×

ย้อนรอย ฌอน บูรณะหิรัญ คลิปปลูกต้นไม้กับ พล.อ. ประวิตร ที่ทำให้ชีวิตพลิกผัน

29.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

 

  • ปรากฏการณ์ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ อาจเรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์ ‘ทัวร์ลง’ เมื่อสังคมต่างวิพากษ์และมีปฏิกิริยาที่หลากหลายต่อคลิปปลูกต้นไม้กับนักการเมืองชื่อดัง
  • รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง มองว่านี่คือการสื่อสารการเมืองที่ ‘ล้ำเส้น’ เป็นการสื่อสารการเมืองที่ดูขัดต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม
  • รศ.ดร.นันทนา มองว่าการที่จะชมว่า พล.อ. ประวิตร น่ารักนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การไปพูดถึงสื่อว่าอาจชี้นำและทำให้ไขว้เขวนั้นถือว่าเป็นการดูถูกผู้รับสาร
  • ถึงแม้ฌอนจะไม่ใช่ดาราศิลปินที่มีหน้าที่ให้ความบันเทิง แต่ต้องยอมรับว่าฌอนคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด และมีผลต่อแนวทางการใช้ชีวิตของใครอีกหลายคน การที่เขาเผยแพร่คลิปดังกล่าวและพยายามใช้เหตุผลโน้มน้าว ผลที่ตามมาจึงเป็นต้นทุนที่ฌอนต้องจ่ายเอง

 

 

ชื่อของ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ นักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่มีผลงานทั้งแฟนเพจและหนังสือ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 เพียงชั่วข้ามคืน หลังจากที่เขาได้ปล่อยคลิปวิดีโอ ‘ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร’ 

 

โดยเนื้อหาในวิดีโอดังกล่าวเป็นการปลูกป่าภายใต้กิจกรรม Climate Festival @North พลัง เหนือ ธรรมชาติ ที่ห้วยตึงเฒ่า จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักก็คือประเด็นที่เขาพูดถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

 

คลิปวิดีโอความยาวเกือบๆ 4 นาทีเปิดด้วยการกระซิบกับกล้องว่า “วันนี้เราจะมาร่วมงานกับท่านประวิตร” และตามด้วยประโยคที่ว่า “เดี๋ยวเราจะไปดูกันว่าสิ่งที่ทุกคนพูดมันจริงไหม” จากนั้นก็เป็นการสัมภาษณ์ความรู้สึกของเขาเอง โดยเขาบอกว่าดีใจที่ได้มาร่วมกับโครงการนี้ เพราะว่าทำให้คนรับรู้เกี่ยวกับเรื่องการเผาป่าที่เชียงใหม่มากขึ้น และเขาบอกว่าดีใจที่ผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อประเทศมาด้วย

 

และมาถึงจุดที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกลายเป็นกระแส ก็คือการกล่าวถึง พล.อ. ประวิตรว่า “เมื่อกี้ได้เจอท่านประวิตร มันไม่เหมือนที่เราเห็นในรูป meme ที่เขาหลับและภาพดูร้ายหน่อย แต่พอได้เห็นตัวจริง เหมือนเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารัก” และเขายังเตือนผู้ชมว่า “สิ่งที่เราเห็นในสื่อมันก็มีเจตนาที่จะทำให้เราคิดอะไรบางอย่าง อย่าเพิ่งตัดสินใจจนกว่าเราจะได้เจอเขาจริงๆ ได้คุยกับเขา และได้สัมผัสกับเขา น้องๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ อยากให้รู้ว่าข่าวก็มีเจตนาของเขานะ อย่าเพิ่งเชื่อ 100%”

 

ก่อนหน้านี้นักพูดสร้างแรงบันดาลใจไม่เคยพูดถึงการเมือง ขณะที่คอนเทนต์หลักของเขาคือเรื่องเล่าที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ แต่ในวันที่เขาเอ่ยปากพูดถึงนักการเมืองชื่อดัง กลับกลายเป็นว่ากระแสที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นไฟลามทุ่งที่ปฏิกิริยาต่างๆ กลายเป็นเหมือนเปลวเพลิงโอบล้อมตัวเขาไว้อย่างแน่นหนา

 

ขณะที่ล่าสุดสังคมไม่ได้ตั้งคำถามแต่เพียงเรื่องที่เขาพูดถึง พล.อ. ประวิตร แต่ยังมีคำถามถึงการที่เขาเปิดรับบริจาคเงินเพื่อนำไปมอบให้กับทีมดับไฟป่า ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเปิดประเด็นโดย ‘แหม่มโพธ์ิดำ’ เพจเฟซบุ๊กชื่อดัง ที่นำจดหมายเปิดผนึกของทีมดับไฟป่ามาแสดงต่อสาธารณชน ระบุใจความสำคัญว่าทีมอาสาดับไฟป่าไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือจากฌอนแต่อย่างใด 

 

จากนั้นไม่นาน ฌอนก็นำหลักฐานการบริจาคต่างๆ โดยปรากฏยอดการรับบริจาคจำนวน 875,741.53 บาท และนำภาพกิจกรรมที่ตนเองได้นำเงินบริจาคไปซื้อสิ่งของต่างๆ พร้อมทั้งนำใบเสร็จมาแสดง แต่แล้วก็มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการใช้เงินบริจาคจ้างทำสื่อกว่า 254,516.53 บาท ซึ่งเป็นการจ้างทำสื่อลงในแฟนเพจ อินสตาแกรม และยูทูบของฌอนเอง ซึ่งถือว่าใช้เงินทำสื่อไป 1 ใน 4 ของเงินบริจาคทั้งหมด

 

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส
คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก 

 

การสื่อสารการเมืองที่ ‘ล้ำเส้น’

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองปรากฏการณ์ครั้งนี้ที่หลายคนเรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ และเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมตั้งคำถามต่อ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ ว่านี่คือการสื่อสารการเมืองที่ ‘ล้ำเส้น’ การสื่อสารการเมืองที่ดูขัดต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม

 

“การเมืองเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ดังนั้นการสื่อสารการเมืองจึงจำเป็นต้องมีความระมัดระวัง” 

 

รศ.ดร.นันทนา มองว่าหากจะแสดงจุดยืนหรืออุดมการณ์ของตนเองก็ต้องมีความชัดเจนและจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างในกรณีของฌอนก็ถือว่าเป็นการสื่อสารการเมือง เนื่องจากฌอนได้พูดถึงบุคลากรทางการเมืองที่มีตำแหน่งแห่งที่ที่ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังพยายามพูดในเชิงชื่นชม

 

“ความมักง่ายของฌอนเองทำให้ต้องเจอกับปรากฏการณ์สำคัญในครั้งนี้ ซึ่งฌอนอาจมองว่าเป็นแค่การไปปลูกป่าและพูดชม พล.อ. ประวิตร น่าจะไม่เป็นอะไร”

 

รศ.ดร.นันทนา ชวนสังคมมองว่าหากเรามองไปที่ดารา นักร้อง นักแสดง หรืออินฟลูเอนเซอร์ (ผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์) จะมีลักษณะของการทำงานที่เป็นการประชาสัมพันธ์แนวนี้อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ เช่น การเปิดตัวสินค้า โครงการต่างๆ เป็นเรื่องทั่วไปที่สามารถทำได้อยู่แล้ว 

 

แต่การเลือกทำงานที่ยึดโยงกับตัวบุคคลที่ถือเป็นการให้เครดิตกับบุคคลนั้นๆ โดยเฉพาะการที่ฌอนเลือกใช้เครดิตของตัวเองในฐานะไลฟ์โค้ช ซึ่งเป็นการโน้มน้าวผู้ติดตามของตนเอง จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสขึ้นมา 

 

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

 

พล.อ. ประวิตร ในความรู้สึกและการรับรู้ของคนทั่วไป

หากมองดูจากข้อเท็จจริง ต้องยอมรับว่าคนทั่วๆ ไปส่วนหนึ่งก็รับรู้เรื่องราวของ พล.อ. ประวิตร ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ฌอนพยายามสื่อสาร” รศ.ดร.นันทนา มองว่านี่คือความพยายามที่จะโน้มน้าวผู้ติดตามให้มองว่า พล.อ. ประวิตร ‘น่ารัก’ ทว่าในใจของคนทั่วไปบางส่วนรับรู้เรื่องราวของ พล.อ. ประวิตร ต่างกัน ทำให้มองได้ทันทีว่านี่คือการ ‘รับงาน’ ไม่ใช่การสื่อสารที่เป็นปกติ หรือเป็นการสื่อสารที่มาจากใจของฌอนจริงๆ

 

โดยทั่วไปแล้ว สำหรับศิลปินหรือบุคคลสาธารณะ การที่จะสื่อสารด้านการเมืองว่าตัวเองสนับสนุนใครหรือสนับสนุนนักการเมืองคนใดนั้น หากเปิดหน้าหรือเปิดตัวไปแล้วก็ถือเป็นภาพจำที่ประชาชนจะจดจำไว้ หากว่าเป็นการเปิดหน้าสนับสนุนเพราะอุดมการณ์จริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนคนหนึ่งจะรักจะชอบ แต่การเปิดหน้าสนับสนุนทางการเมืองนั้นย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย เพราะนั่นหมายถึงว่าจะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบพรรคหรือบุคคลทางการเมืองที่เราสนับสนุน ดังที่เราเคยเห็นในปรากฏการณ์ที่ดาราศิลปินเปิดตัวสนับสนุนสีเสื้อต่างๆ มาก่อนหน้านี้

 

ถึงแม้ฌอนจะไม่ใช่ดาราศิลปินที่มีหน้าที่ให้ความบันเทิง แต่ฌอนคือคนที่มีอิทธิพลต่อความนึกคิดและแนวทางการใช้ชีวิต แต่การที่เขาเผยแพร่คลิปดังกล่าวซึ่งมีบางส่วนอาจตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง ตรงกันข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป ย่อมสร้างความรู้สึกและเกิดการตั้งคำถามที่ว่า ‘ของจริงหรือเฟก’ ปรากฏการณ์ขุดเรื่องราวต่างๆ ของฌอนนั้นก็มาจากการที่เขาพยายามจะบอกและโน้มน้าวผู้คนว่าคนคนนี้น่ารัก ควรจะเชื่อหรือนับถือ 

 

ฌอนกับความเป็นไลฟ์โค้ชที่มีมากกว่าความเป็นดาราศิลปิน

ฌอนมีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 4 ล้านคน อนุมานได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่อายุอาจยังไม่มากนัก อีกทั้งฌอนยังมีภาพที่ทำให้เขาดูน่าเชื่อถือในฐานะนักพูดที่สร้างแรงบันดาลใจ

 

รศ.ดร.นันทนา มองว่าคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความเชื่อถือศิลปินดารา เพราะคิดว่าแค่เสพความบันเทิงแล้วก็จบกันไป แต่การเป็นไลฟ์โค้ชของฌอนทำให้คำพูดดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ซึ่งเชื่อว่าผู้จัดงานมองตรงนี้ จึงอาจเลือกใช้ฌอน แต่หากเรามองดูสาระของวิดีโอดังกล่าว ระหว่างการปลูกป่ากับเรื่องที่ฌอนพูดนั้นมันคนละเรื่องกัน เพียงแต่ว่าฌอนพยายามพูดให้เชื่อมโยงเท่านั้นเอง

 

“มันเฟก มันไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเลย เอาเข้าจริงๆ ในคลิปไม่ปรากฏว่ามีตรงไหนที่สื่อสารว่าฌอนรู้จัก พล.อ. ประวิตร เพียงแค่ไปปลูกต้นไม้ด้วยกันวันนั้น” รศ.ดร.นันทนา มองว่าการที่จะชมว่า พล.อ. ประวิตร น่ารักนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การไปพูดถึงสื่อว่าอาจชี้นำทำให้ไขว้เขวนั้นถือว่าเป็นการดูถูกผู้รับสาร

 

‘อิทธิพล’ หนึ่งในผลงานหนังสือของฌอน

 

จากวงการบันเทิง – ฌอนสอนชายและไลฟ์โค้ช

สื่อหลายสำนักเปิดข้อมูลตรงกันว่า ฌอน บูรณะหิรัญ ปัจจุบันอายุ 29 ปี เขาเป็นคนไทย แต่เกิดและเติบโตที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เรียนจบสาขาจิตวิทยา ฌอนเริ่มทำเพลงฮิปฮอปปล่อยในยูทูบ โดยใช้ชื่อในวงการว่า SEAN B (ฌอน บี) จากนั้นฌอนก็เข้าสู่วงการบันเทิงทั้งการเป็นนักร้องและนักแสดง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก

 

ในเวลาต่อมาฌอนเปิดเพจของตนเองครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า ‘ฌอนสอนชาย ให้เป็นแมน’ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเปลี่ยนเป็น ‘Sean Buranahiran – ฌอน บูรณะหิรัญ’ โดยในช่วงแรกของการเปิดเพจ คอนเทนต์ของฌอนนั้นเป็นเรื่องราวไลฟ์สไตล์ผู้ชาย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ก่อนที่เขาจะค้นพบว่าการเล่าเรื่องต่างๆ ที่ให้แรงบันดาลใจซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

 

ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาจะผันตัวมาเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจเต็มตัว ซึ่งได้รับความนิยมมาเรื่อยๆ จนมีผลงานหนังสือ 2 เล่ม มีผู้ติดตามหลักล้าน มีการขายคอร์สต่างๆ

 

ฌอนเดินทางไปดับไฟป่าที่เชียงใหม่

 

เงินบริจาคช่วยดับไฟป่าไปไหน?

หลังเกิดดราม่าได้เพียงไม่กี่วันก็มีการเปิดประเด็นใหม่ เมื่อเจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่าทวงถามเงินบริจาคที่ฌอนเคยเปิดรับบริจาค แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าแจ้งว่ายังไม่เคยได้รับ ก่อนที่ฌอนจะนำหลักฐานต่างๆ มาเปิดเผย 

 

รูปภาพ เอกสาร หลักฐาน ใบเสร็จที่ฌอนนำมาแสดงถูกตรวจสอบอย่างหนัก มีการเทียบเคียงวันเปิดปิดร้าน เทียบเคียงจำนวน ราคาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่เรียกได้ว่าหากข้อแก้ต่างได้ยาก คือการนำเงินบริจาคมาจ้างทำสื่อลงช่องทางต่างๆ ของตนเอง ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือรูปแบบของ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ 

 

ซึ่งขณะนี้ก็มีทั้งหน่วยงานและคนทั่วไปออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสต่อเงินบริจาคในครั้งนี้ ทั้งจำนวนยอดเงินที่หลายคนมองว่าน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หากคิดจากฐานแฟนเพจกว่า 4 ล้านคน การใช้จ่ายเงินที่ดูเหมือนมีนอกมีใน หรือแม้แต่การออกมาเรี่ยไรเงินอย่างนี้มีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีการขออนุญาตเรี่ยไรเงินหรือมีการใช้เงินไม่ถูกต้องก็อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาฉ้อโกงประชาชนได้

 

 

ไลฟ์โค้ชในมุมมองไลฟ์โค้ช

บอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักเขียน นักพูด เจ้าของเพจ Boy’s Thought เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เมื่อปี 2560 มองภาพรวมของวงการไลฟ์โค้ช (https://thestandard.co/news-thailand-lifecoach-boy-wisoot-sangarunlert/

 

โดยเขาได้แบ่งไลฟ์โค้ชออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘ประทัด’ คือกลุ่มโค้ชที่เรียกร้องความสนใจเก่ง ชวนให้คนลุ่มหลงในอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องความรวย และ ‘ประทีป’ ที่ไม่ได้เก่งด้านการเรียกร้องความสนใจ แต่หวังให้คนได้ยกระดับปัญญา โดยผู้ที่จะทำการตรวจสอบคุณภาพของไลฟ์โค้ชได้ดีที่สุดคือผู้บริโภคที่ถูกโค้ช โค้ชคนไหนดีหรือไม่ดีก็ควรบอกต่อกัน

 

วิสูตรมองว่าสถานการณ์ของวงการโค้ชในประเทศไทยคล้ายคลึงกับฟองสบู่ที่รอวันระเบิด เพราะเป็นยุคที่เกิดโค้ชขึ้นมาประดับวงการต่างๆ เต็มไปหมด ทั้งโค้ชรู้จริงที่พร้อมจะเผยแพร่ความรู้ หรือโค้ชรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่อยากเข้ามาทำเพราะเรื่องเงิน

 

ขณะที่หลักการของไลฟ์โค้ชคือการใช้คำถามสะท้อนความเป็นตัวตนของอีกฝ่ายเพื่อให้เขาเห็นวิธีแก้ปัญหา หรือวิธีการจะไปให้ถึงสิ่งที่เขาต้องการด้วยตัวเอง โค้ชมีหน้าที่ในการตั้งคำถามและไกด์แนวทางเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่คอยบอกหรือตัดสินว่าผู้ถูกโค้ชควรกระทำอย่างไรต่อไป

 

 

ภาพ: Sean Buranahiran – ฌอน บูรณะหิรัญ / Facebook

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X