×

นักวิทย์ในออสเตรเลียพัฒนาวิธีตรวจมะเร็งแบบใหม่ ใช้เช็กส่วนใดก็ได้ เห็นผลใน 10 นาที

19.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กำลังพัฒนาวิธีตรวจจับมะเร็งภายใน 10 นาที ระบุสามารถตรวจเซลล์มะเร็งได้ทั่วร่างกาย
  • แนวคิดนี้มีขึ้นหลังพบว่า วิธีการตรวจจับมะเร็งนี้มีขึ้นหลังพบว่ามะเร็งเปลี่ยนให้รหัสพันธุกรรม หรือรหัสดีเอ็นเอแปลกประหลาดออกไปหากมันถูกเอาไปแช่ในน้ำ
  • วิธีการตรวจมะเร็งภายใน 10 นาทีนี้ยังไม่เคยนำมาใช้กับมนุษย์จริงๆ โดยจำเป็นต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำไปใช้กับผู้ที่มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งได้จริงๆ ซึ่งกระแสในตอนนี้เป็นไปในเชิงบวก

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย กำลังพัฒนาวิธีตรวจจับมะเร็งภายใน 10 นาที ระบุสามารถตรวจหามะเร็งในส่วนใดของร่างกายมนุษย์ก็ได้

รายงานระบุว่า การตรวจสอบที่เรียบง่ายและราคาถูกนี้ใช้การตรวจจับการเปลี่ยนสีของของเหลวเพื่อเผยให้เห็นถึงเซลล์มะเร็ง โดยแนวคิดนี้มีขึ้นหลังพบว่ามะเร็งสามารถเปลี่ยนให้รหัสพันธุกรรม หรือรหัสดีเอ็นเอแปลกประหลาดออกไปหากมันถูกเอาไปแช่ในน้ำ การตรวจแบบนี้จะเน้นหาโครงสร้างพันธุกรรมดังกล่าวจากตัวอย่างเลือดหรือเนื้อเยื่อ และช่วยให้หามะเร็งได้เร็วกว่าวิธีอื่นๆ ซึ่งสามารถเห็นผลได้ภายใน 10 นาที

ศาสตราจารย์แมทท์ เทรา เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า “การค้นพบว่ารหัสดีเอ็นเอที่เป็นมะเร็งแตกต่างออกไปจากรหัสปกติโดยสิ้นเชิงนี้ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ช่วยเปิดทางให้มีการตรวจหามะเร็งแบบใหม่ๆ”

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างพยายามหาวิธีการตรวจจับมะเร็งในระยะเริ่มแรกให้ไวที่สุด เนื่องจากยิ่งตรวจพบไวก็ยิ่งทำให้ความสำเร็จในการผ่าตัดหรือการรักษาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจมะเร็งภายใน 10 นาทีนี้ยังไม่เคยนำมาใช้กับมนุษย์จริงๆ จำเป็นต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกอีกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถนำไปใช้กับผู้ที่มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งได้จริงๆ ซึ่งกระแสในตอนนี้เป็นไปในเชิงบวก

การทดสอบที่ผ่านมากับตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อกว่า 200 ครั้งพบว่า การตรวจสอบแบบนี้มีความแม่นยำ 90% แม้ที่ผ่านมาจะมีการทดสอบเพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพียงเท่านั้น แต่บรรดานักวิจัยกลุ่มนี้มั่นใจว่าผลการตรวจกับมะเร็งแบบอื่นๆ ย่อมออกมาเหมือนกัน

รายงานบทวารสาร Nature Communications ระบุว่า การทำงานของการตรวจแบบนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากที่มะเร็งเปลี่ยนโครงสร้างพันธุกรรมของเซลล์สุขภาพดี โดยเฉพาะการเรียงตัวของกลุ่มเมทิล และรูปแบบของโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงสามารถตรวจพบได้หากถูกนำไปแช่ในสารละลายอย่างน้ำ

ลอรา คาร์ราสโคซา นักวิจัยอีกรายหนึ่งกล่าวว่า หากพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง วิธีตรวจมะเร็งแบบนี้จะเป็นประโยชน์ในการใช้ตรวจหาและวินิจฉัยโรคในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ด้อยพัฒนา เนื่องจากในปัจจุบันความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีที่สามารถอ่านค่าสัญญาณไฟฟ้าเคมีนั้นมีอยู่แล้ว หากนำไปเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนก็สามารถปรับใช้ตรวจสอบดีเอ็นเอที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งได้

เธอกล่าวอีกว่า ข้อดีของการตรวจแบบนี้อยู่ที่ความง่าย แทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร และไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ขณะเดียวกันผู้ร่วมวิจัยอย่าง อาบู ซีนา แสดงความคิดเห็นว่า “ในตอนนี้คนไปตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาโรค เราอยากให้การตรวจหามะเร็งแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพทั่วไปด้วย”

ทั้งนี้สำหรับขั้นต่อไป คณะผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาผลทางคลินิกว่า การตรวจสอบดังกล่าวสามารถตรวจจับมะเร็งในระยะแรกเริ่มขนาดไหน และสามารถใช้ในการวัดประสิทธิผลของการรักษาได้หรือไม่ เนื่องจากในตอนนี้การตรวจสอบนี้ระบุได้เพียงว่ามีมะเร็งหรือไม่เท่านั้น

ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการตรวจหามะเร็งที่เรียกว่า ‘แคนเซอร์ซีค’ (CancerSEEK) ศึกษากับผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการของโรคมะเร็งมากกว่า 1,000 คน พบว่ามีความแม่นยำในการตรวจจับถึง 98%

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X