×

เที่ยวปราสาทสด๊กก๊อกธม ชมจารึกในพิพิธภัณฑ์ฯ ฟังการเมืองชิงอำนาจยุคเขมรโบราณ

14.12.2021
  • LOADING...
ปราสาทสด๊กก๊อกธม

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรยายว่า จารึกจากปราสาทสด๊กก๊อกธมทั้ง 2 หลัก มีความสำคัญสำหรับคนเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ เพราะมีการเล่าเรื่องการย้ายเมืองในยุคต่างๆ และสิ่งที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาชาวต่างชาติหลายคนคือการย้ายศิวลึงค์ไปกับการย้ายเมืองด้วย
  • ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม กล่าวว่า สด๊กก๊อกธมเป็นปราสาทที่มีฐานสูง การสร้างให้ฐานยิ่งสูงยิ่งแสดงถึงอำนาจและบารมีของคนสร้างด้วย ในประเทศไทยไม่น่าจะมีปราสาทหินที่ไหนฐานสูงเท่าที่นี่

THE STANDARD ได้รับเชิญให้ร่วมเดินทางไปในการออกภาคสนามของนักศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 22 (SEAS-TU22) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อทัศนศึกษาในวิชา อศ. 210 สุวรรณภูมิและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี และปราสาทสด๊กก๊อกธม (ชื่อเดิม ภัทรนิเกตนะ) ที่จังหวัดสระแก้ว ฟังคำบรรยายจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์, ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักโบราณคดี, วัชรี ชมภู ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี, ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม, สฏฐภูมิ บุญมา ศิษย์เก่า SEAS รุ่น 14 (รุ่นศาลโลก) ซึ่งเพิ่งจบปริญญาโทประวัติศาสตร์ศิลปะจาก SOAS University of London

 

ในการเดินทางช่วงเช้าได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี เป็นจุดแรก ก่อนเดินทางต่อในช่วงบ่ายไปยังปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ซึ่งห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง 1 กิโลเมตร

 

สำหรับพิพิธภัณฑ์มีการแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุจำนวนมาก แต่สิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเดินทางครั้งนี้จะมี 2 ส่วน คือ ศิลาจารึกจำนวน 2 หลัก ที่มีการพบในปราสาทสด๊กก๊อกธม และอีกส่วนคือ หลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันทั้งจารึกและหลักเขตแดน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

 

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรยายว่า จารึกจากปราสาทสด๊กก๊อกธมทั้ง 2 หลัก มีความสำคัญสำหรับคนเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยโบราณ เพราะมีการเล่าเรื่องการย้ายเมืองในยุคต่างๆ และสิ่งที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาชาวต่างชาติหลายคนคือการย้ายศิวลึงค์ไปกับการย้ายเมืองด้วย

 

สำหรับจารึก 2 หลักนี้ เมื่อเทียบกับยุคสุโขทัย (ในคริสต์ศตวรรษที่ 13) จะพบว่าจารึก 2 หลักมีมาก่อนสุโขทัยประมาณ 200-300 ปี เมื่อพบว่าจารึกจากเขมรเก่ากว่าสุโขทัย เราจึงพบปัญหาประวัติศาสตร์ไทยที่จะต้องโยงไปถึงเขาอัลไตกับอาณาจักรน่านเจ้า เพื่อบอกว่าเราก็เก่าเช่นกัน จารึกจากปราสาทสด๊กก๊อกธมหลักแรกสร้างประมาณปี ค.ศ. 900 ส่วนหลักที่ 2 สร้างปี ค.ศ. 1057 ทั้ง 2 หลักห่างกัน 100 กว่าปี

 

 

วัชรี ชมภู ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี กล่าวถึงจารึกหลักที่ 2 จากปราสาทสด๊กก๊อกธมว่า แตกต่างจากจารึกในศาสนสถานโดยทั่วไป ซึ่งจะเล่าถึงเฉพาะตัวศาสนสถานนั้นๆ ว่ามาใช้ที่ดินตรงนี้สร้างให้ใคร อย่างไร แต่จารึกหลักนี้พิสดารกว่า เพราะเป็นการบันทึกบอกเล่าย้อนเรื่องราวกลับไป 200 กว่าปี เกี่ยวกับบรรพบุรุษพราหมณ์และกษัตริย์ ใจความสำคัญพูดถึงลัทธิเทวราช การที่กษัตริย์จะขึ้นครองราชย์ต้องมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีสถาปนา ดังนั้นเป็นจารึกเรื่องราวกษัตริย์แต่ละยุคและพราหมณ์ประจำแต่ละช่วงเวลา ซึ่งพราหมณ์ส่วนใหญ่เป็นสายตระกูลที่สืบทอดกันมาเช่นเดียวกับกษัตริย์ เป็นหลักฐานบอกเล่าลำดับพัฒนาการกษัตริย์เขมรที่สำคัญมาก

 

ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ บรรยายถึงจารึกหลักแรกว่า มีอายุมากกว่าปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยระบุปี พ.ศ. 1480 (ค.ศ. 937) ตรงกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ผู้มีบทบาทสำคัญย้ายเมืองหลวงจากเมืองพระนครที่เสียมเรียบขึ้นไปตั้งใหม่ที่เมืองเกาะแกร์ แล้วก็สร้างปราสาทเกาะแกร์ เป็นปราสาทประจำรัชกาลของพระองค์ พระองค์ได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นมาในดินแดนทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยพบจารึกและรูปแบบศิลปกรรมของพระองค์อยู่ตลอดในพื้นที่ดังกล่าว

 

 

“จารึกหลักที่ 1 อาจจะมาจากการที่เคยสร้างเทวสถานมาก่อนหน้า เพราะรายละเอียดจารึกหลักที่ 1 ระบุชัดว่า ไม่ให้ใช้สิ่งของภายในศาสนสถานแห่งนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นใช้ในกิจการของชุมชนได้ โบราณสถานแห่งนี้อาจจะถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นเมืองภัทรนิเกตนะ อาจเป็นโบราณสถานดั้งเดิม ใช้มาตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ก็เป็นได้ จนกระทั่งเกิดภาวะสงคราม เมืองถูกทำลาย พราหมณ์เหล่านั้นจึงกลับมาสร้างปราสาทหลังใหม่คือปราสาทสด๊กก๊อกธมที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนจารึกทั้ง 2 หลัก จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี”

 

ทนงศักดิ์กล่าวว่า ในวัฒนธรรมเขมรหรือกัมพูชา มีจารึกบนแผ่นหินซึ่งทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ในแถบภูมิภาคนี้ได้ทั้งหมด เพราะจารึกไม่ค่อยจะสูญหาย ขณะที่ในไทยก็มีจารึกบนแผ่นหินอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสูญหายไปต่างประเทศเสียเยอะ

 

สำหรับจารึกสด๊กก๊อกธมหลักที่ 2 เป็นจารึกที่เล่าเรื่องในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ลูกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร) เมื่อพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ขึ้นครองราชย์ก็ได้สร้างปราสาทประจำรัชกาลของตัวเองไว้ที่ปราสาทบาปวน ซึ่งอยู่ในเมืองพระนคร ปัจจุบันคือเสียมเรียบ กัมพูชา พระองค์ขึ้นครองราชย์ที่เสียมเรียบ แต่ช่วงเหตุการณ์ก่อนหน้ายุคพระองค์ คือรุ่นพ่อของพระองค์ (พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) เกิดภาวะสงครามแย่งชิงดินแดนซึ่งมีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดินแดนส่วนหนึ่งของฮินดูซึ่งมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีสำคัญถูกทำลายดินแดนไปด้วย เพราะฉะนั้นจารึกหลักนี้เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวย้อนถึงตระกูลสายพราหมณ์ที่มีบทบาทในแต่ละยุค พราหมณ์ตระกูลที่สำคัญคือ ศิวไกวัลย์ ทำพิธีเทวราชาให้กษัตริย์ทุกพระองค์ประมาณ 12 พระองค์ที่บันทึกในจารึก

 

“พราหมณ์กลุ่มนี้ต้องการดินแดนคืน จึงขอดินแดนจากพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 โดยมาสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธม เพื่อจะเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์และบูรณะเมืองที่ตัวเองเคยครอบครองอยู่”

 

เรื่องเล่าในจารึกหลักนี้ เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่รวบรวมอาณาจักรเจนละเข้าด้วยกัน เจนละบก เจนละน้ำ มาเป็นอาณาจักรเขมร ซึ่งเข้าสู่ยุคของเมืองพระนคร (เสียมเรียบ) เป็นครั้งแรก

 

จารึกหลักนี้เล่าด้วยว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ย้ายเมืองจากที่ไหนบ้างตั้งแต่เขาพนมกุเลนขึ้นมาจนกระทั่งถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่บนพื้นราบ จารึกหลักนี้ก็ได้เล่าเรื่องทั้งหมด

 

นอกจากนั้น จารึกยังบ่งบอกว่า อักษรภาษาที่เขียนมีพัฒนาการของภาษาอย่างไรบ้าง เพราะมีตัวเขียนทั้งตัวสันสกฤตและตัวอักษรขอม ซึ่งเราสามารถศึกษาพัฒนาการของภาษาต่างๆ ได้ด้วย นอกจากประวัติศาสตร์ที่เล่าในจารึก

 

“ในฐานะนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี จะให้ความสำคัญกับจารึกหลักนี้มากที่สุด เพราะเล่าเรื่องลำดับพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรเขมรได้ละเอียดครบถ้วนและค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดหลักหนึ่ง เท่าที่ปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของเขมรทั้งหมด”

 

 

ขั้วอำนาจ พุทธ-ฮินดู

 

ในช่วงบ่าย เดินทางไปชมปราสาทสด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว ทนงศักดิ์บรรยายถึงความสำคัญของปราสาทหลังนี้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของการแย่งชิงอำนาจ ทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์สังคมในอดีตว่า เดิมมีเมืองสำคัญเมืองหนึ่งคือเมืองภัทรนิเกตนะ เป็นชุมชนของชาวฮินดู ช่วงนั้นกษัตริย์ที่ครองราชย์ในกัมพูชาคือพระเจ้าชัยวีรวรมัน แม้พระองค์จะนับถือทั้งศาสนาพุทธและศาสนาฮินดูด้วย แต่เมื่อมีสงครามระหว่างพระเจ้าชัยวีรวรมันกับกษัตริย์สุริยวรมันที่ 1 (ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร) เมืองแห่งนี้ก็ถูกทำลายเช่นกัน

 

เมื่อกษัตริย์สุริยวรมันที่ 1 ชิงอำนาจได้แล้วก็ตั้งวงศ์ใหม่เข้าไปปกครองในเมืองพระนคร (เสียมเรียบ) หลังจากที่พระองค์ชนะสงครามก็ได้ยกทัพมาปราบเมืองภัทรนิเกตนะแห่งนี้เพื่อบูรณะกลับคืน ฉะนั้นสายพราหมณ์ที่สำคัญอย่างกลุ่มทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้งเทวราชาและพิธีขับไล่ชาวชวาไม่ให้รุกรานเขมร จึงตั้งตัวขึ้นมาใหม่เพื่อพัฒนาเมืองนี้ให้เหมือนเดิม

 

กลุ่มพราหมณ์ที่นับถือไศวนิกายกลุ่มนี้สร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นในต้นรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นลูกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร) เพื่อขอดินแดนและขอให้เมืองนี้มีความสำคัญขึ้นหลังสงครามสงบ พราหมณ์เล่าเรื่องในจารึกหลักที่ 2 เพื่อเรียกสิทธิในการทำพิธีกรรมต่างๆ ในกัมพูชา หนึ่งในพิธีสำคัญที่สุดคือ เทวราชา เพื่อสถาปนาตัวพระมหากษัตริย์และความเชื่อทั้งหมดที่เทพจะต้องรวมตัวกับพระมหากษัตริย์ จึงต้องสร้างปราสาทและศิวลึงค์ถวาย เพื่อให้ตัวเองมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในกลุ่มของพราหมณ์ ฉะนั้นเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ในอดีตที่สร้างปราสาทหลังนี้ขึ้น

 

 

 

การเมืองระหว่างพราหมณ์กับกษัตริย์และพุทธกับฮินดู

 

ทนงศักดิ์กล่าวว่า ความสำคัญของปราสาทสด๊กก๊อกธมแสดงหลักฐานว่าสังคมชาวพุทธกับชาวฮินดูแบ่งแยกและสลับกันขึ้นปกครองอาณาจักรกัมพูชา ปราสาทหลังนี้เล่าเรื่องฮินดูที่พยายามจะมีอำนาจเหนือพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นปกครองกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ที่เขาเล่าทั้งหมดแม้กษัตริย์บางพระองค์จะให้การสนับสนุนพุทธศาสนาด้วย แต่ก็ยังไม่มีบทบาทเท่ากับหลังจากสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ลูกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร)

 

เพราะวงศ์ใหม่ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นคือ วงศ์ของมหิธรปุระ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งชิงราชสมบัติจากวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 และมีน้องอีกคนที่ขึ้นครองราชย์คือ พระเจ้าหรรษวรมัน

 

เมื่อวงศ์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 หมดไป วงศ์ใหม่ขึ้นมาคือ มหิธรปุระ ได้สร้างศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ ปราสาทหินพิมาย ถวายให้พระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราจะเห็นบริบทสังคมที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ถ้าเทียบปราสาทสด๊กก๊อกธมและกลุ่มปราสาทหินพิมาย สด๊กก๊อกธมถวายฮินดู ปราสาทหินพิมายถวายให้พุทธศาสนา

 

การสร้างปราสาทหินพิมายเป็นวงศ์ตั้งต้นที่กลับเข้าสู่นครวัดอีกครั้งหนึ่งคือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งสร้างปราสาทนครวัดถวายให้พระวิษณุ กลุ่มพราหมณ์ขึ้นกลับมาอีกครั้ง แต่หลังพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ไป กลุ่มพุทธก็ขึ้นมาอีกครั้ง จะเห็นชัดเลยว่าสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงของกัมพูชามีบทบาททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือที่ราบสูงของไทย แผ่อำนาจลงไปกัมพูชาด้วย ซึ่งถ้าหากเราศึกษากันดีๆ ในอดีตเราจะพบว่า ความเชื่อทั้งหมดในวัฒนธรรมเขมรเชื่ออย่างเดียวว่า วัฒนธรรมเขมรแผ่จากทางลุ่มน้ำโตนเลสาบ แถบทางเมืองพระนครเสียมเรียบ ขึ้นมาดินแดนไทย ที่จริงแล้วถ้าศึกษาปราสาทแต่ละหลังจะพบความจริงที่ตรงกันข้ามคือ ปราสาทบางหลังในที่ราบสูงโคราชก็ดี หรือบริเวณนี้ก็ดี แผ่อิทธิพลกลับไปให้ทางลุ่มน้ำโตนเลสาบมากกว่า ฉะนั้นสังคมควรรับทราบทำความเข้าใจบริบทการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลง ใช้ประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ ก็จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เกิดปรากฏการณ์มีชาวกัมพูชาทวงดินแดนเขมรกลับคืน ความจริงแล้ว มันคือที่เดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน เขตแดนเป็นตัวแบ่งเท่านั้นเอง

 

 

ทุ่มทรัพยากรสร้างปราสาทจนอาณาจักรล่มสลาย

 

ชาญวิทย์กล่าวถึงคำว่า เทวราชา (Devaraja) ว่า คำนี้คำเดียวเถียงกันมาร้อยปีว่าแปลว่าอะไร แต่คำนี้พูดถึงลัทธิการปกครองซึ่งต้นกำเนิดมาจากอินเดียในภารตภิวัฒน์ เป็นเรื่องการเมืองระดับสูงมากๆ ในสมัยที่ปราสาทนี้ยังใช้อยู่ในราชสำนักคนธรรมดาก็เข้ามาไม่ได้ ที่นี่เป็นที่ต้องห้าม เป็นที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คนธรรมดาคือแรงงาน

 

ในทฤษฎีของปรมาจารย์เกี่ยวกับการศึกษานครวัดนครธมคนหนึ่งคือ ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) ชาวฝรั่งเศส ทำงานในฮานอย เวียดนาม ถูกจ้างเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อ่านศิลาจารึกและเขียนหนังสือ เซเดส์มีทฤษฎีว่า เขมรโบราณก่อสร้างปราสาทเต็มไปหมด สร้างจนในที่สุดสังคมพัง สังคมสลาย ทำให้คนอีกกลุ่มขึ้นมามีอำนาจแทน ไม่ว่าจะเป็นไทย เป็นลาว ก็ขึ้นมาแทน

 

อาณาจักรเก่าก็สลายไป เป็นคำตอบว่าเมืองที่รุ่งเรืองใหญ่โตมโหฬารพังไปได้อย่างไร บางคนบอกว่าพังเพราะเมื่อคนไทยคนลาวเริ่มเข้ามา เขมรไม่สามารถรักษาบารายเอาไว้ได้ การเกษตรจึงล่ม เป็นทฤษฎีที่เถียงกันหลายฝ่าย

 

 

ธวัลรัตน์ ชัยนราพิพัฒน์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม บรรยายถึงปราสาทสด๊กก๊อกธมว่า เป็นปราสาทชายแดนแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งล่าสุดของประเทศ ห่างจากด้านหน้าปราสาทออกไปเพียง 1 กิโลเมตร จะเป็นชายแดน หากข้ามถนนศรีเพ็ญไป บริเวณดังกล่าวจะมีกับระเบิดจำนวนมาก ปราสาทแห่งนี้มีประวัติสำคัญ 2 ช่วง คือ ช่วงสร้างปราสาทในยุคเขมรโบราณและยุคเขมรอพยพช่วงสงครามเขมรแดง

 

สด๊กก๊อกธมเป็นปราสาทที่มีฐานสูง การสร้างให้ฐานยิ่งสูงยิ่งแสดงถึงอำนาจและบารมีของคนสร้างด้วย ในประเทศไทยไม่น่าจะมีปราสาทหินที่ไหนฐานสูงเท่าที่นี่ ความพิเศษของที่นี่อีกอย่างคือ มีเสานางเรียงล้อมรอบศาสนสถานองค์หลักทั้งหมด นอกจากนั้นหลังการบูรณะจะเห็นว่ามีตัวเลขด้านบนตัวปราสาท เนื่องจากใช้วิธี ‘อนัสติโลซิส’ (Anastylosis) เขียนก่อนรื้อออกมาแล้วประกอบกลับไปที่เดิม ถ้าจุดไหนประกอบกลับไปไม่ได้ จะใช้หินใหม่เสริมเพื่อให้แข็งแรง

 

 

สฏฐภูมิ บุญมา ศิษย์เก่า SEAS รุ่น 14 กล่าวว่า กษัตริย์ในยุคโบราณ เมื่อครองราชย์จะสร้างอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือปราสาทบนฐานสูง เพื่อบอกว่าตัวเองเป็นภาคอวตารของพระศิวะ เมื่อตัวเองตายวิญญาณจะกลับมารวมกับศิวลึงค์องค์ที่ตัวเองสร้าง อย่างที่ 2 คือสร้างสระหรือบารายขนาดใหญ่ มีคำอธิบายหลายๆ แนวทาง โดยแนวทางที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการเกษตรกรรม พิธีกรรม อย่างที่ 3 สร้างปราสาทบนฐานเรียบ คือสร้างหลายองค์ชั้นเดียว สร้างเพื่ออุทิศให้บรรพชนตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง เพื่อประชาชน และเพื่อครอบครัว เป็นคอนเซปต์ที่กษัตริย์โบราณให้ความสำคัญ

 

 

ย้อนกลับไปในช่วงเช้าก่อนเดินทางออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ได้พาชมหลักเขตแดนที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหลักเขตแดนที่ 50 กรุงสยาม-กัมพูชา เดิมตั้งอยู่ที่ด่านปอยเปต อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถูกยกเลิกและถอนออกเมื่อ พ.ศ. 2484 ทายาทของ พล.อ. มังกร พรหมโยธี มอบให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559 ซึ่งส่งต่อให้ปราจีนบุรีวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

 

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี บรรยายว่า ในยุครัชกาลที่ 5 มีการสร้างหลักเขตเป็นแนวเขตแดนระหว่างสยามกับกัมพูชา โดยมี 70 กว่าหลักไล่เรื่อยมาตามเขตแดนในภาคอีสาน แนวเทือกเขาพนมดงรัก ไปถึงตราด หลักเขตแดนนี้ถูกรื้อถอนมาเก็บไว้ในเขตทหาร ต่อมาทายาทของ พล.อ. มังกร มอบให้กรมศิลปากรดูแล

 

ชาญวิทย์กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2450 มีการทำสนธิสัญญาและเปลี่ยนแผนที่ที่ทำกันเอาไว้ สมัยที่รัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปครั้งที่ 2 ที่ท่านเขียน ‘ไกลบ้าน’ มีการขีดเส้นใหม่ เอาเขาพระวิหารไปอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส ขีดเอาปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่ในสยาม ซึ่งแปลกมากๆ

 

ต่อมาตอนมีเรื่องเขาพระวิหาร คนก็กลัวว่าเขมรจะมาทวงสด๊กก๊อกธม แต่มีหนังสือของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole française d’Extrême-Orient: EFEO) ซึ่งมีสำนักงานที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรในไทย เขียนว่า ขีดให้ปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่สยาม เรื่องก็เลยจบ ไม่มีใครต่อเรื่องปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส และ ไทย-กัมพูชา

 

เมื่อเดินทางถึงสด๊กก๊อกธมในช่วงบ่าย ชาญวิทย์บรรยายต่อไปว่าเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ในการทำสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ทำไมตอนขีดเส้นเขตแดนจึงขีดให้ปราสาทสด๊กก๊อกธมอยู่ในประเทศไทยไม่ขีดเส้นให้กัมพูชา ตอนนั้นเขาน่าจะยังไม่รู้ว่าปราสาทมีความสำคัญมากๆ จึงขีดเส้นห่างจากด้านหน้าปราสาทไป 1 กิโลเมตร ถ้าขีดเส้นด้านหลังปราสาท ปราสาทก็จะเป็นของกัมพูชา

 

ส่วนเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2518 เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ที่นี่เป็นที่หลบภัยของเขมรแดง ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพียงปีเดียว หลังจากนั้นมีการบูรณะอีกทีปี พ.ศ. 2538 แปลว่า ใช้เวลา 20 ปีเป็นเขตสงคราม มีการปล้นเอาโบราณวัตถุไปขาย

 

ทนงศักดิ์กล่าวถึงช่วงแบ่งเส้นเขตแดนว่า ปราสาทหลังนี้จริงๆ เป็นปราสาทสำคัญ จึงเป็นปรากฏการณ์ประหลาดที่ฝรั่งเศสไม่ได้ขีดเส้นเขตแดนโดยรวมปราสาทหลังนี้เข้าไปเหมือนปราสาทอื่นๆ ที่ปรากฏตามแนวชายแดนประเทศไทย เช่น ปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งทั้ง 2 หลัง เป็นปราสาทหลักของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ผู้สร้างปราสาทพระวิหาร อาจเป็นเพราะปราสาท 2 หลังนั้น (ปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม) พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ทรงสร้างให้เป็นปราสาทเขตแดนทางฝ่ายตะวันตก ฝรั่งเศสอาจจะนับความสำคัญตรงนั้นมากกว่า จึงไม่ได้มองว่าปราสาทสด๊กก๊อกธมมีความสำคัญเท่า แม้จะอยู่ใกล้เขตแดนที่ฝรั่งเศสกำหนดไว้เพียง 1 กิโลเมตรก็ตาม เข้าใจว่าขณะนั้นคงจะหักพังและด้วยความเป็นป่ารกจึงมองไม่เห็นความสำคัญก็เป็นได้

 

 

พระวิษณุหรือพระนารายณ์ ในการปกครองไทย

 

ในการเดินทางครั้งนี้นอกจากจะได้ชมและฟังบรรยายเรื่องจารึกบนแผ่นหิน ปราสาทหิน และหลักเขตแดนแล้ว ยังได้ชมพระวิษณุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรีด้วย

 

ทนงศักดิ์นำชมพระวิษณุซึ่งถือ จักร สังข์ คทา ธรณี แต่ละองค์จะมีลวดลายต่างกันตามแต่ละยุค และบรรยายถึงพระวิษณุกับการเมืองไทยว่า ชื่อของกษัตริย์ไทยในช่วงหลังส่วนใหญ่จะลงท้ายด้วยราม ซึ่งชื่อของพระวิษณุคือพระราม รามาธิบดีมาจากความเชื่อความนับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ มีครุฑเป็นพาหนะ ฉะนั้นจึงใช้ครุฑเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ในการเมืองการปกครองไทย

 

เนื่องจากในยุคหลัง พราหมณ์ซึ่งเป็นนักบวชของศาสนาฮินดูแบ่งเป็น 2 นิกาย คือ ไศวนิกาย นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ และ ไวษณวนิกาย (ไวษณพนิกาย) นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่

 

 

ในชั้นหลังการเผยแพร่ศาสนาฮินดูเข้ามา คนมีความเชื่อในพระศิวะลดลง เรื่องเล่าของพระศิวะก็จะลดลงไปด้วย ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมในภูมิภาคนี้ในช่วงหลังๆ จะนิยมเรื่องเล่าของพระรามมากกว่า วรรณกรรมที่ถูกใช้ต่อเนื่องมาตลอดจนกระทั่งตั้งกรุงศรีอยุธยา รัตนโกสินทร์ มีความนิยมความแพร่หลาย โดยเฉพาะเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นที่นิยมมากกว่าเรื่องเล่าของพระศิวะ ซึ่งมีน้อยมาก คนเข้าถึงได้ยากกว่า ฉะนั้นความนิยมในการตั้งชื่อจึงได้อิงวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระราม

 

ส่วนการใช้ไศวนิกาย (พระศิวะ ศิวลึงค์) ไม่ค่อยนิยมอีกต่อไป การคงอยู่ของพราหมณ์ในราชสำนักก็มักจะเล่าเรื่องพระราม การตั้งชื่อประกอบพิธีทางศาสนาก็เป็นกลุ่มของพราหมณ์ พิธีปัจจุบันที่เราเห็น เช่น พราหมณ์จะประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์อย่างวันพืชมงคล แต่โดยทั่วๆ ไป พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง

 

ชาญวิทย์บรรยายว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ดังนั้นธนบัตรที่เราใช้จึงมีครุฑ หนังสือราชการมีตราครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ไม่ได้ถือสายพระศิวะหรือพระอิศวร

 

ดังนั้นถ้าอยากเข้าใจสถาบันกษัตริย์ไทยซึ่งกำลังมีประเด็นว่ามีการเคลื่อนไหว ปฏิรูปหรือล้มล้าง ควรจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับพระวิษณุหรือพระนารายณ์ให้ดี

 

FYI

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SEAS ก่อตั้งโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น ‘โครงการเลี้ยงตัวเอง’ เริ่มต้นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2543 รุ่นล่าสุดจึงเป็นรุ่นที่ 22 (SEAS-TU22)

 

ก่อนหน้านี้นักศึกษาแต่ละรุ่นจะมีชื่อเรียกที่ชาญวิทย์ตั้งขึ้น เพื่อสร้างความรู้สึกเกี่ยวกับภูมิภาค เช่น รุ่นแรกชื่อระมาด (สิบเอ็ด รอ ดอ) เพราะแรดหรือระมาดเป็นพาหนะของเทพประจำทิศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ พระอัคนี

 

รุ่นที่ 10 ชื่อ ‘รุ่นอาเซียน’ เพราะเป็นรุ่นที่มีการโปรโมต ‘อาเซียน’ เป็นกระแส นอกจากนั้นมี ‘รุ่นไม่ได้ขึ้นเขาพระวิหาร’ เพราะปี พ.ศ. 2551 เป็นปีที่ไทย-กัมพูชา มีปัญหากรณีขึ้นทะเบียน ‘มรดกโลก’ ทำให้นักศึกษาไม่ได้ขึ้นปราสาทเขาพระวิหารจากปกติไปทุกปี

 

รุ่นที่ 17 ชื่อ ‘รุ่นผลัดแผ่นดิน’ รุ่นที่ 18 ชื่อรุ่น What a Beautiful World! โดยรุ่นที่ 18 เป็นรุ่นแรกที่ชื่อรุ่นมาจากการโหวตของนักศึกษา

 

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา นอกจากจะบังคับให้เรียนภาษาที่ 3 แล้ว ยังมีการให้ออกภาคสนามไปทัศนศึกษา ซึ่งมีส่วนช่วยลบอคติหรือมายาคติกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising