นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกว่า 11,000 คน ประสานเสียงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเตือนว่าหากไม่ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์ในแบบที่ประมาณไม่ได้
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience นักวิจัยได้ใช้ตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากร ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อคน การตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนและใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยใช้เวลาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับนานกว่า 40 ปี
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ถึงแม้ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาจะมีการเจรจาในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ผู้คนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และปัจจุบันวิกฤตด้านภูมิอากาศได้มาถึงแล้ว และมาเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เคยคาดการณ์เอาไว้
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จาก 153 ประเทศทั่วโลกจึงร่วมลงนามในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อส่งสารเตือนไปทั่วโลกถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ดร.โทมัส นิวซัม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ให้สัมภาษณ์กับ Telegraph ว่า “นักวิทยาศาสตร์มีหน้าที่เตือนมนุษยชาติถึงภัยคุกคามที่ร้ายแรง จากข้อมูลที่มีแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าทุกคนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: