ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) (NEX) และ (2) คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ของ NEX กรณีเปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น NEX ของคณิสสร์ โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินตามมาตรการลงโทษทางแพ่งรวม 1,070,722 บาท
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 7 และ 11 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ NEX ได้มีมติให้มีการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement: PP) จำนวน 75,000,000 หุ้น โดยจะมีการจัดสรรหุ้นให้คณิสสร์ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ อันเป็นการทำรายการระหว่างบริษัทกับกรรมการ/ผู้บริหาร โดยมีมูลค่าที่ถือว่าเป็นรายการขนาดใหญ่และเข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน NEX จึงมีหน้าที่เปิดเผยสารสนเทศเกี่ยวกับการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ NEX ได้เปิดเผยสารสนเทศดังกล่าวผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2567 โดยใช้ข้อมูลในอดีตที่แสดงสัดส่วนการถือหุ้นของคณิสสร์ที่ไม่เป็นปัจจุบัน จึงเป็นการที่ NEX เปิดเผยสารสนเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น NEX ของคณิสสร์
การกระทำของ NEX เป็นความผิดและมีระวางโทษตามมาตรา 281/10 (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และมาตรการลงโทษทางแพ่งตามมาตรา 317/4 และมาตรา 317/5 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน โดยคณิสสร์ ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล กระทำการเป็นเหตุให้ NEX กระทำความผิดในกรณีข้างต้นจึงต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 281/10 (2) แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย ชำระค่าปรับทางแพ่งและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินรายละ 535,361 บาท
มาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนดจะมีผลเมื่อผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง