สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหาร และอดีตกรรมการและผู้บริหารของ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG รวม 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และได้ร่วมกันกระทำการหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวกับบริษัท เพื่อลวงบุคคลใดๆ
ก.ล.ต. เปิดเผยถึงการตรวจสอบพบว่า บุคคล 4 ราย ซึ่งขณะเกิดเหตุในช่วงปี 2558-2560 เป็นกรรมการและผู้บริหารของ NMG ได้แก่
- ดวงกมล โชตะนา
- ณัฐวรา แสงวารินทร์
- สุพจน์ เพียรศิริ
- สิริชาย ชนานำ
ซึ่งได้ร่วมกันตัดสินใจ อนุมัติ สั่งการ และดำเนินการให้บันทึกรายได้ค่าโฆษณาที่ไม่มีจริงในงบการเงินของ NMG
ทั้งนี้ จากพยานหลักฐานพบการตกแต่งรายได้และรายได้ค้างรับค่าโฆษณาของ NMG ในงบการเงินปี 2558-2560 ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่มีอยู่จริงและเรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้จริง โดยบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าวได้ร่วมกันสั่งการให้บันทึกรายได้ที่ไม่มีอยู่จริงในลักษณะแบ่งหน้าที่กัน อีกทั้งยังแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขายโฆษณา เพื่อเอื้อให้ฝ่ายขายบันทึกใบจองโฆษณาปลอมเข้าไปในระบบการขายโฆษณา และให้ฝ่ายบัญชีนำใบจองโฆษณาปลอมดังกล่าวมาบันทึกเป็นรายได้และรายได้ค้างรับจำนวน 691 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกตรวจพบในปี 2561 โดยบริษัทได้แก้ไขงบการเงินและเปิดเผยผ่านสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วในเดือนสิงหาคม 2561
การกระทำของผู้บริหาร และอดีตกรรมการและผู้บริหาร NMG กับพวก รวม 4 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นการร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ทำให้ NMG ได้รับความเสียหายจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และได้ร่วมกันกระทำการหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ NMG หรือที่เกี่ยวกับ NMG เพื่อลวงบุคคลใดๆ ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัท นับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ