×

วิจัยเผย ปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาลดต่ำเป็นประวัติการณ์ปีนี้

17.02.2023
  • LOADING...

รายงานจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำแข็งในทะเลที่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการใช้ดาวเทียมเพื่อวัดปริมาณน้ำแข็งในช่วงปลายทศวรรษ 1970

 

แม้ขณะนี้จะเป็นฤดูร้อนของซีกโลกใต้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำแข็งในทะเลลดน้อยลงมากที่สุดของปี แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นถือว่าปริมาณน้ำแข็งน้อยผิดปกติจนน่ากังวล โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พบว่า แรงลม รวมถึงอากาศและน้ำที่มีอุณหภูมิอุ่นขึ้นนั้น ส่งผลให้พื้นที่น้ำแข็งลดลงเหลือเพียง 1.91 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการละลายตัวอย่างรวดเร็วมาก เพราะเมื่อปีที่ผ่านมากว่าที่น้ำแข็งจะละลายตัวจนลดลงเหลือ 1.92 ล้านตารางกิโลเมตรอยู่ที่วันที่ 25 กุมภาพันธ์

 

โดยตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มี 3 ปีด้วยกันที่ปริมาณน้ำแข็งในทะเลทำสถิติลดลงเป็นประวัติการณ์คือ ปี 2017, 2022 และ 2023 ขณะที่งานวิจัย เรือเดินสมุทร และเรือประมง ล้วนรายงานสถานการณ์ที่คล้ายกันเมื่อพวกเขาเดินทางรอบแอนตาร์กติก กล่าวคือ พื้นที่ทะเลส่วนใหญ่แทบไม่มีน้ำแข็งปกคลุม โดยมีเพียงทะเลเวดเดลล์ (Weddell Sea) เท่านั้นที่ยังคงถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งในปริมาณมาก

 

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ลักษณะพฤติกรรมของน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน ซึ่งไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลดาวเทียมที่รวบรวมไว้ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ขอบเขตของน้ำแข็งในทะเลแสดงให้เห็นถึงความแปรปรวนอย่างมาก โดยแนวโน้มปริมาณน้ำแข็งในฤดูร้อนที่ลดลงอย่างมากนั้นเพิ่งปรากฏเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

น้ำแข็งในทะเลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งชีวิตขั้วโลก โดยในแอนตาร์กติก สาหร่ายที่เกาะอยู่บนน้ำแข็งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของตัวเคย (Krill) และตัวเคยเองก็เป็นอาหารสำคัญสำหรับวาฬ แมวน้ำ เพนกวิน และนกอื่นๆ นอกจากนี้ แผ่นน้ำแข็งในทะเลยังถูกใช้เป็นสถานที่ในการสืบพันธ์ุ หาอาหาร และเลี้ยงลูกของสัตว์บางชนิด ฉะนั้นการลดลงของน้ำแข็งในทะเลจึงมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วย

 

ภาพ: Wolfgang Kaehler / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X