×

อนาคตไทยในยุคดิจิทัลโลกหลังโรคระบาด จากเวทีสนทนา Sea Insights: Shaping the Post-Pandemic Future of Thailand

โดย THE STANDARD TEAM
28.09.2021
  • LOADING...
Sea Insights: Shaping the Post-Pandemic Future of Thailand

วิกฤตโรคระบาดแห่งทศวรรษสร้างผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงให้โลกมากมาย และยังทิ้งความท้าทายไว้ให้มนุษย์ในหลายมิติ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มพูดเรื่องการฟื้นตัว หลังวัคซีนได้รับการกระจายไปทั่วโลก แล้วประเทศไทยเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ประเทศไทยเองจะอยู่จุดไหนในกราฟการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกหลังโควิด-19 ที่กำลังขับเคลื่อนและฟื้นฟูด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 


นี่คือคำถามที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งหาคำตอบ จึงเป็นโอกาสที่ดีให้ Sea (Group) ในฐานะผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ร่วมกับ THE STANDARD เปิดเวทีชวนผู้เชี่ยวชาญหลากหลายภาคส่วนมาร่วมกันสะท้อนภาพประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 อะไรคือความท้าทาย โอกาส และอนาคตหลังจากนี้ที่ประเทศจะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เราต้องปรับตัวในเรื่องอะไรบ้าง 

 

และนี่บทสรุปที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันทีจากเวทีสนทนา Sea Insights: Shaping the Post-Pandemic Future of Thailand เผยอนาคตไทยในยุคดิจิทัลโลกหลังโรคระบาด

 

 

Session 1: Thailand Post-Pandemic Insights เจาะลึกความเปลี่ยนแปลงไทยในโลกใหม่หลังโควิด
โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย 

  • Sea Insights และ World Economic Forum (WEF) สำรวจกลุ่ม Digital Generation อายุระหว่าง 16-60 ปี จำนวน 80,000 คน จาก 6 ประเทศอาเซียน โดยข้อมูลที่นำเสนอในครั้งนี้จะเน้นโฟกัสไปที่กลุ่มคนไทยโดยเฉพาะ งานวิจัยในครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อจับชีพจรคนไทยและหาอินไซต์ใหม่ๆ ให้ทันต่อพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการใช้ข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่จะพาเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าไปสู่อนาคต Sea Insights ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของ Sea (Group) จึงทำการรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลของเรา นำมาจัดทำเป็นรายงานและเผยแพร่ออกไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และประชาชน ได้นำไปใช้ประโยชน์ 
  • Digital Generation คือคำจำกัดความกลุ่มคนอายุ 16-60 ปีที่ใช้ดิจิทัล จะเห็นว่าไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น การขยายกลุ่มที่กว้างขึ้นยังช่วยให้มองเห็นผลกระทบของโควิด-19 ในคนแต่ละรุ่นต่างกัน
  • จากผลสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 ที่เห็นชัดเจนคือ รายได้และเงินออม กว่า 70% พบว่ารายได้หดตัวลง และ 40% บอกว่าลดตัวลงอย่างรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs 
  • เป็นไปตามคาดที่ว่ากลุ่มร้านอาหารและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักสุด คิดเป็น 78% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ได้รับผลกระทบ และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (MSME) ได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุด รองลงมาคือเรื่องความเครียด แต่ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจและน่านำไปขยายผลต่อคือ ‘ผู้หญิง’ คือกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าและเครียดมากกว่ากลุ่มผู้ชาย ข้อมูลจากต่างประเทศก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากผู้หญิงในหลายสังคมยังมีบทบาทดูแลเด็ก พ่อแม่ และทำงานไปพร้อมกัน ยิ่งช่วง Work from Home ยิ่งเพิ่มความเครียด   

 

 

  • ด้านความสามารถในการปรับตัว พบว่า 46% พบอาชีพหรือโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และความน่าสนใจคือ กลุ่มที่ปรับตัวและสร้างโอกาสได้ดีในช่วงนี้กลับเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มเปราะบาง นั่นก็คือ ผู้หญิง แม่บ้าน และผู้ประกอบการ MSMEs โดยผู้ประกอบการ MSMEs กว่า 50% เริ่มต้นธุรกิจใหม่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และ 25% ของผู้ประกอบการสร้างงานใหม่ๆ สู่ตลาดแรงงาน ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นในบางภาคส่วน ข้อสังเกตของคนที่ประสบความสำเร็จในช่วงวิกฤตจะเป็นคนที่ใช้ทักษะดิจิทัลได้และมีความยืดหยุ่น 
  • ภาคส่วนที่มีสัดส่วนการจ้างแรงงานใหม่สูงสุด ได้แก่ ภาคขนส่ง 29% ภาคเกษตร 26% ภาคเทคโนโลยีและโทรคมนาคม 23% ในทางกลับกัน ภาคส่วนที่มีการเลิกจ้างแรงงานสูงสุด ได้แก่ ภาคธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยว 24% ภาคการผลิต 16% สังเกตได้ว่าสัดส่วนการจ้างงานที่เติบโตและค้นพบงานใหม่มากที่สุดคือ ภาคขนส่ง สะท้อนการเจริญเติบโตกับอีคอมเมิร์ช เมื่ออีคอมเมิร์ชโตก้าวกระโดด ภาคขนส่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์ 
  • คนไทยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเงินดิจิทัลมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยคนไทย 65% จากผลสำรวจใช้ E-Payment ในขณะที่ MSMEs 76% ต้องการใช้การเงินดิจิทัลในการทำธุรกิจ ด้านความต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรมและเข้าถึงเงินทุนในอนาคต ราว 53% ต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น และ 66% ของ MSEMs ก็ต้องการเข้าถึงบริการสินเชื่อและแหล่งเงินทุนที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น มองหาความสะดวกในทุกด้าน ไม่ต้องไปสาขา หรือขอเอกสารทางการเงินต่างๆ ผ่านดิจิทัลได้เลย 
  • คนไทยต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่ทำให้การเข้าถึงบริการต่างๆ เป็นเรื่องยาก งานวิจัยครั้งนี้พบว่า อุปสรรคมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ใช้งาน โดย 3 อุปสรรคใหญ่ของคนเริ่มใช้ดิจิทัลคือ ใช้ไม่เป็น ไม่คุ้นเคย (48%) รองลงมาคือเรื่อง สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี (41%) และสุดท้ายคือเรื่องอุปกรณ์แพงหรือขาดอุปกรณ์ (38%) ในขณะที่ คนที่ใช้เทคโนโลยีหรือบริการดิจิทัลเป็นประจำ ระบุว่า ปัญหาใหญ่สุดคือ เครื่องมือคุณภาพต่ำ (35%) สัญญาณคุณภาพไม่ดีพอสำหรับคนที่ต้องใช้งานเป็นประจำ (34%) และสุดท้ายเป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกออนไลน์ (33%)
  • ดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล: กลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาก ยิ่งต้องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นถึง 79% ในขณะที่กลุ่มคนที่ใช้งานดิจิทัลน้อยกลับไม่ต้องการใช้งานเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบเหมือนกับ Digitalisation Flywheel Effects (ดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) พอใช้เยอะถึงจุดหนึ่ง เมื่อเกิดโมเมนตัมของดุมล้อนี้แล้วจะยิ่งอยากใช้ไปเรื่อยๆ ยิ่งใช้ยิ่งเห็นประโยชน์ ยิ่งอยากลองมากขึ้น ในทางกลับกัน กลุ่มผู้ใช้งานใหม่อาจเจอประสบการณ์ไม่ดีก็เลิกใช้ ดังนั้นหากต้องการผลักดันให้คนเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้น ต้องหมุนวงล้อนี้ให้นานพอจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ  

 

 

  • วิกฤตโควิด จุดประกายให้เกิดการถ่ายทอดทักษะดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 31-50 ปี มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สอน อาจเรียกคนกลุ่มที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดว่า Digital Ambassador เป็นไปได้ว่าความต่างของวัยที่ไม่ห่างกันนักระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และมีความเข้าใจโลกยุคอะนาล็อกและโลกดิจิทัล ทำให้การอธิบายเข้าใจง่ายและสื่อสารกันง่ายกว่า 
  • กลุ่ม Digital Generation ของไทย มองว่า ทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นคือ ทักษะการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล (36%) รองลงมาคือ ทักษะความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัว (34%) และ ทักษะในการสร้างวินัยให้กับตัวเอง (32%) ส่วนทักษะด้านภาษาและทักษะความเชื่อมโยงกับโลก (Global Mindset) เป็นสองทักษะที่คนไทยให้ความสำคัญมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นแนวคิดที่ว่าประเทศไทยควรเชื่อมโยงกับโลกให้มากขึ้น 
  • ทว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กลับไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความพร้อมในแต่ละทักษะที่ระบุว่ามีความสำคัญ โดยให้คะแนนความเชี่ยวชาญต่ำกว่า 50% เกือบจะทุกด้าน หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ทักษะด้านภาษาเป็นทักษะที่คนไทยมั่นใจน้อยที่สุด 
  • Digital Generation มองการใช้เทคโนโลยีเป็นโอกาสที่สำคัญที่สุดในอนาคต อันดับสองคือความเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข และสุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพจิต คนไทยอยากเห็น Caring Society เห็นการช่วยเหลือต่อกันมากขึ้น 

 

 

Session 2: Digital Road to Post-Pandemic Recovery จับเทรนด์ดิจิทัล กุญแจฟื้นไทยหลังโรคระบาด

โดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), ดร.ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กรุงลอนดอน และ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) 

 

 

แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ คือ


1. ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ค้นพบจุดแข็ง-จุดอ่อนของประเทศไทยด้านใด รวมถึงเทรนด์ดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญคืออะไร

ดร.ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ 

  • ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากกว่าประเทศอื่น ทำให้การฟื้นตัวช้ากว่า การท่องเที่ยวเหมือนเป็นจุดแข็ง แต่วันนี้เป็นจุดที่ต้องพัฒนา แต่จุดแข็งจริงๆ ที่มีอยู่คือเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ระดับสูง สถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง เงินกองทุนอยู่ระดับที่สูงมาก หนี้สาธารณะต่ำเทียบกับประเทศอื่น และต้นทุนการกู้ของรัฐบาลไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ 
  • การปรับตัวสู่ดิจิทัลของคนไทยส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ชะงัก การทำธุรกรรมออนไลน์ 22 ล้านรายการต่อวัน การใช้จ่ายผ่าน E-Payment 251 ครั้งต่อคนต่อปี การใช้อีคอมเมิร์ชเป็นอันดับ 3 ของโลก ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทางการเงินของไทยก็วางแผนอย่างดี ถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมอย่างมากที่จะปรับตัวไปสู่โลกดิจิทัลหลังโควิด 

 

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ 

  • เทรนด์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ 
  1. Digital First ทุกภาคส่วนต้องเข้าสู่ดิจิทัล ยกตัวอย่าง หน่วยงานภาครัฐเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น สามารถประชุมออนไลน์ได้ รองรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ดังนั้นภาครัฐต้องหันมาดูแลเรื่องนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง เช่น การหลอกลวง 

 

  1. จาก Online to Offline จะเปลี่ยนเป็น Offline to Online เช่น ร้านอาหารต้องมาออนไลน์แล้ว ทำให้ Food Delivery เติบโต และจากนี้ไปคนจะเริ่มเคยชินกับพฤติกรรมเหล่านี้ Offline to Online จึงเป็นเทรนด์ที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย 

 

  1. Platform Economy หรือการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เมื่อคนเริ่มไปสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ จะเติบโตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม หรือ อีมีตติ้งแพลตฟอร์ม น่าจะเป็นโอกาสให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพพัฒนา Platform Economy ของคนไทยมากขึ้น

 

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์  

  • World Digital Competitiveness Ranking จัดอันดับความสามารถด้านดิจิทัล 63 ประเทศ โดยใช้เกณฑ์ 3 ด้านในการจัดอันดับ 1. เทคโนโลยีด้านเงินทุน นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน 2. ความรู้ด้านดิจิทัล การศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรม และ 3. ความสามารถในการปรับตัวของคนและธุรกิจในการทำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในอนาคต 
  • ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 39 ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา พบว่าที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบาย เราทำได้ดี เช่น การผลักดัน Smart City โครงสร้าง 5G หรือ PromptPay แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสมากขึ้นคือความรู้ด้านดิจิทัล การศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรม และความสามารถในการปรับตัวของคนและธุรกิจในการทำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในอนาคต
  • ความท้าทาย คือ ต้องลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและส่งเสริมให้คนเข้าถึงเทคโนโลยี สร้างแรงจูงใจ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คนหันมาใช้ E-Wallet กันมากขึ้น

 

 

2. โอกาสของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

ดร.ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์  

  • ประเด็นแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือ เราจะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างไร ทั้งในส่วนของดาต้าและเทคโนโลยี เช่น เรื่องเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนได้ การให้บริการทางการเงิน หากพึ่งพาสาขาน้อยลง ต้นทุนก็ลดลงถึง 1 ใน 3 ในด้านข้อมูลหลากหลายประเภทจะสามารถให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ประชากรมากขึ้น เมื่อต้นทุนที่ถูกลงกับข้อมูลที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เห็นแนวโน้มคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินจะเป็นไปง่ายขึ้นสำหรับคนทุกกลุ่ม 
  • สรุป 3 แนวทางจากแบงก์ชาติที่จะมีส่วนช่วยให้ภาคการเงินสามารถทำ Digital Transformation ได้เต็มที่ คือ 1. เปิดโอกาสให้มีความร่วมมือและแข่งขันมากขึ้น 2. ต้องทำให้ข้อมูลไหลเวียนในระบบมากขึ้น และ 3. โครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้างมากขึ้น 

 

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ 

  • ตอนนี้โอกาสเป็นของทุกคน และคนกลุ่มแรกที่จะได้โอกาสในครั้งนี้คือ ผู้บริโภคที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ราคาถูกลงเนื่องจากการแข่งขันสูง อีกทั้งยังเข้าถึงบริการของรัฐที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น กลุ่มต่อมาคือ MSMEs ธุรกิจที่พร้อมเปลี่ยนแปลงก็คงคว้าโอกาสแล้ว ส่วนธุรกิจที่ยังไม่ต้องพร้อมรีบหาเครื่องมือมาช่วย และสุดท้าย กลุ่ม Enablers หรือคนกลางที่จะมาตอบโจทย์ MSMEs การขยายตัวของ MSMEs กลุ่ม Enablers ต้องมาหาลู่ทางในการเข้าถึงและขยายตัวตาม 

 

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์  

  • สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ MSMEs คว้าโอกาสได้ต้องมี Entrepreneur Mindset ที่อยากจะผลักดันธุรกิจต่อไป รวมถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาใช้ และทำความเข้าใจตลาด ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ MSMEs ธุรกิจขายส่งเสื้อม่อฮ่อมจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เมื่อเจอวิกฤตก็หันมาขายบน Shopee ทำให้พบตลาดใหม่คือ ตลาดผู้หญิง ตลาดเด็ก จึงปรับการผลิตให้ตอบโจทย์

 

 

3. แผนความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย

ดร.ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์  

  • ภาครัฐและสถาบันการเงินเองต้องช่วยกันปรับเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นกับผู้เล่นที่จะเข้ามามากขึ้น เตรียมความพร้อมด้านข้อมูล ทำอย่างไรให้ข้อมูลไหลได้อย่างสะดวก และการทดสอบสิ่งต่างๆ ต้องเปิดกว้างและทำได้เร็วขึ้น 
  • ทางฝั่ง MSMEs ที่เข้าสู่ดิจิทัล ต้องรู้จักนำข้อมูลต่างๆ ของลูกค้ามาทำความเข้าใจเพื่อปรับแผนธุรกิจ และการเข้าสู่ดิจิทัลสำหรับกลุ่มนี้จะทำให้เขาเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น 

 

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ 

  • ETDA เผยว่า ต้องปรับตัวในหลายบทบาท ซึ่งบทบาทแรกคือการปรับที่องค์กร ETDA เอง เนื่องจากเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ E-Transaction มหาศาลและแพลตฟอร์มก็เป็นต้นทางหลักที่ E-Transaction จะวิ่งผ่าน เมื่อแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น ETDA ต้องคอยสังเกตว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ ทำความรู้จักกับแพลตฟอร์มมากขึ้น ดูความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและหารือร่วมกันว่าจะทำ Platform Economy ในประเทศไทยให้มีความ Save & Secure เกิดเป็น Trusted Environment
  • บทบาทต่อมาคือการช่วย MSMEs และประชาชนใน 3 มิติ 1. เรื่องทักษะความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัล มีการพัฒนาหลักสูตร คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen) ต่อยอดมาจาก QD institute เป็นตัวชี้วัดความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อให้คนไทยเพิ่มทักษะความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัลมากขึ้น 2. พัฒนาหลักสูตร Easy E-Commerce จับมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับการทำ E-Commerce เรียนแล้วสามารถสอบเพื่อออก Certificate เพื่อนำไปกู้ยืมจากธนาคารออมสินมาประกอบธุรกิจ 3. ปลายปีเตรียมพัฒนาหลักสูตรด้านวิชาชีพร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ อาทิ Digital Marketing หรือ Cyber Security และ 4. กลไก Sandbox เพื่อช่วยกลุ่ม Enablers เพิ่มความมั่นใจและสร้างความน่าเชื่อถือและเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ต่อยอดปลายปีเตรียมจัด Hackathon ให้ผู้ใช้มาตั้งโจทย์และ Enablers เป็นผู้รับโจทย์ เพื่อพัฒนาโซลูชันตอบโจทย์มากขึ้น 

 

ดร.ศรุต วานิชพันธุ์  

  • เชื่อว่ากุญแจสำคัญในตอนนี้คือ การสร้างเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับคนไทยและผู้ประกอบการ Sea ในฐานะตัวกลางในการทำเทคโนโลยีให้คนเข้าถึงง่าย นำไปใช้งานเพื่อให้ชีวิตดีขึ้น จะมุ่งเน้นถ่ายทอดทักษะผ่านโครงการต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาคนไทยให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล เช่น โครงการ Garena Academy ที่มุ่งใช้เกมเป็นตัวกลางพัฒนาทักษะดิจิทัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกม อีสปอร์ต และดิจิทัลคอนเทนต์, โครงการ Shopee Code League ที่มุ่งเทรนด์และพัฒนาศักยภาพในการนำ Data มาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ หรือ โครงการ DOTs โครงการที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลงมือช่วย MSMEs ไทย พร้อมเรียนรู้โลกธุรกิจออนไลน์และพัฒนาทักษะดิจิทัล แต่ทั้งนี้การจะผลักให้ดุมล้อแห่งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหมุนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องการความร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี

 

โดยสรุป ประเทศไทยพร้อมสำหรับโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน แต่ภายใต้ความพร้อมก็ยังมีอุปสรรคและความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนา ทักษะ ความรู้ และการร่วมมือ 


กุญแจสำคัญที่จะฟื้นประเทศไทยหลังโรคระบาดก้าวสู่โลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนก็คือ ทักษะความรู้และความร่วมมือ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเดินสู่อนาคตได้อย่างพร้อมเพรียงกัน  

 

สามารถดาวน์โหลดรายงาน Thai Digital Generation Survey 2021 ฉบับเต็มได้ที่
https://cdngarenanow-a.akamaihd.net/webth/corporate/report/TH-The-Digital-Generation-Survey-2021.pdf 

 

ผู้ที่สนใจอยากฟังย้อนหลังแบบเต็มๆ สามารถดูย้อนหลังได้ที่

 

Facebook 

เผยอนาคตไทยในยุคดิจิทัลหลังโรคระบาด Part1 

https://www.facebook.com/thestandardth/videos/414353050114453/

 

เผยอนาคตไทยในยุคดิจิทัลหลังโรคระบาด Part2

https://www.facebook.com/thestandardth/videos/871393847102950/

 

YouTube

 

  

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising