×

ก.ล.ต. เตรียมเปิดทาง บจ.-แบงก์ไทย ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล หวังเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ลงทุน คาดเริ่มใช้ได้ใน 1H66

15.03.2023
  • LOADING...
ก.ล.ต. เตรียมเปิดทาง บจ.-แบงก์ไทย

บอร์ด ก.ล.ต. อนุมัติเตรียมแก้เกณฑ์ปลดล็อกให้ บจ.-ธนาคาร เปิดให้บริการ Custodial Wallet Provider ได้ หวังเพิ่มความคุ้มครองดูแลทรัพย์สินนักลงทุนให้ปลอดภัยมากขึ้น แทนการนำทรัพย์สินลูกค้าไปฝากกับ Custodial ต่างประเทศ ซึ่งยอมรับว่ากังวลปัญหาแบงก์สหรัฐฯ มีความเสี่ยงกระทบ

 

เอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบในเรื่องสำคัญโดยทบทวนหลักเกณฑ์สำหรับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Custodial Wallet Provider) ให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดผู้ให้บริการฯ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และบริษัทย่อย รวมถึงสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มที่มีประสบการณ์เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า 

 

ทั้งด้วยแนวคิดดังกล่าวจะสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือเดียวได้ หากปฏิบัติตามเกณฑ์ความเป็นอิสระต่อกันตามที่กำหนด เพื่อลูกค้าที่ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศไทยและเป็นการดูแลสินทรัพย์ของลูกค้าให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดว่าการแก้เกณฑ์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จและประกาศมีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้


“เดิมเกณฑ์ ก.ล.ต. ปัจจุบันกำหนดให้ผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ก.ล.ต. ต้องมีระบบดูแลสินทรัพย์ของลูกค้าโดยต้องไปฝากไว้กับ Third Party ซึ่งจะเป็น Custodial สถาบันการเงินที่อยู่ในต่างประเทศ แต่พอเกิดสถานการณ์แบงก์ในสหรัฐฯ ล้ม ก.ล.ต. ก็ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องนำสินทรัพย์ลูกค้าไปฝากใน Custodial เท่านั้น” เอนกกล่าว 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าผู้ที่ทำหน้าที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลได้ที่สุด คือสถาบันการเงิน หรือ บจ. ที่ฐานะทางการเงินที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม เดิม ก.ล.ต. ห่วงเรื่อง Conflict of Interest หรือผลประโยชน์ทับซ้อนของธนาคาร เพราะหากมีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วนำสินทรัพย์ลูกค้ามาฝากกับธนาคารที่เป็นบริษัทแม่จะเกิด Conflict

 

“ที่ผ่านมา แม้มีแบงก์สนใจหลายแห่ง แต่ก็มีเกณฑ์ ก.ล.ต. ห้ามไว้ ซึ่งการปลดล็อกตรงนี้จะช่วยให้สินทรัพย์ของลูกค้ามีความปลอดภัย เพราะมี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่ช่วยดูแลคุ้มครองทรัพย์ของลูกค้าไม่ให้ถูกผลกระทบ เพราะ Custodial ไม่มีกฎหมายของไทยครอบคลุมดูแลไปถึงหากเกิดปัญหาขึ้นมา” เอนกกล่าว 

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีแนวนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในภาพรวม ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ตลาดแรก ตลาดรอง และการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมกำหนดแนวทางสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนรูปแบบ ‘Investment Token’ เพื่อให้นโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลมีทิศทางที่ชัดเจน มีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตของตลาดทุนและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

โดยครอบคลุมการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรก การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดรอง รวมทั้งการกำกับผู้ประกอบธุรกิจตามระดับความเสี่ยงและการตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรม สอดรับกับข้อพิจารณา 4 ข้อของหน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนสากล (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) ที่สะท้อนสถานการณ์ในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย

 

  1. การดูแลเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 
  2. การเก็บรักษาและการแยกทรัพย์สินลูกค้า 
  3. การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม 
  4. ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุน ในขณะที่ยังคงคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังเห็นชอบให้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ และการทบทวนหลักเกณฑ์ด้านความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องขอความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สามารถติดตามการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น   

 

อีกทั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้นโยบายที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สามารถให้บริการโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนและโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะไม่พร้อมใช้ (Utility Token ไม่พร้อมใช้) ได้ เนื่องจากมีลักษณะและความเสี่ยงใกล้เคียงกับหลักทรัพย์ ขณะที่คริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) มีความเสี่ยงสูง จึงมีนโยบายในการกำหนดการลงทุนโดยกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนรายย่อยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงยิ่งขึ้นอีกด้วย 

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีและ Utility Token พร้อมใช้ ต้องแยกนิติบุคคลในการให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้าและธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ในระหว่างศึกษาข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X