อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานบทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 2564 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ก.ล.ต. มีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนในและต่างประเทศ ยังต้องรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมีสิ่งที่อยากจะฝาก ก.ล.ต. ดูแล 5 ด้าน ได้แก่
- บิตคอยน์ เป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาด จึงต้องมีการกำกับดูแลให้ดี ทั้งการให้ความเข้าใจความเสี่ยง ความรู้ของนักลงทุน เพื่อไม่ให้เสี่ยงเกินไปจนมากระทบตลาดทุน
- การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีสภาพคล่องให้การทำธุรกิจ
- สนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุน การออมเงิน การลงทุน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพหรือเวนเจอร์ใหม่ๆ
- การยกระดับความเชื่อมั่นและส่งเสริมการแข่งขันตลาดทุน โดยมุ่งเน้นการวางรางฐานและกฎระเบียบเพื่อให้ตลาดมีความมั่นคง
- การพัฒนาตลาดทุนยั่งยืน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาล (ESG)
ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการลงทุนอย่างเศรษฐกิจยัง ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังส่งผลต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคือวัคซีน แต่ไทยยังต้องมี 3 ภูมิคุ้มกัน ได้แก่
1. วัคซีนในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยต้องเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นการขยายตัวในระดับต่ำ แต่ต้องเติบโตจากคุณภาพอย่างชัดเจน, โดยมีพื้นฐานความมั่นคงเศรษฐกิจจากทุนสำรองระหว่างประเทศ, ฐานะการคลัง และหนี้ของประเทศ (หนี้สาธารณะ)
2. วัคซีนภาคการผลิตและภาคบริการ โดยภาคเอกชนต้องมีภูมิคุ้มกันในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเชื่อว่าบริษัทเอกชนในตลาดมีการดูแลเรื่องนี้อย่างดีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก
3. วัคซีนภาคประชาชน ทั้งการดูแลผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงการออม การลงทุนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในอนาคต
ในส่วนการคลังที่ผ่านมา รัฐบาลมีการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบแล้ว แต่ยังเป็นช่วงระยะสั้นเท่านั้น เพราะไม่มีประเทศไหนจะเยียวยาแบบนี้ได้ตลอดไป แต่นโยบายการคลังยังต้องสอดประสานกับนโยบายการเงินเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันคลังยังต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตอนนี้ดำเนินการระยะที่ 2 โดยอยู่ระหว่างการศึกษาต่อจากสิ่งที่เราทำไปแล้ว
ส่วนในระยะข้างหน้าการลงทุนของภาครัฐยังต้องเพิ่มขึ้น โดยรัฐจะมุ่งไปที่โครงสร้างพื้นฐาน โดยธุรกิจที่ยังมีโอกาสขยายตัวตามกระแสโลก ได้แก่ ‘ดิจิทัล’ ที่จะเห็นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาในรูปแบบดิจิทัลของรัฐจะมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด Green Business โดยจะมุ่งไปที่ธุรกิจ EV ทั้งรถไฟฟ้าส่วนบุคคล รถไฟฟ้าสาธารณะ ฯลฯ และ Healthcare-Wellness ที่จะสอดรับกับสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นในไทย และเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการได้มากขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า