Sea บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากประเทศสิงคโปร์ มุ่งหน้าสู่ระดับโลกเต็มตัว เมื่อเดินหน้าขยายฐานในยุโรป อินเดีย รวมถึงเริ่มลงทุนในสหรัฐอเมริกา
Nikkei Asia รายงานว่า Sea ผู้เป็นบริษัทแม่ของ Shopee ซึ่งเคยมีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กแตะหลัก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีมูลค่าล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ 1.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีกลายถึง 2 เท่าตัว มีแผนที่จะขยายฐานการตลาดนอกเหนือจาก 2 ตลาดหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลาตินอเมริกาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา Sea ได้เปิดตัว Shopee หนึ่งในแอปพลิเคชันขายของออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเวลานี้ ในประเทศโปแลนด์ สเปน ฝรั่งเศส และอินเดีย ทำให้ปัจจุบันมีการเปิดตลาดแล้วทั้งหมด 11 ประเทศ
แม้ว่าในกลุ่มประเทศที่เปิดตลาดใหม่จะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ก็ตาม แต่ถูกมองว่ามีโอกาสและศักยภาพที่จะเติบโตได้สูง หากบริษัทสามารถทำตามกลยุทธ์เดิมที่เคยใช้เจาะฐานทั่วโลกได้ เช่น การส่งฟรี หรือการทำแคมเปญที่ร้อนแรงเหมือนที่เคยทำที่ผ่านมา
“ประสบการณ์จากการเริ่มต้นทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มอบประสบการณ์ที่ล้ำค่าให้แก่บริษัทในการขยายขนาดและขอบเขตของธุรกิจไปทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย” แองกัส แมคอินทอช นักวิเคราะห์และผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัย CrossASEAN กล่าวถึง Sea
“บริษัทอยู่ในสถานะที่ดีพอที่จะจ้างบุคลากรที่มีความสามารถสูงในพื้นที่ใหม่ ซึ่งรวมถึงโปแลนด์ สเปน ฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในยุโรป” แมคอินทอชกล่าวเสริม พร้อมเน้นย้ำให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของ Sea ที่มีความแข็งแกร่งอย่างมาก เพราะมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา “ในช่วงแรกของการเริ่มต้นสร้างนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะไม่แพงมากนัก ซึ่งทำให้บริษัทมีเวลาที่จะดูเรื่องของสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน”
อย่างไรก็ดี การบุกตลาดโลกของ Sea ไม่ได้หวังพึ่งเพียงแค่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Sea Captial ซึ่งเป็นขาด้านการลงทุนในเครือและเพิ่งก่อตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนกับ 2 บริษัทในสหรัฐฯ คือ Forte บริษัทที่ทำเทคโนโลยีบล็อกเชน และ Kora Management บริษัทด้านการลงทุน เป็นมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.37 หมื่นล้านบาท
แม้ว่าจะยังไม่มีคำตอบจาก Sea เกี่ยวกับการลงทุนกับ Forte ซึ่งมีเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้ผู้พัฒนาเกมสามารถที่จะรวมกับเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างคริปโตเคอร์เรนซี หรือ NFTs ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกมตระกูลที่เคยสร้างมาก่อนหรือเกมที่จะสร้างขึ้นใหม่ แต่การลงทุนครั้งนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสนใจของ Sea เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งบริษัทต่างๆ ได้เริ่มต้นที่จะนำสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามาใช้ในเกมแล้ว
Forte ยังเป็นบริษัทที่ 3 ที่ Sea Capital ลงทุนและเป็นบริษัทที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุด โดยอีก 2 แห่งก่อนหน้านี้คือบริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโต FTX ในบาฮามาส และ Kavak บริษัทที่ทำแพลตฟอร์มสำหรับการขายรถมือสองในประเทศเม็กซิโก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลยุทธ์ของ Sea ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตมากกว่าผลกำไร ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพิ่งจะมีการประกาศระดมทุนเพิ่มอีก 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท
แต่ความเห็นจากนักวิเคราะห์ระบุว่า จากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแผนที่จะไปเปิดตัวในสหรัฐฯ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุน และทำให้การแข่งขันในตลาดท้องถิ่นรุนแรงขึ้น ความสำเร็จจากการขยายฐานการตลาดใหม่ๆ จึงจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับ Sea ที่จะดึงดูดนักลงทุนต่อไป
Sea เริ่มต้นจากการทำธุรกิจเกมออนไลน์ โดยประสบความสำเร็จอย่างสูงกับบริษัท Garena และเกม Free Fire ก่อนเริ่มต้นรุกตลาดอีคอมเมิร์ซกับแอปพลิเคชัน Shopee ในปี 2015 ใน 6 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไต้หวัน ก่อนจะเริ่มขยายฐานไปประเทศบราซิลในปี 2019 ต่อด้วยเม็กซิโก ชิลี และโคลอมเบีย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โปรโมชัน Double Day และการทุ่มโฆษณา กลเม็ดที่ Shopee ใช้มัดใจ ‘ผู้บริโภคชาวอเมริกาใต้’ ตลาดที่ถูกมองเป็น Blue Ocean
- บริษัทแม่ Shopee ประกาศระดมทุน 2 แสนล้านบาท นักวิเคราะห์มองการขยายธุรกิจ “จะต้องทุ่มเงินลงทุนอีกหลายปี (เพื่อแลกกับ) ส่วนแบ่งทางการตลาด”
- Shopee เตรียมบุกโลกอีคอมเมิร์ซยุโรป เล็งเปิดตัวใน ‘โปแลนด์’ เป็นแห่งแรก
- Shopee โตแรง 160% ทำรายได้ทะลุ 4 หมื่นล้านบาท แต่การโหมอัด ‘งบโฆษณา’ ทำให้ขาดทุนกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท
อ้างอิง: