×

สัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ‘ฌอน Poem’ แฟชั่นดีไซเนอร์ที่ส่งต่อคุณค่าของช่างตัดเสื้อให้กับผู้หญิงยุคใหม่

04.10.2020
  • LOADING...
ฌอน Poem

การทำแบรนด์แฟชั่นในยุคนี้ จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ความง่ายคือใครก็สามารถมีแบรนด์เป็นของตัวเองได้ เพียงแค่ปลายนิ้วสไลด์หน้าจอ คุณสามารถมีแฟชั่นเซ็ตสวยๆ โดยเนรมิตได้ข้ามคืน และพร้อมขายของผ่านโซเชียลได้ทันที แต่ความยากก็อยู่ตรงที่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะทำแล้วประสบความสำเร็จ อยู่รอดปลอดภัย และก้าวไปสู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมได้

 

แบรนด์ที่ผ่านการคัดเลือก คัดกรองจากแบบทดสอบการแข่งขันในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ฟาดฟันกันพอๆ กับการแย่งที่นั่งในมหาวิทยาลัย มักจะเป็นแบรนด์หัวกะทิที่มีเรื่องราว มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น มีสินค้าได้คุณภาพไร้ที่ติ มีการวางแผนการตลาดอย่างรอบคอบ และต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 

และสำหรับ Poem คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นตัวจริงในวงการ เพราะเสื้อผ้าของแบรนด์ได้มีเครื่องหมายติ๊กถูกในทุกข้อที่กล่าวมาแล้ว โดยมีบุคคลสำคัญอย่าง ‘ฌอน-ชวนล ไคสิริ’ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘ฌอน Poem’ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ที่พาให้แบรนด์ไทยแบรนด์นี้มาอยู่แถวหน้าของวงการแฟชั่นประเทศไทยได้

 

ด้วยเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์อย่างชุดเข้าเอว หรือที่เรียกกันว่า ‘เอวสับ’ ที่ใครใส่แล้วเป็นต้องขึ้นยานแม่กันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชุดแต่งงานของดารา ชุดสูทไล่สีในสภา หรือชุดราตรีพรมแดงงานออสการ์ ล้วนผ่านสายตาของชายผู้นี้ ผ่านทักษะของช่างตัดเสื้อที่ส่งต่อมาจากรุ่นแม่ที่สั่งสมมานานนับสิบๆ ปี กลายมาเป็นจุดยืนของแบรนด์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ 

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ THE STANDARD POP เลือก ฌอน Poem มาเป็นตัวแทนของดีไซเนอร์ในซีรีส์สัมภาษณ์ FASHION UNFOLD เขาไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่มีไลฟ์สไตล์หวือหวา หรือเป็นดาวเด่นในวงสังคม แต่ปล่อยให้ผลงานของเขาเฉิดฉายด้วยตัวเอง เราได้พูดคุยว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากส่งต่อให้ผู้หญิงยุคใหม่ ผู้คนทั่วไปติดตามแบรนด์ ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ วงการแฟชั่นไทย ในออฟฟิศของแบรนด์ที่น้อยคนนักจะได้มาเยือน

 

ฌอน Poem

 

เคยคิดมาก่อนไหมว่าตัวเองจะได้มาเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์

เราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นดีไซเนอร์เลย ด้วยความบังเอิญที่คุณแม่เป็นช่างเสื้อ แล้วตอนเด็กโตมาในห้องเสื้อที่เป็นร้านตัดเสื้อของคุณแม่ กลับมาจากโรงเรียน นั่งกินข้าว โต๊ะกินข้าว โต๊ะที่นั่งทำการบ้าน คือโต๊ะแพตเทิร์นของแม่จะเป็นโต๊ะใหญ่ๆ แบบนี้ แล้วเราก็นั่งตรงข้ามแม่ แม่ก็จะทำแพตเทิร์นไป เราไม่ได้อยากเรียนและแม่ก็ไม่เคยคิดจะสอน แต่การมองเห็นทุกวันมันก็ซึมซับ พูดได้ว่ามีสายตาเรื่องแพตเทิร์นก่อนจะเป็นเรื่องแฟชั่นอีก

 

คิดว่าตัวเองเป็นช่างตัดเสื้อหรือหรือแฟชั่นดีไซเนอร์มากกว่ากัน

ที่จริงในบางบทบาทเราต้องเป็นช่างตัดเสื้อ ถ้าลูกค้าเป็นลูกค้า Made to order อยากได้ชุดเจ้าสาวจากเรา หรือชุดไปงานสำคัญมากๆ ในชีวิต เราจะไปเจอเขาในแบบที่แม่เราเจอลูกค้า 

 

สิ่งที่ช่างตัดเสื้อทำได้ดีกว่าดีไซเนอร์ คือการสื่อสารกับคน การอ่านคน อ่านทั้งสรีระ แรก คาแรกเตอร์ของคน บทบาทที่เราเจอลูกค้า จะพยายามถ่ายทอดความรู้สึก ถ่ายทอดเอ็นเนอร์จีด้านดีให้กับเขาในแบบที่ช่างตัดเสื้อให้กับลูกค้า

 

แล้วดีไซเนอร์ที่ดีสำหรับพี่ฌอนต้องเป็นอย่างไร

บางวันเราก็ต้องมองตัวเองว่าวันนี้เราจะต้องเป็นนักการตลาด วันนี้เราอาจต้องเป็นนักพีอาร์ บางวันเราอาจจะต้องเป็นดีไซเนอร์ที่คุยกับทีมดีไซน์ แล้วก็ต้องเคาะให้ได้ว่ามันจะมีอะไรใหม่ออกไปให้กับวงการแฟชั่น หรือว่าวงการดีไซน์ที่เขาจับตามองเราอยู่ เราต้องทำให้ได้หลายบทบาท ดีไซเนอร์ที่ดีต้องบาลานซ์ให้ได้

 

ฌอน Poem ฌอน Poem

 

ทุกวันนี้ยังมีสิ่งที่คนเข้าใจผิดมากที่สุดในการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์อยู่ไหม

อาจจะคิดว่าทุกอย่างมันสวยหรู เพราะว่าสิ่งที่เห็นมันเห็นอยู่หน้าม่าน แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นว่าหลังม่านมีความวุ่นวาย เราต้องทำงานด้วยความอดทน มีความกดดันเรื่องการทำงานให้ทันเวลาอยู่ในทุกชั่วโมงการทำงาน 

 

เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา เราแข่งกับตัวเลขด้วย ทุกวันที่ผ่านไปมีค่าใช้จ่ายต่างๆที่กดดัน คนมองไม่เห็นความกดดัน เห็นแต่ว่ามีนางแบบใส่ชุดสวย เดินบนพรมแดง เวทีแฟชั่นโชว์ ทั้งที่จริงเบื้องหลังคือการทำงานของคนมหาศาล มีคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องอยู่หลังธุรกิจนี้เพื่อให้มันขับเคลื่อนออกไปได้

 

ถ้าเราเดินไปห้างห้างหนึ่ง Poem เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่มีสินค้าลอกเลียนแบบมากที่สุด คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้

มีหลายอย่างที่เขาลอกเลียนได้และไม่ได้ เขาจะต้องก๊อบอะไรที่สามารถขายกับลูกค้าได้ว่าชุดนี้มาจาก Poem อย่างแรก ลายพิมพ์ สอง ดีไซน์ รูปทรง แต่สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือแพตเทิร์น และเรื่องสรีระของผู้หญิง แต่ของปลอมเขาไม่มีเมสเสจตรงนี้ 

 

สิ่งที่ของปลอมลอกเลียนเราไม่ได้คือหัวใจของแบรนด์ที่ลูกค้า Poem เท่านั้นถึงจะรู้ มันก็เลยไม่ค่อยมีผลกระทบกับธุรกิจเท่าไร โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 นี้จะเริ่มเบาลง สินค้าปลอมก็ได้รับอิทธิพลไปด้วย เราไม่ค่อยออกคอลเล็กชัน เขาก็ใช้การทำซ้ำรูปเก่าของแบรนด์ มันจะกลายเป็นเหมือนคอสเพลย์ บางทีมันเป็นด้านดีนะ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จบางอย่าง ที่คนให้คุณค่าบางอย่างกับเรา

ฌอน Poem ฌอน Poem

 

มีช่วงที่ท้อหรือคิดอยากที่จะล้มเลิกแบรนด์บ้างหรือเปล่า

มี การเมืองปี 2553 ตอนที่การเมืองเข้มข้นมากๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่สยามไฟไหม้ ดีไซเนอร์ตอนนั้นครึ่งหนึ่งปิดแบรนด์ไปเลย ที่รอดก็มาถึงทุกวันนี้ เหมือนล้างเผ่าพันธุ์ไปครึ่งหนึ่ง การเมืองมาพร้อมกับเศรษฐกิจ ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย เราก็ต้องปิดร้าน ขายของไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีขายออนไลน์เหมือนตอนนี้

 

ช่วงนั้นไม่ต้องพูดถึงเทรนด์แฟชั่นเลย เราได้แต่รอดูข่าวที่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้เราเกิดความคิดเล็กๆ ว่าอยากกลับไปสอบใบวิชาชีพสถาปัตฯ ไปสมัครงานเป็นสถาปนิก ก็วูบขึ้นมา แต่ก็ผ่านมาได้ ร้านที่สยามไม่ได้โดนไฟไหม้ ทำให้เรากลับมาตั้งตัวอีกครั้ง

 

ในโลกโซเชียลจะมีแฮชแท็กว่า #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์ Poem ที่เคยเป็นไวรัล คิดอย่างไรกับวลีนี้

มันมาจากทวิตเตอร์ เจอวลีนี้เพราะแฟชั่นโชว์ครั้งหนึ่ง มีคนไปโพสต์และเราชอบ มันพ้องเสียงพ้องรูปดีเลยเอามาแชร์ มันดังเป็นไวรัลอีกครั้งหนึ่งตอนเป็นข่าวในสภา คนก็ติดปาก แชร์ เหมือนขึ้นท็อปในแฮชแท็กทวิตเตอร์ เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องคอยเตือนตัวเอง ว่ามีคนจับตามองเราอยู่ เวลามีคนใส่แล้วเป็นข่าวเกี่ยวกับชุดของเรา แต่ตัวแบรนด์ต้องชัดเจนในการดีไซน์ชุดนี้ ในกระแสดิจิทัล ไวรัล ถ้าแบรนด์ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน มันจะหลงทาง ไปทางไหนก็ไม่รู้

 

ผู้หญิงแบบไหนถึงจะใส่ชุดของ Poem ออกมาแล้วสวย

ผมเคยให้นิยามไว้ 3 อย่าง อย่างแรกผู้หญิง Poem เข้าใจตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รู้จักเรื่องกาลเทศะ รู้จักเรื่องการใช้เงิน สามอย่างนี้คือสิ่งที่ผู้หญิง Poem ต้องมี คนจะเข้าใจว่าต้องผอมแบบเอวสับ บางคนไม่เข้าใจตัวเองว่าสรีระบางอย่างมันคือความงาม ถ้าเรารู้จักตัวเองจะต้องไม่ปฏิเสธตัวเอง

 

ชุด Poem มันเป็นโครงสร้างเสื้อผ้าแบบคอร์เซ็ต มันเป็นเฝือกอ่อนที่บีบซี่โครงเข้าไป ถ้าคนที่เข้าใจว่ามันคือการปั้นรูปทรงใหม่ให้กับสรีระเขา แล้วคนนั้นคลิก เขาจะชอบเลย ดีไซเนอร์บางคนจะมองว่าคอร์เซ็ตมันคือความทรมาน แต่สำหรับ Poem มองว่าคอร์เซ็ตเป็นเรื่องของสกิลช่างเสื้อ ในทางกลับกันถ้ามีคนมองว่าทรมาน แต่มีผู้หญิงบางคนมีความสุขกับการทรมานแบบนี้

ฌอน Poem

 

 

แล้วผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจหลักอย่างคุณแม่ เขามีส่วนสำคัญกับแบรนด์ Poem อย่างไร

คุณแม่เป็นเหมือนตำนานของช่างตัดเสื้อ เป็นเอสเซนส์จริงๆ ที่อยู่ข้างในสุดของแบรนด์ที่ผมพยายามจะเล่าเรื่องของงานที่แม่ทำให้ทุกคนได้ฟัง เขามองแล้วเขาจะดูออกว่ามีอะไรที่มันทำได้ดีกว่าที่เราทำ 

 

สิ่งที่ยากที่สุดของการทำแบรนด์ Poem ก็คือการทำชุดสับเอวอย่างไรไม่ให้ย่น ด้วยตัวเราเองไม่มีความรู้ตรงนี้เลย ต่อให้ไปเรียนตัดเสื้อมาคนก็จะไม่รู้ มันต้องเป็นประสบการณ์ แต่ถามว่าทุกวันนี้ยังเถียงกันไหมในเรื่องแพตเทิร์น เถียงทุกวัน ทุกเส้นก็ยังเถียงกันอยู่ แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราเถียงกันนี่แหละทำให้เกิดเป็น Poem

 

ตอนนี้หลายแบรนด์มีการส่งเสื้อผ้าให้แฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโปรโมตเสื้อผ้า สำหรับ Poem เรามองกลยุทธนี้ไว้อย่างไร

กลยุทธ์เกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์หรือเซเลบริตี้ มันใช้ได้ตลอด แต่เราอย่าลืมว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 แบบนี้ บางครั้งมันไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดของการทำธุรกิจ 

 

บางคนคิดว่าตัวเองมีคอนเน็กชันเซเลบริตี้เยอะ จะทำอะไรกับใครก็ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือเราได้คอนเน็กชันกับเซเลบริตี้กลุ่มเล็กๆ ที่มีความเชื่อมโยง กลุ่มนี้จะเหนียวแน่นกับเรา เรามีกลุ่มเล็กที่สามารถพูดเมสเสจของแบรนด์เราได้ชัดเจน ฟังแล้วเข้าใจดีกว่า เพราะคนที่ฟังเขาจะเข้าใจสิ่งที่ถูกต้องเกี่ยวกับแบรนด์  

 

ในยุคนี้แฟชั่นดีไซเนอร์สมัยนี้ต้องทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ต้องขยันออกงานสังคม แต่พี่ฌอนก็ยังเลือกที่จะอยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

คนในความคิดของคนรุ่นใหม่สมัยนี้จะมีความเข้าใจบางอย่างที่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดนะ ว่าถ้าจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ต้องไปออกงานสังคม แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดแบบนั้นเลย เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ หน้าที่หลักของคุณคือต้องทำเสื้อผ้า เข้าใจเสื้อผ้าก่อน มีไอเดียอะไรใหม่ แล้วมาทำไอเดียนั้นให้ออกมาเป็นสามมิติ เป็นชิ้นเป็นอันได้ ตอนนั้นคุณค่อยไปงานสังคมเพื่อไปเจอคน

 

สุดท้ายเสื้อผ้าของผมมันคุยกับลูกค้าได้เองในห้องลอง คนที่ใส่เขาเข้าใจสิ่งที่เราออกแบบมา เราไม่จำเป็นต้องไปเล่าเรื่อง อธิบาย ไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่เราก็มีออกงานอีเวนต์เหมือนกันนะบางที เราก็ไม่ได้แอนตี้ตรงนั้นเลย

 

ฌอน Poem

 

มีสิ่งที่กังวลกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่บ้างไหม 

เคยเห็นบางคนทำงานจากการดู Pinterest แล้วเรารู้สึกว่าบางทีมันก็ไม่ใช่ ทำไมคุณไม่ลองทำแพตเทิร์นดู ลองทำงานกับช่างตัดเสื้อดู ดีไซเนอร์เด็กๆ มีมู้ดบอร์ดที่สวยมาก ถ้าให้พรีเซนต์มู้ดบอร์ด ให้เล่าสตอรีบอร์ดนะ ฆ่ากัน โอ้โห ยอมแพ้ นี่คือลงไปกราบเลย แต่ถ้ามาถึงงานแพตเทิร์นกับงานฟิตติ้ง น้องๆ ที่มีจินตนาการบรรเจิดแต่มาตายด้วยการทำของจริงอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย มันเหมือนความฝันที่มันไม่ได้ทำให้เป็นจริง

 

คิดว่าวงการแฟชั่นไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

พัฒนาไปเยอะมากนะ ถ้าเปิดแบรน์ตอนนี้คู่แข่งก็น่ากลัวอยู่ ในเอเชียมีเกาหลีที่มีแมตทีเรียลของการทำโครงสร้างเสื้อผ้าที่ดูน่าตื่นเต้น แต่สำหรับการดีไซน์กับสไตลิ่งคนไทยเก่งมาก โดยเฉพาะดีไซเนอร์เด็กๆ เขามีมุมมองคนยุค 90 ซึ่งเราเป็นคนยุค 80 ไอเดียของเขาน่าสนใจมาก ไทยดีไซเนอร์เราสามารถโกอินเตอร์ได้ไม่ยากเลย ถ้าเรามีความพร้อมในการทำธุรกิจ การบริหารจัดการทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ไม่ไกลและพยายามทำให้ได้ 

 

ฌอน Poem

 

อยากให้คนที่ติดตาม Poem ได้อะไรกลับไปจากแบรนด์

สิ่งที่ Poem พยายามปลูกฝังให้กับผู้หญิงคือการเข้าใจตัวเอง การยอมรับตัวเอง และการเคารพตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ที่เราทำมาตลอด เราอยากให้คนมองแบรนด์ของเราว่ามันมีคุณค่า สมมติว่าผ่านไปร้อยปีแล้วคนเปิดหนังสือแฟชั่นมา เราอยากเห็นคนเขียนคำบรรยายของเสื้อผ้าเราว่า เราเอาสกิลของช่างตัดเสื้อมาผสมกับเทคโนโลยีในปี 2020 เราเล่าเรื่องของการตัดชุดในแบบใหม่ที่ไม่ใช่ 1950 ไม่ใช่ 1980 แต่มันเป็นการทำชุดในแบบที่ Poem เป็น ผมก็เชื่อว่ามันกำหนดทิศทางบางอย่างให้ไม่ใช่แค่วงการแฟชั่น แต่เป็นคัลเจอร์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่เขาเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น

 

ในอนาคตอยากทำสินค้าอะไรเพิ่มไหม

เคยฝันอยากทำ Tea Room ถ้าคนที่เคยอยู่กับช่างเสื้อจะรู้ดี ว่าคนที่เป็นช่างเสื้อจะชอบทำอาหารด้วย คุณแม่เราชอบทำขนม เพราะมันกลายเป็น Dressmaker Culture มันมีไอเดียบางอย่างที่ขนานกันระหว่างทำขนมและทำเสื้อผ้า ศาสตร์ของการทำแป้ง ไส้ขนม มันมีสกิล ฯลฯ สูตรที่ไม่ได้วัดตวง แต่ตักมือและจำความรู้สึกเอา 

 

ถ้าวันหนึ่งเราจะขยายไลน์ Poem เราอยากทำร้านน้ำชา ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหม่ มีดีไซเนอร์หลายคนที่ไปทำร้านอาหารก็มี ด้วยความที่เราเป็นคนไทยเชื้อสายจีน โตมากับการดื่มชาอยู่แล้ว ขนมที่มากับน้ำชามันมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับงานฝีมือบางอย่างที่ช่างตัดเสื้อเป็นคนเล่า

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X