรวม 10 ราย ประกอบด้วยกรรมการ อดีตกรรมการ และอดีตผู้บริหารของ STARK ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พร้อมมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดทั้ง 10 รายดังกล่าว และสั่งห้ามบุคคล 5 รายไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว 15 วัน โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการในระยะที่ (เฟส) 1 ของคดีนี้ 

 

ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินในเฟส 2 ต่อไป โดยจะตรวจสอบหาพยานหลักฐาน เพื่อนำมาขยายผลไปยังฐานความผิดอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อติดตามหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดในกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น ประกอบด้วยข้อมูลการซื้อ-ขายหุ้น STARK ทั้งในส่วนการสร้างราคาและปริมาณการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่เกิดความผิดปกติหรือการปั่นหุ้น, การใช้ข้อมูลภายในสำหรับการซื้อ-ขายหุ้น (Insider Trading) โดยในส่วนของการตรวจสอบข้อมูลการซื้อ-ขายดังกล่าวจะมีการประสานการทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นด่านแรกของการซื้อ-ขายหุ้น รวมถึงการตรวจสอบพยานหลักฐานกรณีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ 

 

ส่วนการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด ก.ล.ต. ยังไม่มีดำเนินการใดๆ กับผู้สอบบัญชีของ STARK ขอชี้แจงว่า หลักฐานตรวจพบในชั้นแรกยังไม่ตรวจสอบถึงบริษัทผู้สอบบัญชี โดย ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขอมูลหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบพยานหลักฐานว่าใครที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกราย

 

อย่างไรก็ดี สำนักงาน ก.ล.ต. ยังไม่สามารถให้รายละเอียดในการดำเนินการกับกรณีการตรวสอบกรณีของ STARK เพราะยังอยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวในดำเนินการตรวจสอบ ทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

สำหรับกรณีที่ถูกมองว่า ก.ล.ต. มีการดำเนินการกล่าวโทษและออกคำสั่งอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของ STARK ล่าช้า ไม่ทันการกับการกระทบความผิด เนื่องจากตามหลักการใช้กฎหมายมาตรา 267 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่ใช้ดำเนินการสั่งอายัดทรัพย์สินกับผู้ที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษจำนวนทั้ง 10 รายดังกล่าว ขอชี้แจงว่า การใช้มาตรา 267 มีแนวทางกำหนดขั้นตอนการใช้ไว้ชัดเจน ซึ่งหากมีเพียงเหตุสงสัยเพียงอย่างเดียวว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ยังไม่เข้าเงื่อนไขให้นำไปสู่การสั่งอายัดทรัพย์สินได้ 

 

ทั้งนี้ จะสามารถออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินได้ต้องเข้าเงื่อนไขประกอบด้วย ต้องมีพยานหลักฐานมากเพียงพอให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดจริง และเข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินด้วย ส่งผลให้ ก.ล.ต. จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานให้มากเพียงพอ ขณะที่คำสั่งการอายัดทรัพย์สินในครั้งนี้ได้อายัดทรัพย์ทุกประเภท รวมทั้งหุ้นของ บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ที่ถูกกล่าวโทษถืออยู่ด้วย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK 

          

ส่วนคำสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวโทษจำนวน 5 รายเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 15 วัน หากครบกำหนด ก.ล.ต. สามารถยื่นขอศาลอาญาเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้ และหากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาในการอายัดทรัพย์เพิ่มเติม ก็จะต้องยื่นขอจากศาลอาญา เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้ด้วยเช่นกัน  

         

ด้าน พัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า กรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ที่ถูกกล่าวโทษจำนวนทั้ง 10 รายเป็นระยะเวลา 180 วัน มีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์ 

 

ส่วนกรณีที่วันนี้ (7 กรกฎาคม) มีกลุ่มพนักงานของ บมจ.เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) หรือ PDITL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK จำนวนประมาณ 100 คน เดินทางเข้ามายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมที่สำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากมีความกังวลว่าคำสั่งอายัดทรัพย์สินจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและพนักงานจะกระทบทำให้ไม่ได้รับเงินเดือนนั้น ก.ล.ต. ยืนยันว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานและมีกระบวนการเพื่อมาดูแลในประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยแม้จะมีการอายัดทรัพย์ไว้ แต่บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติและจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ โดยจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท

         

DSI ออกหมายจับ ‘ชนินทร์’ อดีตประธาน STARK หลังมีข่าวหนีไปสิงคโปร์

 

พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีโกงหุ้น STARK เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาคือ ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ จากคดีโกงหุ้น STARK ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. โดยชนินทร์ไม่ได้มาเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก โดยได้รับรายงานว่า ชนินทร์ส่งหนังสือแจ้งเลื่อนหมายเรียก ให้เหตุผลว่าไม่สะดวกเข้าพบในวันและเวลาดังกล่าว แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเข้ามาพบพนักงานสอบสวนวันเวลาใด

 

อย่างไรก็ตาม ในทางการข่าวทราบว่าชนินทร์ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศปลายทางเบื้องต้นเป็นประเทศสิงคโปร์ และ DSI ได้มีการขอศาลออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว ส่วนขั้นตอนถัดไปอยู่ระหว่างการทำสำนวนคดีใกล้แล้วเสร็จ

 

ทั้งนี้ DSI จะดำเนินการประสานกับทางองค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) เพื่อพิจารณาออกหมายแดงกับชนินทร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการติดตามต่อไป

 

DSI ลุยค้นบริษัทเครือ STARK ยึดหลักฐานขยายผลหาคนทำผิดเพิ่ม

 

ส่วน พิทยาภรณ์ ชูรัตน์ รองโฆษก DSI เปิดว่า ความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้น บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หลังจาก DSI ออกหมายจับ ชนินทร์ เย็นสุดใจ เนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าได้หลบหนีจากการติดตามของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีการออกหมายเรียก ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา

 

ต่อมาคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลอาญารวมจำนวน 15 จุด เพื่อค้นหาพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน รวมถึงยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยผิดกฎหมาย โดยเป็นการเข้าตรวจค้นบริษัทจำนวน 5 จุด ได้แก่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น, บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พบการทำธุรกรรมในทางบัญชีและการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และเข้าตรวจค้นบ้าน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่มีชื่อของผู้ต้องสงสัยและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ครอบครองรวมจำนวน 10 จุด 

 

สำหรับผลการตรวจค้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้พบและยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการสอบสวน ทั้งเอกสารการทำธุรกรรมต่างๆ ในบริษัทสตาร์คฯ และบริษัทในเครือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์คอมพิวเตอร์ และเอกสารหลักฐานพยานวัตถุอื่นๆ ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่จะประกอบการสอบสวนและพิสูจน์ถึงพฤติการณ์อันมีลักษณะทุจริต 

 

รวมถึงขยายผลไปถึงบุคคลอื่นที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด รวมทั้งได้พบและยึดเงินสด อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดไว้เพื่อตรวจสอบ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและขยายผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X