หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทยได้ออกเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่ม 2 ส่วน คือ ให้ผู้ประกอบการด้านคริปโตเคอร์เรนซีเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโตแก่ลูกค้า และออกหลักเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบการด้านคริปโตให้บริการที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (Deposit Taking และ Lending) เพื่อปกป้องนักลงทุนจากความเสี่ยงของบริการดังกล่าว
เกณฑ์ดังกล่าวทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากสิงคโปร์ ที่ไม่ให้ผู้ประกอบการเสนอบริการ Deposit Taking และ Lending แก่นักลงทุน
แล้วการออกเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมคริปโตในไทยเช่นไรบ้าง?
การออกเกณฑ์นี้ของ ก.ล.ต. นับว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีนั้นคือการช่วยนักลงทุนลดความเสี่ยงจากการถูกนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ฝากไว้กับแพลตฟอร์มไปหาผลตอบแทน ที่อาจทำให้สินทรัพย์ก้อนดังกล่าวกลายเป็นศูนย์ได้
ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีของอดีตแพลตฟอร์มเบอร์ต้นของไทยอย่าง Zipmex ที่เคยเสนอบริการในรูปแบบ Deposit Taking แต่แพลตฟอร์มที่ Zipmex นำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปหาผลประโยชน์กลับล้มละลายจนไม่อาจคืนเงินแก่นักลงทุนได้ในท้ายที่สุด เป็นต้น
แต่ในอีกแง่หนึ่ง เกณฑ์ดังกล่าวก็อาจทำให้ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการในแวดวงคริปโตของไทยลดลง
และสำหรับผู้ประกอบการด้านคริปโตภายในประเทศที่เป็นผู้นำตลาดอย่าง Bitkub ก็จะไม่สามารถนำเสนอบริการคริปโตได้อย่างครอบคลุมเหมือนแพลตฟอร์มคู่แข่งจากต่างชาติ
ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้งานที่เต็มใจรับความเสี่ยง หันไปหาแพลตฟอร์มจากต่างชาติแทน อย่าง Binance หรือ OKX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคริปโตชั้นนำของโลก เป็นต้น จนทำให้ผู้ประกอบการของไทยอาจต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวไป
อ้างอิง: